ชี้ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชีย มีกม.กลุ่มหลากหลายทางเพศ ลุ้นอีก3ด่านก่อนบังคับใช้

รองอธิบดีคุ้มครองสิทธิฯ ชี้ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชีย มีกม.กลุ่มหลากหลายทางเพศ ลุ้นอีก 3 ด่าน หลังครม. เห็นชอบร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต-ร่างพ.ร.บ.แก้ไขฯ กม.แพ่งฯรับรองสิทธิให้กับคู่ชีวิต ห้ามจดทะเบียนซ้อน

วันที่ 8 ก.ค. ที่กระทรวงยุติธรรม นายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติฯ คู่ชีวิต พ.ศ. … และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. … หลังจากร่างพ.ร.บทั้ง 2 ฉบับได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วซึ่งร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิตพ.ศ. … ประกอบด้วย 4 หมวด 46 มาตรา คือ อารัมภบท (ม. 1-5) หมวด 1 การจดทะเบียนคู่ชีวิต (ม. 6 – 14) หมวด 2 การเป็นคู่ชีวิต(ม. 15 – 38) หมวด 3 บุตรบุญธรรม (ม. 39– 44) หมวด 4 มรดก (ม. 45 – 46) สาระสำคัญของร่างกฎหมายพ.ร.บคู่ชีวิต คือ ผู้ที่จะจดทะเบียนได้ ต้องไม่ใช่คู่ชาย หญิง มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องมีสัญชาติไทย ทั้งสองฝ่ายยื่นคำร้องและแสดงความยินยอมต่อนายทะเบียน ส่วนหลักเกณฑ์การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต จะสิ้นสุดลงโดยความตาย สมัครใจเลิกกัน หรือศาลพิพากษาเพิกถอนการเป็นคู่ชีวิต

นายเกิดโชค กล่าวอีกว่า ส่วนร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..)พ.ศ. ….ประกอบด้วย 5 มาตรา เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 เช่นการจดทะเบียนสมรสซ้อน มาตรา 1516 ว่าด้วยเหตุฟ้องหย่า และ มาตรา 1528 ว่าด้วยการสิ้นสุดสิทธิในการรับค่าเลี้ยงชีพ เพื่อให้รองรับความสัมพันธ์ของคู่ชีวิตด้วย ขึ้นตอนหลังจากนี้ส่งร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอให้สภาผู้แทนราษฏรต่อไป

“การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะสามารถตรวจสอบกับระบบทะเบียนราษฎร์ของกระทรวงมหาดไทยได้เช่นเดียวกับการจดทะเบียนสมรส การเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อป้องกันปัญหาการจดทะเบียนสมรสซ้อน และปัญหาอื่นๆที่จะตามมา”รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ กล่าว

Advertisement

นายเกิดโชค กล่าวว่า สำหรับร่างพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากขณะนี้ผ่านไปแล้ว 2 ขั้นตอน ยังเหลืออีก 3 ขั้นตอน คือ ต้องผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และสนช. พิจารณารายละเอียด เมื่อเห็นชอบจึงจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา และใช้ระยะ 120 วัน ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ ซึ่งร่างพระราชบัญญัติฯ ทั้ง 2 ฉบับ เป็นการยืนยันนโยบายของรัฐบาลในการปรับปรุงกฎหมายเพื่อประกันสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวให้กับคู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการยอมในสังคม และร่างกฎหมายดังกล่าวไทยถือเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีกฎหมายลักษณะนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image