ดูชัดๆ 9 ข้อเข้มตำรวจไทย ห้ามทำในสื่อสังคมออนไลน์ ‘ห้ามเต้น-ห้ามตลก’

ดูชัดๆ 9 ข้อเข้มตำรวจไทย ห้ามทำในสื่อสังคมออนไลน์ ‘ห้ามเต้น-ห้ามตลก’

จากกรณีโซเชียลมีเดียแชร์คลิปในแอพพลิเคชั่น TIKTOK โดยเป็นคลิปหญิงสาวถ่ายกับเฮลิคอปเตอร์ มีตราสัญลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนขึ้นไปนั่งภายในเครื่องบิน ถ่ายให้เห็นบรรยากาศภายในเฮลิคอปเตอร์ เห็นนักบินที่แต่งกายคล้ายเครื่องแบบนักบินของตำรวจ และถ่ายเห็นทิวทัศน์สวยงามจากมุมสูง พร้อมติดแฮชแท็ก ความสุข HAPPYDAY HAPPYLIFE โดยล่าสุด หญิงสาวคนดังกล่าวได้ลบคลิปออกจาก TIKTOK แล้ว

ต่อมา พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (โฆษก ตร.) เปิดเผยว่า คลิปดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมานาน 3 ปี โดยตำรวจรายนี้เป็นหน้าห้องของอดีตรอง ผบช.ภ.4 วันดังกล่าวได้ไปราชการกับผู้บังคับบัญชา แต่มีภรรยาติดตามไปด้วย

ล่าสุด พล.ต.ต.พิษณุ อุณหเสรี ผบก.ภ.จว.อุดรธานี ได้มีคำสั่งให้ พ.ต.ท.อรรคพล ยี่เกาะ สว.กก.สส.ภ.จว.อุดรธานี ไปปฏิบัติราชการประจำศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรจังหวัดอุดรธานี โดยให้ขาดจากตำแหน่งและสังกัดเดิม พร้อมตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง หากพบว่ามีความผิดก็จะลงโทษทางวินัย

ส่วนกรณียังปรากฏคลิปวิดีโอ พ.ต.ท.อรรคพล แต่งเครื่องแบบตำรวจเต้นใน TIKTOK นั้น พล.ต.ต.ยิ่งยศกล่าวว่า มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ด้วย

Advertisement

เนื่องจากเป็นการกระทำผิดระเบียบ “การใช้สื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม TIKTOK ของข้าราชการตำรวจ” ข้อ 9.ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์อันดีของความเป็นข้าราชการตำรวจ ก่อให้เกิดความตลกขบขัน วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ ลดความเชื่อมั่น ศรัทธาต่องานตำรวจ ทั้งที่เป็นปัจเจกบุคคล และองค์กรตำรวจโดยรวม ซึ่งหากพบว่ามีความผิดก็ต้องพิจารณาทัณฑ์ทางวินัยตามระเบียบต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง เมื่อวัน 11 มีนาคมที่ผ่านมา พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอตสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้แถลง เปิดโครงการจัดทำแนวทางการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของ ตร. แนะ 9 ข้อ ห้ามตำรวจทำบนโซเชียล

ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นคู่มือแนะนำข้าราชการตำรวจทุกระดับให้เรียนรู้วิธีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่เกิดประโยชน์และถูกต้อง หลังพบว่ามีข้าราชการตำรวจใช้สื่อสังคมออนไลน์ไม่เหมาะสม เช่น ล้อเลียน กลั่นแกล้ง แสดงกิริยาขบขันจนเกินขอบเขตก่อให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือจากสังคม รวมถึงการใช้สื่อออนไลน์ละเมินบุคคลอื่น หรือกระทำผิดกฎหมายจนเกิดความเสียหายขึ้น ซึ่งข้าราชการตำรวจควรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม

Advertisement

ทั้งนี้ สำหรับประเภทข้อมูลข่าวสารที่ไม่ควรเผยแพร่ในรูปแบบข้อความ รูปภาพ หรือภาพเคลื่อนไหว 9 ข้อ คือ

1.ข้อมูลที่มีเนื้อหาพาดพิง หรือส่งในทางลบต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.ข้อมูลที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ หรือกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

3.ข้อมูลที่มีลักษณะยั่วยุ เสียดสี บิดเบือนโฆษณา ชวนเชื่อ สร้างความแตกแยกต่อหน่วยงาน องค์กร สถาบัน สังคม รวมถึงการไม่เป็นกลางทางการเมือง

4.ข้อมูลความลับของทางราชการ ตามระเบียบการตำรวจที่กำหนดไว้

5.ข้อมูลที่เข้าข่ายการกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารทั้งของราชการและบุคคล รวมถึงการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและกฎหมายอาญาใดๆ เช่น ภาพลามก อนาจาร เป็นต้น

6.ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อน้ำหนักความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานทางคดี เกิดผลเสียต่อกระบวนการยุติธรรม รวมถึงส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติภารกิจที่มีความเสี่ยงในเชิงยุทธวิธีและยุทธการ

7.ข้อมูลที่สร้างกระแสทางสังคม หรือก่อให้เกิดความตื่นตกใจโดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และไม่มีหลักฐานยืนยัน

8.ข้อมูลที่เป็นภัยคุกคามต่อระบบสารสนเทศ และเครือข่าย ได้แก่ โปรแกรมไม่พึงประสงค์ หรือ Malware ทุกประเภท

9.ข้อมูลที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์อันดีของความเป็นข้าราชการตำรวจ ก่อให้เกิดความขบขัน วิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบ ลดความเชื่อมั่น ศรัทธาต่องานตำรวจ ทั้งที่เป็นปัจเจกบุคคล และองค์กรตำรวจโดยรวม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image