‘อดีตอัยการสูงสุด’ ยัน กฎหมายไทยดีที่สุดในโลก แนะรออีกนิด ปม ‘บอส อยู่วิทยา’ อัยการทั้งประเทศไม่ได้นิ่งนอนใจ

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 1 สิงหาคม ที่ห้องประชุมจิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศูนย์กฎหมายอาญา และอาชญาวิทยา จัดเสวนาโต๊ะกลม ในหัวข้อ “คดี (กระทิงแดง) ชนตำรวจ : นักกฎหมายเห็น สังคมรู้สึก คำถามที่กระบวนการยุติธรรมต้องตอบ” (อ่าน วงเสวนานิติ มธ. ถกปม ‘บอส อยู่วิทยา’ จี้ ผบ.ตร.ตอบปมคำถาม ชี้ร้อนแรงเทียบคดี ‘เชอรี่แอน’)

ในตอนหนึ่ง ศ.(พิเศษ) อรรถพล ใหญ่สว่าง อดีตอัยการสูงสุด กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าทุกคนจะเข้าใจสิ่งที่ตนพูด ในฐานะอดีตอัยการสูงสุด เนื่องจากตนกำลังตกเป็นจำเลยของสังคม อยากเรียนว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ปี 2477 นั้น ตนยังเชื่อมั่นว่าดีที่สุดในโลก ทั้งนี้ โดยปกติผู้ที่จะดำเนินคดีได้ คือพนักงานอัยการเท่านั้น แต่กฎหมายนี้ให้อำนาจทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหาย จึงทำงานได้อย่างคู่ขนาน แต่จากข้อเท็จจริงจากสื่อว่า ผู้ที่เสียชีวิต ปัจจุบันไม่มีบุพพการีและผู้สืบสันดาน การพิจารณาของพนักงานอัยการ เป็นไปตามมาตรา 140-147 และมีมาตราที่ประเทศอื่นไม่มีด้วย พนักงานอัยการมีสิทธิใช้ดุลพิจนิจได้ แต่การสั่งไม่ฟ้องจะมีการตรวจสอบถ่วงดุล โดยในต่างจัดหวัดเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ใน กทม. คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งผู้พิจารณามี 3 คน ได้แก่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.), รอง ผบ.ตร. และ ผู้ช่วย ผบ.ตร. แต่ต่อมามีการแก้ไขโดย คสช.ว่า ปัจจุบันเวลาสั่งไม่ฟ้อง จะต้องสั่งไปที่ ผู้บัญชาการตำรวจภูธร เป็นต้น

ดังนั้น ในส่วนของการคานอำนาจ มี และการทำงานของพนักงานอัยการ ในสมัยก่อน อย่างปี 2540 มีการสั่งคดีและร้องขอความเป็นธรรมจากอัยการสูงสุดท่านหนึ่ง และท่านสั่งไม่ฟ้อง จนเป็นที่ครหาถึงการคานอำนาจ ตอนหลังเมื่อวิเคราะห์กันแล้ว อัยการสูงสุดจึงเห็นว่า การสั่งไม่ฟ้องควรลดลงมาเป็นอำนาจของรองอัยการสูงสุด ไม่ควรถึงมืออัยการสูงสุด โดยปี 2548 มีการแก้ไขว่า ถ้าเป็นคดีที่เกิดขึ้นแล้ว บุคคลที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง คืออัยการจังหวัด ใน กทม.เรียกกว่าอัยการพิเศษฝ่าย หากมีการร้องขอความเป็นธรรม ไม่ว่าจะผู้เสียหาย หรือผู้ต้องหา จะต้องมีการเสนอสำนวนไปยังอธิบดีอัยการของสำนักงานนั้นๆ

“ในกรณีนี้คือ สำนักงานอัยการสูงสุด กรุงเทพใต้ ซึ่งเดิมมีความเห็นสั่งฟ้องแล้ว โดยระหว่างนั้นสามารถร้องขอความเป็นธรรมได้ เป็นเช่นนี้มาตลอด แต่จะต้องทราบข้อเท็จจริงเล็กน้อย และถ้ามีการเปลี่ยนคำสั่ง เช่น สั่งฟ้อง แล้วสั่งไม่ฟ้อง ระดับอธิบดีทำไม่ได้ จะต้องสูงกว่า คือ รองอัยการสูงสุด แต่จะมีอำนาจได้ก็ต่อเมื่อได้รับมอบหมายเรื่องงานจึงจะเป็นผู้สั่งคดี แต่ถามว่าสั่งได้ทันทีหรือไม่ ต้องบอกว่า ไม่ได้ เพราะมีสำนักงานคดีกิจการ อัยการสูงสุดจะตรวจสอบพยานหลักฐาน หากเรื่องในการร้องขอคงามเป็นธรรมนั้นไม่น่าพิจารณา จะยุติการร้องขอความเป็นธรรม ซึ่งจะส่งเรื่องต่อไป จนจบที่รองอัยการสูงสุด ถามว่าอัยการสูงสุดไม่รู้เรื่องได้หรือไม่ ตอบว่าได้ เพราะระเบียบเขียนไว้ชัดว่า จบที่รองอัยการสูงสุด ซึ่งหากสั่งไม่ฟ้องแล้วต้องส่งกลับไปที่ผู้้เกี่ยวข้อง” ศ.(พิเศษ) อรรถพลกล่าว

Advertisement

ศ.(พิเศษ) อรรถพลกล่าวต่อว่า 1.หากเปรียบกระบวนการยุติธรรมกับตาชู ตาชั่ง ตนก็ขอยันยันว่า ยังใช้ได้อยู่ กฎหมายเมืองไทยดีที่สุดในโลก เป็นระบบที่เราควรจะต้องเดินตามแบบเดิม ใครจะคิดเปลี่ยนแปลงแก้ไขต้องคิดดีๆ ว่าการจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขนั้นดีหรือไม่

2.บุคลากรก็สามารถทำตาชั่งเอียงได้ ถ้าทำไม่ถูกต้อง จึงอยากฝากสังคมว่า ความรู้สึกมีได้ แต่การสั่งพิจารณาคดี พยานมี 3 อย่าง คือ 1.บุคคล 2.วัตถุ 3.หลักฐาน

ทั้งนี้ ในคดีอาญามีผู้เชี่ยวชาญ ในคดีแพร่งมักยอมรับพยานหลักฐานมากกว่าพยานบุคคล แต่ในคดีอาญาเดิมจะยอมรับพยานบุคคล แต่ต้องเป็นประจักษ์พยาน จนกระทั่งมีเรื่องนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจมีกองพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งจะเป็นพยานที่สำคัญสุด ถ้ามีนิติวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวไม่มีปัญหา แต่ถ้าหลักฐานขัดแย้งกัน ต้องไปดูพยานบุคคล ที่บอกว่าพยาน 2 ปาก โผล่มาปี 2562 ก็ต้องไปดูรายละเอียด ซึ่งวันจันทร์ที่ 3 ส.ค.นี้ สำนักงานอัยการสูงสุดคงจะชี้แจง

Advertisement

“คนที่จะสั่งฟ้องคือ รองอัยการสูงสุด ซึ่งระเบียบไม่ได้บอกให้รายงานใคร แต่ต้องส่งสำนวนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรา 145 ซคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจะพิจารณาโดยกองคดี หากออกมาไม่ถูกใจกระแสสั่งคม ก็ต้องดู และให้ความเห็นใจท่านด้วย” ศ.(พิเศษ) อรรถพลกล่าว และว่า
อัยการทั้งประเทศไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่จะต้องให้ความเป็นธรรมคนสั่งคดีด้วย อย่างไรก็ดี เป็นการใช้ดุลพินิจอย่างละเอียดรอบคอบหรือไม่ ถ้าดุลพินิจเป็นไปโดยชอบก็ไม่ผิด หากไม่ชอบก็มีอำนาจหน้าจะลงโทษได้อยู่แล้ว ขอให้รอไปอีกนิด

“ในการพิจารณาคดี ท่านจะต้องเอาหลักฐานมาชั่งน้ำหนัก ในการทำงาน เหรียญมี 2 ด้าน ต้องคิดถึงจิตใจของผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาทั้งที่ไม่ได้ทำความผิด การตั้งเหรียญให้อยู่ตรงกลางนั้นยาก แต่หากไม่เป็นมาตรฐานเมื่อไหร่ พนักงานอัยการที่สั่งคดีมีความผิดอย่างแน่อน” ศ.(พิเศษ) อรรถพลกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image