พบ “ทะเลสาบใต้ดิน” บนขั้วใต้ดาวอังคาร!

ยานมาร์ส เอ็กซ์เพรส สำรวจดาวอังคารจากวงโคจร (ภาพ-ESA)

ทีมนักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการ “มาร์ซิส” (MARSIS) อุปกรณ์สำรวจใต้พื้นผิวดาวอังคารด้วยสัญญาณเรดาร์ ซึ่งติดตั้งอยู่บนยาน “มาร์ส เอ็กซ์เพรส” ยานสำรวจจากวงโคจรรอบดาวอังคาร ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลสำเร็จของโครงการผ่านรายงานในวารสารวิชาการ เจอร์นัล ไซนซ์ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า “มาร์ซิส” ค้นพบทะเลสาบที่มีน้ำในสถานะของเหลวปรากฏอยู่ใต้พื้นผิวของดาวอังคาร บริเวณใต้แผ่นน้ำแข็งที่ปกคลุมบริเวณขั้วใต้ของดาวอยู่ตลอดเวลา

“มาร์ซิส” เป็นอุปกรณ์ยิงและรับสัญญาณเรดาร์ที่สามารถทะลุทะลวงลึกลงไปในพื้นผิวของดาวอังคาร สัญญาณสะท้อนที่ส่งกลับมายังมาร์ส เอ็กซ์เพรสจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นผิว เมื่อสัญญาณดังกล่าวถูกส่งกลับมายังโลก คณะนักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์การอวกาศแห่งยุโรป (อีเอสเอ) ที่ประจำอยู่ในประเทศอิตาลี จะเป็นผู้ประมวลผลและศึกษาความแตกต่างของสัญญาณดังกล่าว

ภาพจากการวิเคราะห์สัญญาณเรดาร์ สีฟ้าคือส่วนที่เป็นทะเลสาบใต้พื้นผิว (ภาพ-ESA/NASA/ JPL/ASI Univ)

 

ทีมนักวิทยาศาสตร์นำโดย โรแบร์โต โอโรเซอี นักวิทยาศาสตร์ประจำสถาบันฟิสิกส์ดาราศาสตร์แห่งชาติ ในประเทศอิตาลี ใช้เวลาศึกษาข้อมูลที่ได้รับจากมาร์ส เอ็กซ์เพรส ภายใต้ความร่วมมือระหว่างนาซากับอีเอสเอในช่วงเวลา 3 ปี 6 เดือน ระหว่างปี 2012 เรื่อยมาจนถึงปี 2015 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ยานโคจรผ่านขั้วใต้หลายรอบ ทั้งนี้เพื่อให้การวิเคราะห์ของทีมให้ความแน่นอนสูงสุด พบว่าเมื่อยานโคจรผ่านบริเวณหนึ่งซึ่งเรียกว่า “เขตพลานัม ออสตราเล” อยู่ถัดออกไปจากแถบน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่ปกคลุมขั้วใต้ของดาวอังคารอยู่ตลอดเวลา สัญญาณสะท้อนของเรดาร์ผิดปกติไปจากเดิม

Advertisement

ภายในเขตพลานัม ออสตราเล ที่มีขนาดกว้างราว 200 กิโลเมตร มีพื้นที่ขนาดเล็กแห่งหนึ่งซึ่งสะท้อนสัญญาณเรดาร์แรงกว่าปกติ กินอาณาบริเวณกว้าง 20 กิโลเมตร เมื่อตรวจสอบวิเคราะห์อย่างละเอียด ทีมนักวิทยาศาสตร์ชุดนี้ตีความสัญญาณดังกล่าวว่าเป็นสัญญาณที่เกิดจากแหล่งน้ำใต้แผ่นน้ำแข็งที่สามารถคงสภาพเป็นของเหลว และคาดว่าน่าจะมีความลึกราว 1 เมตรเป็นอย่างน้อย

ภาพเขียนแสดงบริเวณที่สำรวจพบทะเลสาบใต้พื้นผิว กับบริเวณแผ่นน้ำแข็งขั้วใต้ดาวอังคาร (ภาพ-USGS Astrogeology Science Center, Arizona State University, ESA, INAF.) 

ภาพจากการวิเคราะห์สัญญาณเรดาร์ สีฟ้าคือส่วนที่เป็นทะเลสาบใต้พื้นผิว (ภาพ-ESA/NASA/ JPL/ASI Univ)

โอโรเซอีระบุว่า สัญญาณที่สะท้อนกลับออกมาจากแหล่งน้ำนั้นจะแรงกว่าสัญญาณที่สะท้อนกลับมาจากพื้นผิวในบริเวณดังกล่าว ซึ่งลักษณะเช่นนี้บนโลกจะเกิดขึ้นได้เพียงอย่างเดียวนั่นคือเมื่อตอนที่ใช้เรดาร์สำรวจแหล่งน้ำใต้ธารน้ำแข็งเหมือนเช่นที่ปรากฏในบริเวณที่เรียกว่า ทะเลสาบวอสต็อกในทวีปแอนตาร์กติกเท่านั้น

Advertisement

ใต้แผ่นน้ำแข็งบริเวณทวีปแอนตาร์กติกหรือขั้วใต้ของโลกนั้นมีทะเลสาบใต้แผ่นน้ำแข็งทำนองนี้อยู่มากถึง 400 แห่ง

จากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ทะเลสาบใต้แผ่นน้ำแข็งบนดาวอังคารดังกล่าวมีความกว้างไม่เกิน 20 กิโลเมตร อยู่ลึกลงไปใต้ผิวด้านบนที่เป็นน้ำแข็งใส ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเย็นจัดมากราว 1.6 กิโลเมตร และมีความเป็นไปได้ว่าน้ำในทะเลสาบใต้น้ำแข็งดังกล่าวนี้ต้องมีความเค็มจัด ไม่เช่นนั้นก็ต้องจับตัวเป็นน้ำแข็งเหมือนเช่นผิวพื้นด้านบน

แนวความคิดเรื่องแหล่งน้ำใต้ดินบนดาวอังคารนี้มีมานานแล้ว สตีฟ คลิฟฟอร์ด ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ ประจำสถาบันวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ ในรัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา เคยเสนอไว้เป็นคนแรกเมื่อ 30 ปีก่อน โดยเชื่อว่าเป็นไปได้ที่สภาพที่มีแหล่งน้ำใต้แผ่นน้ำแข็งเหมือนเช่นที่มีอยู่บนโลกบริเวณแอนตาร์กติกและกรีนแลนด์ ก็สามารถเกิดขึ้นได้บนดาวอังคารเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ แหล่งน้ำใต้แผ่นน้ำแข็งบนโลกนั้นเกิดขึ้นเมื่อความร้อนใต้ผิวโลกละลายแผ่นน้ำแข็งขนาดใหญ่ออกมาพร้อมๆ กัน

คลิฟฟอร์ดระบุว่า ในขณะที่แหล่งน้ำใต้ผิวน้ำแข็งในกรีนแลนด์หรือแอนตาร์กติก มีจุลชีพซึ่งเคยเกิดขึ้นเมื่อหลายล้านปีก่อนอาศัยอยู่ แต่ไม่ได้หมายความการพบทะเลสาบใต้ผิวน้ำแข็งบนดาวอังคารจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่แน่นอนเสมอไป

แต่จะต้องดูด้วยว่าอุณหภูมิของน้ำบนดาวอังคารเหมาะสมกับการคงอยู่ของสิ่งมีชีวิตหรือไม่ และองค์ประกอบของน้ำเป็นอย่างไร หากเค็มจัดมากเกินไปก็ไม่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image