สาหร่ายทะเลบูม เกือบ 9 พันกิโลเมตร

(ภาพ-Brian Lapointe, Ph.D., Florida Atlantic University's Harbor Branch Oceanographic Institute)

สาหร่ายทะเลซากัสซัมสร้างปรากฏการณ์บูมต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน 8 ปี ในทะเลแคริบเบียน เติบโตเป็นแพหนายาวเหยียดเป็นระยะทางถึง 8,850 กิโลเมตร ต่อเนื่องกันไปจนถึงชายฝั่งทางตะวันตกของแอฟริกา ส่งผลร้ายแรงต่อทั้งชีวิตสัตว์น้ำ เรื่อยไปจนถึงระบบนิเวศในท้องทะเลแถบนั้น รวมทั้งกำลังส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจของชุมชนตามแนวชายฝั่งในบางประเทศอีกด้วย

ทีมวิจัยซึ่งเข้าไปศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแพสาหร่ายทะเลซากัสซัม ขนานนามให้ว่าเป็น “เกรท แอตแลนติก ซากัสซัม เบลต์” หรือ “แถบซากัสซัมมหึมาแห่งแอตแลนติก” หวัง เมิ่งฉิว นักวิจัยหลังปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยเซาธ์ฟลอริดา ซึ่งเป็นผู้ร่วมเขียนรายงานวิจัยเกี่ยวกับ เกรท แอตแลนติก ซากัสซัม เบลต์ นี้เผยแพร่ในวารสารวิชาการ เจอร์นัล ไซนซ์ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา ระบุว่า จากการศึกษาข้อมูลภาพถ่ายผ่านดาวเทียมย้อนหลังไปเกือบ 20 ปี ทำให้สามารถวิเคราะห์หาสาเหตุและพัฒนาการของมันได้ก่อนหน้าที่แถบซากัสซัมมหึมานี้จะก่อตัวขึ้นเป็นรูปเป็นร่างครั้งแรกเมื่อปี 2011 ที่ผ่านมา โดยการตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมในบริเวณดังกล่าวที่เป็นพื้นฐานทำให้เกิดการเจริญเติบโตผิดธรรมชาติของสาหร่ายซากัสซัมในท้องทะเลแถบนี้

(ภาพ-Brian Lapointe, Ph.D., Florida Atlantic University’s Harbor Branch Oceanographic Institute)

ทีมวิจัยพบว่า จุดเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้นในช่วงราวปี 2009 เมื่อน้ำจากแม่น้ำอเมซอนที่ไหลลงสู่ทะเลในแถบนี้เริ่มมีสารอาหารเพิ่มมากขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้หน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ถูกชะลงสู่แม่น้ำมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้ปุ๋ยเคมีในการเพาะปลูกในพื้นที่ใกล้เคียงแหล่งน้ำแล้วถูกน้ำชะลงสู่แม่น้ำอเมซอน ก่อนไหลลงสู่ทะเล กลายเป็นปุ๋ยสำคัญให้สาหร่ายทะเลซากัสซัม จากนั้นในปี 2010 เกิดปรากฏการณ์ทำนองเดียวกันในพื้นที่ตามแนวชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของแอฟริกา เมื่อผสมผสานกับการที่อุณหภูมิเหนือผิวน้ำในหน้าหนาวลดลงต่ำกว่าปกติ ส่งผลให้สาหร่ายซากัสซัมเบ่งบาน เจริญเติบโตมากเป็นพิเศษในหน้าร้อนของปี 2011

อีก 3 ปีต่อมา ปัจจัยผสมผสานกันในแบบเดิมส่งผลให้เกิดการเติบโตของสาหร่ายจนรวมตัวกันเป็นแพขนาดใหญ่มากเป็นพิเศษต่อเนื่องกันในปี 2014, 2015 และในปี 2017 โดยขนาดของแพสาหร่ายเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2018 ประเมินน้ำหนักว่ามากกว่า 20 ล้านเมตริกตัน สืบเนื่องจากการทำลายป่าและการใช้ปุ๋ยเคมีกันสูงมากเป็นพิเศษในปีก่อนหน้านั้น

Advertisement

โดยปกติแล้ว แพสาหร่ายซากัสซัมขนาดย่อมไม่ได้เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศทางทะเล ตรงกันข้ามกลับดึงดูดสัตว์ทะเล อย่างปลา, เต่า และนกทะเลบางชนิดให้เข้ามาใช้ประโยชน์ แต่เมื่อมีมากผิดปกติเช่นนี้กลับกลายเป็นปัญหาใหญ่ เพราะเมื่อสะสมกันมากเข้า สาหร่ายทะเลบางส่วนเกิดตายและเน่าเสีย ดึงเอาออกซิเจนไปใช้ ก่อให้เกิดสภาวะออกซิเจนต่ำขึ้นในน้ำบริเวณนั้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสัตว์ทะเลและระบบนิเวศชายฝั่งทั้งหมด โดยเฉพาะแนวปะการังและระบบนิเวศของหญ้าทะเล เพราะปริมาณซากัสซัมมากเกินไปสามารถเปลี่ยนองค์ประกอบทางเคมีของน้ำทะเลและกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้สิ่งมีชีวิตเคลื่อนไหวไปมาได้อย่างอิสระเหมือนที่ผ่านมา

หวังยกตัวอย่างว่า เต่าทะเลที่ขึ้นบกมาออกไข่ เมื่อกลับลงน้ำไปจะเผชิญกับแพซากัสซัมไม่มีวันสิ้นสุด จนไม่สามารถโผล่ขึ้นมาหายใจเหนือผิวน้ำได้อีกเป็นต้น

คลื่นซัดพาเอาสาหร่ายเหล่านี้ขึ้นไปกองตามแนวชายหาดเป็นจำนวนมากทุกวัน ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของแหล่งชุมชนชายฝั่ง ถึงขนาดเมื่อปี 2018 หมู่เกาะบาร์เบโดสถึงกับต้องประกาศภาวะฉุกเฉินเพราะสาหร่ายซากัสซัมมาแล้ว

Advertisement

สาเหตุสำคัญนอกจากจำนวนมหาศาลของมันแล้ว หากถูกทิ้งไว้โดยไม่กำจัดจะเน่าเปื่อยและปล่อยก๊าซไฮโดรเจน ซัลไฟด์ ออกมา ซึ่งก็คือกลิ่นไข่เน่าดีๆ นี่เอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image