โลกมีบริวารดวงใหม่แล้ว ตอนแรกคิดว่าเป็นซากจรวด นักดาราศาสตร์ยัน มันไม่ทรยศพุ่งชนเราแน่นอน(มีคลิป)

วันที่ 28 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.วิษณุ เรดดี นักวิทยาศาสตร์จากห้องทดลองดวงจันทร์และดาวเคราะห์ของมหาวิทยาลัยแอริโซนา สหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผย ณ ที่ประชุมนักดาราศาสตร์ดาวเคราะห์ในโพรโว รัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา ว่า ได้ค้นพบวัตถุดวงหนึ่งซึ่งถูกค้นพบในปี 2559 นั้นโคจรรอบดวงอาทิตย์ไปพร้อม ๆ กับที่โคจรรอบโลกไปด้วย ราวกับเป็นบริวารอีกดวงหนึ่งของโลก

ผศ.วิษณุ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการข้อสงสัยต่อวัตถุดวงนี้ว่าอาจเป็นเพียงขยะอวกาศที่ยานอวกาศทิ้งไว้เมื่อนานมาแล้ว แต่การศึกษาสมบัติทางกายภาพด้วยกล้องโทรทรรศน์แอลบีที ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์ใหญ่ถึง 8.4 เมตร ทำให้ทราบว่า วัตถุดวงนี้ไม่ใช่ซากจรวดที่ทิ้งไว้ในวงโคจร และไม่ใช่ขยะอวกาศ การวิเคราะห์สเปกตรัมและความสว่าง พบว่า มีสมบัติทางกายภาพเหมือนดาวเคราะห์น้อยทั่วไป มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ใหญ่ไปกว่า 100 เมตร หมุนรอบตัวเองด้วยคาบ 28 นาที

ผศ.วิษณุ กล่าวว่า ชื่อของวัตถุดวงนี้คือ 2016 เอชโอ 3 (2016 HO3) เป็นดาวเคราะห์น้อยประเภท ดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก ดาวเคราะห์น้อยจำพวกนี้มีวงโคจรใกล้เคียงกับของโลก บางครั้งเมื่อเข้าใกล้โลก ก็จะถูกโลกคว้าจับเอามาโคจรรอบตัวเองเหมือนเป็นบริวารดวงหนึ่ง แต่วงโคจรรอบโลกของดาวเคราะห์น้อยจำพวกนี้จะไม่เสถียร หลังจากที่เข้ามาเป็นบริวารของโลกเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก็จะหลุดจากพันธนาการของโลกไป นักดาราศาสตร์จึงไม่ถือว่าเป็นบริวารแท้ แต่เรียกว่า วัตถุคล้ายบริวาร (quasi-satellite)

Advertisement

“2016 HO3 ไม่ใช่วัตถุคล้ายบริวารของโลกดวงแรกที่ถูกค้นพบ แต่เป็นดวงที่ห้าแล้ว อย่างไรก็ตาม 2016 HO 3 มีความพิเศษกว่าดวงอื่นที่เคยพบตรงที่วงโคจรมีความเสถียรมากที่สุด นักดาราศาสตร์เชื่อว่า วัตถุดวงนี้ได้เข้ามาเป็นบริวารของโลกหลายร้อยปีแล้ว แต่เพิ่งค้นพบเท่านั้นเอง”ผศ.วิษณุ กล่าว

แม้ดาวเคราะห์น้อยจะอยู่ใกล้โลก แต่ก็ไม่เป็นอันตรายต่อโลก ไม่พบว่ามีแนวโน้มว่าจะชนโลกในอนาคตอันใกล้แต่อย่างใด ในทางตรงข้าม นักวิทยาศาสตร์มองว่าเป็นเรื่องดีในแง่การสำรวจ เพราะการที่วัตถุดวงนี้วนอยู่รอบ ๆ โลก ทำให้การเดินทางหรือส่งยานไปสำรวจระยะใกล้ทำได้ง่ายกว่าดาวเคราะห์น้อยดวงอื่น

Advertisement

กราฟแสดงการโคจรของ 2016 เอชโอ 3

ที่มา Astronomers confirm Earth has an asteroid buddy – http://earthsky.org

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image