‘สแปนิช สโตนเฮนจ์’ โผล่พ้นน้ำครั้งแรกในรอบ50ปี

"โดลเมน แห่ง กัวดัลเปรัล" (ภาพ-Pleonr/CC by SA 4.0)

หลังจากถูกกลืนหายไปในสายน้ำเป็นเวลานานถึง 50 ปี สิ่งปลูกสร้างจากหินขนาดใหญ่ที่ชาวสเปนรู้จักกันในชื่อ “โดลเมน แห่ง กัวดัลเปรัล” ก็ปรากฏให้เห็นอีกครั้งเป็นครั้งแรกเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากเกิดปรากฏการณ์ร้อน-แล้งขนาดหนักทั่วภาคพื้นยุโรปในช่วงหน้าร้อนที่ผ่านมา

ภาพถ่ายผ่านดาวเทียมของดาวเทียม แลนด์แซท8 ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) แสดงให้เห็นว่าสิ่งปลูกสร้างเก่าแก่แห่งนี้เผยโฉมได้อีกครั้งหนึ่งหลังจากระดับน้ำใน อ่างเก็บน้ำ บัลเดคานยาส ลดลงต่ำมาก

“โดลเมน แห่ง กัวดัลเปรัล” ซึ่งบางครั้งถูกเรียกว่า “สโตนเฮนจ์ของสเปน” เพื่อเชื่อมโยงกับสโตนเฮนจ์ สิ่งปลูกสร้างหินที่มีชื่อเลื่องลือไปทั่วโลกในประเทศอังกฤษ เป็นกลุ่มหินก้อนขนาดใหญ่ที่ถูกจับตั้งขึ้นและเรียงรายอยู่ในรูปวงกลม จำนวนก้อนหินทั้งหมดมีมากถึง 150 ก้อน บางก้อนสูงถึง 1.8 เมตร ล้อมพื้นที่ว่างรูปไข่อยู่ตรงกลาง นักโบราณคดีเชื่อว่า สิ่งปลูกสร้างนี้อาจสร้างขึ้นมาตั้งแต่ช่วง 5,000-4,000 ปีก่อนคริสตศักราช ซึ่งไม่เพียงทำให้สิ่งปลูกสร้างดังกล่าวนี้อาจมีอายุสูงถึง 7,000 ปีแล้วเท่านั้นยังอาจเก่าแก่กว่าสโตนเฮนจ์ของอังกฤษหลายพันปีอีกด้วย

ภาพถ่ายผ่านดาวเทียมแสดงให้เห็นสภาพปัจจุบันของอ่างเก็บน้ำ บัลเดคันยาส (ภาพ-NASA)

นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า โบราณสถานที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์นี้น่าจะใช้เป็นทั้งวิหาร และสุสานสำหรับชุมชนเก่าแก่ในบริเวณดังกล่าว ในอดีตบริเวณโบราณสถานแห่งนี้มีแท่งหินที่เรียกว่าเมนเฮียร์ หรือหินสูงที่ตั้งตรงขึ้น ด้านบนมีแท่นหินแบนวางราบ เพื่อเปลี่ยนให้เป็นช่องเก็บศพแบบปิดสามด้าน ใช้เป็นสุสานเดี่ยว โดยบริเวณด้านหน้าสุสานเดี่ยวดังกล่าวจะมีหินสลักตั้งตรงเป็นรูปคน อีกด้านเป็นรูปสัญลักษณ์คล้ายงู หรือลำน้ำทากัส ที่อยู่ใกล้เคียง ทำหน้าที่อารักขาหลุมศพ ต่อมามีการสร้างกำแพงหินรายล้อมโดยรอบสุสานเดี่ยวเหล่านี้ ซึ่งตอกย้ำให้เห็นว่าเป็นสถานที่สำหรับฝังศพร่วมของชุมชนนั่นเอง

Advertisement

นักวิชาการด้านโบราณคดีบางคนตั้งข้อสังเกตว่า หากรอยสลักคดเคี้ยวดังกล่าวเป็นการจำลองสภาพแม่น้ำทากัสจริง ก็อาจทำให้หินสลักดังกล่าวเป็นหนึ่งในแผนที่ยุคแรกที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรปก็เป็นได้

ตามประวัติ โดลเมน หรือ สุสานแห่งกัวดัลเปรัล นี้ขุดค้นพบครั้งแรกในเขต เอ็กซ์ทรีมาดูรา ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของแนวชายแดนสเปนติดต่อกับประเทศโปรตุเกสในทศวรรษ 1920 แต่ไม่มีการศึกษาวิจัยอย่างถี่ถ้วนใดๆ เกี่ยวกับโบราณสถานแห่งนี้ จนกระทั่งถึงทศวรรษ 1960 ซึ่งมีกำหนดชะตากรรมของแหล่งโบราณสถานแห่งนี้ไปเรียบร้อยแล้ว โดยนายพล ฟรานซิสโก ฟรังโก จอมเผด็จการแห่งสเปน ที่กำหนดให้พื้นที่นี้เป็นที่ตั้งของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ ที่ยังคงผลิตไฟฟ้ามาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ซึ่งส่งผลให้หุบเขาที่ตั้งของโดลเมน แปรสภาพเป็นอ่างเก็บน้ำ ท่วมสุสานเก่าแก่แห่งนี้ให้จมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำบัลเดคันยาสไปโดยปริยาย

เมื่อ “โดลเมน แห่ง กัวดัลเปรัล” ปรากฏขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ก่อให้เกิดการถกเถียงกันขนานใหญ่อีกครั้งว่า ควรมีการยกระดับโบราณสถานแห่งนี้ขึ้นมาเหนือน้ำ เพื่อให้ได้ศึกษาวิจัยกันอย่างเป็นกิจลักษณะ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม

Advertisement

แต่อีกส่วนหนึ่งซึ่งรวมถึงผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีแย้งว่า การยกระดับพื้นที่ตั้งให้สูงขึ้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อแหล่งโบราณคดีนี้มากกว่าการปล่อยให้จมอยู่ใต้น้ำเสียอีก

โดยเฉพาะเมื่อต้องทำกันอย่างเร่งรีบเพียงไม่กี่เดือนก่อนที่ฝนในหน้าใบไม้ร่วงและหิมะในหน้าหนาวจะเติมน้ำจนเต็มอ่างเก็บน้ำแห่งนี้อีกครั้งนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image