สู่สังคมดิจิทัล วิชั่น 5 จี ของหัวเว่ย

ข้อเท็จจริงประการหนึ่งซึ่งไม่ค่อยเป็นที่รับรู้กันในวงกว้างก็คือ หัวเว่ย บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โครงข่ายโทรคมนาคมจากประเทศจีนคือผู้วางโครงข่ายและติดตั้งอุปกรณ์ประจำโครงข่ายไร้สายในระบบ 3 จี และ 4 จี รายใหญ่ในหลายประเทศ หัวเว่ยจึงตระหนักดีถึงศักยภาพและข้อจำกัดของโครงข่ายไร้สายในรุ่นที่ผ่านมา

เมื่อคำนึงถึงก้าวต่อไปในการพัฒนาโครงข่ายเพื่อการสื่อสารไร้สาย วิชั่นยุค 5 จีของหัวเว่ยจึงไม่เพียงแจ่มชัดอย่างยิ่งว่าจะต้องทำอย่างไร แต่ยังมีจินตภาพชัดเจนอย่างมากอีกด้วยว่าสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป
ภายใต้ระบบการสื่อสารยุคใหม่ดังกล่าวจะเป็นเช่นไรอีกด้วย

5 จี ในทรรศนะของหัวเว่ย จึงไม่เพียงเป็นแค่ประสบการณ์ในการเชื่อมต่อที่ความเร็ว 10 กิกะบิตต่อวินาทีของปัจเจกบุคคลหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องเป็นการเชื่อมต่อไร้สายที่มีอัตราหน่วงน้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ และมีอัตราการตอบสนองต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เป้าหมายในการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมและการสื่อสารแบบไร้สายของหัวเว่ย จึงไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแต่การนำเอาเทคโนโลยีการเข้าถึงคลื่นวิทยุแบบใหม่ (อาร์เอที) มาใช้ แต่ยังต้องเป็นโครงข่ายที่สามารถหลอมรวมเอาเทคโนโลยีไร้สายอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นแอลทีอี, เอชเอสพีเอ,
จีเอสเอ็ม และไวไฟ มาร่วมใช้งานที่เหมาะสมอยู่ด้วยได้

Advertisement

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้โครงข่ายไร้สายของหัวเว่ยสามารถรองรับการเชื่อมต่อสำหรับอุปกรณ์อย่างน้อย 100,000 ล้านชิ้นพร้อมกัน ในขณะที่ยังคงสมรรถนะสูงกว่าโครงข่ายที่มีอยู่เดิมไม่น้อยกว่า 1,000 เท่าได้ สามารถใช้นวัตกรรมใหม่นี้เพื่อผลักดันเศรษฐกิจและสังคมให้เติบใหญ่ขยายตัวไปในทิศทางที่ผิดแผกแตกต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง

โครงข่าย 5 จี ในทรรศนะของหัวเว่ยต้องสามารถสร้างการเชื่อมต่อที่ขจัดระยะห่างระหว่างบุคคลต่อบุคคล, บุคคลกับจักรกลและจักรกลต่อจักรกลออกไปโดยสิ้นเชิงไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนและเมื่อใด และนั่นเป็นเพียง
ขั้นตอนแรกสุดเท่านั้น

สมรรถนะของโครงข่ายที่เพิ่มขึ้นมหาศาล จะช่วยให้การเชื่อมต่อระหว่างผู้ใช้ปลายทาง (เอนด์ยูสเซอร์) กับเครือข่ายเกิดขึ้นได้ในระดับ เร็วกว่าความคิดŽ เร็วเสียจนระยะห่างระหว่างคนกับเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ไม่หลงเหลือช่องว่างอีกต่อไป และจะกลายเป็นพื้นฐานรองรับแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่จะแพร่หลายออกไป และผลักดันให้ขีดความสามารถในการสื่อสารก้าวถึงระดับที่ในปัจจุบันนี้เป็นไปไม่ได้ขึ้นตามมา

Advertisement

ศักยภาพใหม่ของโครงข่ายจะอำนวยให้เกิดการนำเอาบริการการเชื่อมต่อและปฏิสัมพันธ์ระหว่างจักรกลหนึ่งกับอีกจักรกลหนึ่งไปใช้กันแพร่หลายมากขึ้น เอื้อให้เกิดนวัตกรรมของบริการไร้สายใหม่ๆ ในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น เช่น การใช้งานจักรกลอัตโนมัติในโรงงานสามารถควบคุมแบบไร้สายจากระยะไกลได้โดยสิ้นเชิง สามารถทำงานได้ต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงใน 7 วันต่อสัปดาห์

ความสามารถในการรองรับการเชื่อมต่อจำนวนมหาศาลในคราวเดียวกันด้วยศักยภาพที่เพิ่มสูงขึ้นมหาศาลดังกล่าวนี้ สามารถส่งผลให้เกิดบริการใหม่ๆ การประยุกต์ใช้ใหม่ๆ ส่งผลให้เกิดยูสเซอร์ใหม่ๆ ที่มีความต้องการหลากหลายและแตกต่างกันออกไป ทั้งในชีวิตการทำงานและวิถีชีวิตส่วนบุคคล ทั้งผู้ใช้ที่เป็นตัวบุคคลและผู้ใช้ที่เป็นองค์กรธุรกิจ ดังนั้น โครงข่าย 5 จี จึงจำเป็นต้องยืดหยุ่นมากขึ้นเพื่อให้มีประสิทธิภาพที่เหมาะสมต่อการประยุกต์ในการใช้งานเครือข่ายที่แตกต่างกันหลากหลายได้

เช่น เพื่อให้สามารถให้บริการการสื่อสารเชิงภาพที่ความละเอียดระดับอัลตรา-ไฮเดฟินิชั่น เครือข่ายไร้สายจำเป็นต้องมีขีดความสามารถในการส่งผ่านข้อมูลในระดับเดียวกับโครงข่ายสายไฟเบอร์ออปติก ที่สปีด 10 กิกะบิตต่อวินาที ซึ่งจำเป็นต้องมีแบนด์วิธในระดับอัลตรา-ไวด์ และมีอัตราการหน่วงของเครือข่ายในระดับซับมิลลิเซกันด์

แต่ในเวลาเดียวกัน โครงข่ายเดียวกันนี้ก็จำเป็นต้องมีประสิทธิภาพในการรองรับการส่งผ่านข้อมูลในระดับโลว์ดาต้าเรต เช่น การเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์กับสมาร์ทเซ็นเซอร์ หรือการส่งข้อความที่เป็นข้อมูลปริมาณต่ำแต่มีปริมาณการใช้งานสูง ซึ่งกินแบนด์วิธต่ำและไม่อ่อนไหวกับอัตราการหน่วงของเครือข่ายแต่อย่างใดอีกด้วย

โครงข่าย 5 จี จำเป็นต้องรองรับการใช้งานบริการเชื่อมต่อไร้สายแบบหลากหลายและครอบคลุมกว้างขวางเช่นนี้ได้ โดยที่จำเป็นต้องมีประสิทธิภาพอย่างที่คาดหวังหรือต้องการด้วย เช่น ต้องมีความหน่วงของ
เครือข่ายในระดับ 1 มิลลิวินาที ถึง 2-3 วินาที ในเวลาเดียวกันก็ต้องรองรับยูสเซอร์ที่ใช้งานอยู่ตลอดเวลาต่อ 1 เซลล์ไซต์ได้ตั้งแต่ 200-300 ราย เรื่อยไปจนถึงหลายล้านรายต่อเซลล์ไซต์, สามารถรองรับวงจรการสื่อสารที่กินเวลาตั้งแต่ไม่มีมิลลิวินาที ไปจนถึงวงจรการสื่อสารที่ใช้เวลานานตลอดวันได้, รองรับโหลดของสัญญาณได้ตั้งแต่ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของโครงข่าย ไปจนถึงเกือบเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ได้ เป็นต้น

ความสามารถของโครงข่ายไร้สายดังกล่าว คือพื้นฐานสำคัญสำหรับรองรับการสร้างชุมชนใดชุมชนหนึ่งให้กลายเป็นชุมชนอัจฉริยะ สร้างเมืองทั้งเมืองให้กลายเป็นสมาร์ทซิตี้ เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับระบบการทำงานอัตโนมัติในโรงงานอุตสาหกรรม, เป็นพื้นฐานสำคัญที่เอื้อให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างรถยนต์กับเครือข่ายและรถยนต์กับรถยนต์อยู่ตลอดเวลาที่ต้องการในระบบการขับเคลื่อนอัตโนมัติของยวดยานทั้งหมด เช่นเดียวกับมีความสำคัญสูงมากต่อการเกิดการเชื่อมต่อทุกสิ่งทุกอย่างเข้ากับอินเตอร์เน็ต อย่างที่เรียกกันว่า อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์-ไอโอทีŽ ทั้งหลาย

โครงข่ายที่เป็น 5 จีที่แท้จริงยังเป็นพื้นฐานให้กับอีกหลากหลายอย่างที่สามารถเป็นแหล่งรายได้ใหม่ๆ ตั้งแต่ระบบบริหารจัดการด้านสุขภาพที่เป็นดิจิทัล, รัฐบาลที่เป็นดิจิทัล, เศรษฐกิจที่เป็นดิจิทัล มีแต่โครงข่ายที่มีศักยภาพในระดับ 5 จีเท่านั้น สังคมดิจิทัลที่แท้จริงจึงสามารถกำเนิดขึ้นมาได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image