“ไซมอน-2” หุ่นเอไอตัวใหม่บนไอเอสเอส

(ภาพ-ESA)

“ไซมอน” (Cimon) เป็นชื่อย่อของโครงการพัฒนา “ครูว์ อินเตอแรคทีฟ โมบายล์ คอมแพเนียน” (Crew Interactive MObile companioN) หรือ “เพื่อนเดินทางแบบมีปฏิสัมพันธ์เคลื่อนที่ได้ของลูกเรือ” ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาร่วมกันระหว่าง “แอร์บัส” บริษัทการบินแห่งยุโรป กับ “ไอบีเอ็ม วัตสัน” ผู้พัฒนาซุปเปอร์คอมพิวเตอร์อัจฉริยะ และระบบปัญญาประดิษฐ์ ที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก ภายใต้การบริหารจัดการขององค์การอวกาศแห่งยุโรป (อีเอสเอ)

นอกจากจะเป็นชื่อโครงการแล้ว “ไซมอน” ยังเป็นชื่อของหุ่นยนต์ทรงกลมขนาดเท่าลูกบาสเกตบอล มูลค่า 6 ล้านดอลลาร์ ที่ลอยไปไหนมาไหนในสภาพไร้น้ำหนักบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) ซึ่งถูกส่งขึ้นประจำการครั้งแรกเมื่อปี 2018

เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา “ไซมอน-2” เวอร์ชั่นที่สองที่ผ่านการปรับปรุงใหม่ก็ถูกส่งขึ้นไปประจำการบนสถานีอวกาศนานาชาติเรียบร้อยแล้วโดยองค์การบริหารการบินอวกาศแห่งเยอรมนี (ดีแอลอาร์ สเปซ แอดมินิสเทรชัน) ผู้เป็นเจ้าของโครงการที่ตั้งเป้าจะทำให้ “ไซมอน” นอกเหนือจากจะเป็นเพื่อนแก้เหงาในระหว่างการเดินทางในห้วงอวกาศแล้ว ยังจะทำหน้าที่เป็น “ผู้ช่วย” ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์บางอย่าง รวมถึงช่วยสร้างความสนุกสนาน เสริมสร้างขวัญกำลังใจในการทำงานของบรรดานักบินอวกาศที่ประจำอยู่บนไอเอสเอสเป็นเวลานานๆ อีกด้วย

ในการทดสอบประสิทธิภาพของ “ไซมอน” ตัวแรกเมื่อปี 2018 ทีมพัฒนาซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และอื่นๆ ราว 50 คนที่ขลุกอยู่กับโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2016 พบว่า ไซมอนยังมีจุดบกพร่องอยู่หลายอย่าง ในการทดลองทำตามคำสั่งและสร้างความสนุกสนานให้กับ อเล็กซานเดอร์ เกิร์สท์ นักบินอวกาศและนักธรณีฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ตัวอย่างเช่น การไม่ดำเนินการตามคำสั่งของ เกิร์สท์ ให้หยุดเล่นเพลงและอื่นๆ เป็นต้น

Advertisement

“ไซมอน-2” ผ่านการปรับปรุงศักยภาพใหม่บรรจุเทคโนโลยีใหม่ทั้งการรับฟังคำสั่งเสียและการจดจำใบหน้า ทีมงานของไอบีเอ็ม วัตสัน ยังทำให้มันมีขีดความสามารถเพิ่มเติม ให้สามารถรับการฝึกและพัฒนาทักษะใหม่ๆ และเพิ่มพูนศักยภาพในการให้เหตุผลในการดำเนินการต่างๆ ด้วยตัวเองได้มากขึ้น แม้ว่าในเวลาเดียวกัน “ไซมอน-2” ยังจะคงเชื่อมโยงอยู่กับ คลาวด์ เซิร์ฟเวอร์ บนโลกของไอบีเอ็ม อยู่ตลอดเวลาก็ตาม

เจ้าหน้าที่ประจำโครงการยืนยันว่า “ไซมอน-2” ถูกพัฒนาจนมีขีดความสามารถในการกำหนดเป้าหมาย ทิศทางและมีความเข้าอกเข้าใจ “ต่อความรู้สึก” ของนักบินอวกาศคนอื่นๆ มากยิ่งขึ้น

ทิลล์ ไอเซนเบิร์ก ผู้จัดการโครงการไซมอน ของแอร์บัส เชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้ หุ่นยนต์อัจฉริยะ พร้อมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่มีความสามารถในการเรียนรู้ มีศักยภาพในการให้เหตุผล จะมีบทบาทจำเป็นในการปฏิบัติภารกิจในห้วงอวกาศในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นโครงการสำรวจดวงจันทร์, ดาวอังคาร หรือแม้แต่ในการเดินทางเพื่อสำรวจห้วงอวกาศไกลไปมากกว่านั้น

Advertisement

“เราเตรียมการให้ ไซมอน-2 ประจำการอยู่บนไอเอสเอส อย่างน้อยนานถึง 3 ปี เพื่อทำหน้าที่ให้การสนับสนุนนักบินอวกาศลูกเรือทั้งหมด ไซมอน-2 มีไมโครโฟนที่ละเอียดและไวมากกว่าเดิม มีเทคโนโลยีในการกำหนดทิศทาง เป้าหมายที่รุดหน้ากว่าเดิม มีศักยภาพด้านเอไอและแอพพลิเคชั่นในตัวเองที่ซับซ้อนมากขึ้น ทำให้สมรรถนะโดยรวมสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทีเดียว” ไอเซนเบิร์กระบุ

ในช่วงหลายปีต่อไปจากนี้ ทีมพัฒนาคาดว่า “ไซมอน-2” จะทำงานบนไอเอสเอสได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ช่วยถ่ายทอดคำสั่งต่างๆ อาทิ คำสั่งให้ซ่อมบำรุง จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งบนสถานี, ทำหน้าที่เป็นผู้บันทึกการทดลองทางวิทยาศาสตร์ และทำหน้าที่รับคำสั่งเสียงให้นักบินอวกาศเข้าถึงเอกสารอ้างอิงต่างๆ ทั้งที่บรรจุอยู่ภายในตัวมันและที่ต้องค้นหาจากคลังข้อมูลบนพื้นโลก

ในเวลาเดียวกัน “ไซมอน-2” ก็ไม่ได้เป็นเพียงหุ่นยนต์ตัวเดียวที่ถูกพัฒนาขึ้นมาสำหรับการปฏิบัติภารกิจในอวกาศ ศูนย์วิจัยแลงก์ลีย์ ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ก็กำลังพัฒนาหุ่นยนต์ “เลเมอร์” ที่มีความยืดหยุ่นสูง เพราะลำตัวส่วนใหญ่ประกอบด้วยซิลิโคนเป็นหลัก สำหรับนำมาใช้งาน “ที่อันตราย, สกปรก หรือน่าเบื่อ” บนยานอวกาศ อาทิ ปรับรูปร่างของตัวเองให้ทำหน้าที่เป็น “แหล่งหลบภัยชั่วคราว” สำหรับนักบินอวกาศเมื่อเผชิญกับพายุฝุ่นบนดาวอังคาร เป็นต้น โครงการนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการทดลองอยู่ในเวลานี้

ภายใต้แนวคิดทำนองเดียวกันนี้ พัฒนาการของหุ่นยนต์เอไอสำหรับใช้งานบนโลกและในห้วงอวกาศก็ไม่ได้ห่างไกลจากความเป็นจริงอีกต่อไปแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image