เสวนามิติใหม่ยุติธรรมเด็ก”ยูนิเซฟ”รับทิศทางดีขึ้น ด้านตร.เข้มตั้งด่านสกัดก่อนหลงผิด

เมื่อเวลา 09.00น. วันที่ 14 กันยายน ที่ โรงแรมวินเซอร์ สวิทส์ ถนนสุขุมวิท 20 นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เปิดงานสัปดาห์กระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนสู่มิติใหม่ (Juvenile Justice week ) ระหว่างวันที่ 14-16 กันยายน โดยมีการเสวนาในหัวข้อเรื่องทิศทางการพัฒนากระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนของประเทศไทย วิทยากรมีนายวิศิษฏ์ นายอภิชาติ จารศรี รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนนายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์กรทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติแห่งประเทศไทย (UNICEF) นายอาเล็ก จรรยาทรัพย์กิจ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง นายศิลป์ชัย คณาวุฒิ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ต.ท.ปฏิศาสตร์ ศรีมณฑา รองผกก.ดส. และร.ต.อ.ประดิษฐ์ ประเสริฐสังข์ รองสว.กก.ดส.

นายวิศิษฏ์ กล่าวว่า การทำงานของตนช่วงระยะเวลา1ปีที่ผ่านมาเชื่อว่า กระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทางกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ได้ฟื้นฟู เด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการป้องกันเด็กและเยาวชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้การจัดงานเป็นการร่วมมือกับ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนและกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) เพื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้แลกเปลี่ยนความรู้สภาพปัญหากันและกำหนดทิศทางแนวทางปฏิบัติที่ดีที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กและเยาวชนและพัฒนาปรับปรุงการพัฒนาระบบการปฏิบัติต่อเด็กให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตต่อไป

“ถ้าผมคาดการณ์ไม่ผิดในปีหน้าสหประชาชาติจะเริ่มให้ความสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนมากขึ้น ถ้าเราสามารถจัดงานนี้ได้อย่างต่อเนื่องคงจะถึงเป้าหมายที่ได้ตั้งเอาไว้” นายวิศิษฏ์ กล่าว

ส่วนนายโธมัส กล่าวว่า ระบบการทำงานกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนของประเทศไทยเป็นไปในทางที่ดีมาก ในเรื่องหลักการของUNICEFที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เช่นการป้องกันคือทำอย่างไรไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดหรือทำในสิ่งผิดกฎหมาย อยากให้กรมพินิจทำงานร่วมกับครอบครัวของเด็กและเยาวชน โรงเรียนหรือทุกๆสถาบัน สร้างพื้นฐานที่ดีให้เด็กและเยาวชนไม่ทำในสิ่งที่รุนแรงและก่ออาชญากรรมได้ นอกจากการป้องกันแล้วควรช่วยเหลือและสนับสนุนเด็กและเยาวชนที่ทำผิดจนสามารถกลับมาอยู่ในสังคมได้

Advertisement

ด้านพ.ต.ท.ปฏิศาสตร์ กล่าวว่า ในด้านงานพัฒนากระบวนการยุติธรรมและสถานการณ์ความเสี่ยงของเด็กและเยาวชน ตำรวจจะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ทันท่วงที ถ้ามีคดีของเด็กและเยาวชนต้องทำตามพ.ร.บ.กฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชนและกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ทางตำรวจตั้งด่านและจุดสกัดเพิ่มมากขึ้นมากขึ้นเพื่อไม่ให้เด็กและเยาวชนกระทำความผิดหรือสิ่งผิดกฎหมายและการสร้างความรุนแรงทำร้ายร่างกายผู้อื่น ด้านสถานการณ์ของเด็กทำผิดกฎหมายมากขึ้น ในฐานะเจ้าหน้าที่จะทำทุกวิถีทางในการยับยั้ง ทางด้าน กระบวนการยุติธรรมของตำรวจ มีเพียงพอในทุกๆด้านของการดูแลเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด

ด้านนายศิลป์ชัย กล่าวว่าในส่วนของอัยการสำนักงานคดีเด็กและเยาวชนพัฒนามาโดยตลอดในการแก้ไขกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัว จนมีศาลดังกล่าวและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน แก้ไขกันมาตั้งแต่ปี2534-2553ที่ใช้ในปัจจุบัน และตนทำเรื่องเด็กและเยาวชนมา 7 ปี พอจะทราบว่าปัญหาเกิดขึ้นกับกระบวนการยุติธรรมเด็กและเยาวชนพอสมควร คือเกี่ยวกับเรื่องการตีความและการใช้กฎหมาย ปัจจุบันเมื่อมีการควบคุมตัว เยาวชนศาลส่วนใหญ่จะให้ประกันตัวผู้ต้องหาไปให้บิดามารดาดูแล แต่มีคำสั่งให้ไปรายงานตัวกับพนักงานสอบสวนและคุมประพฤติ จากนั้นเด็กไม่ยอมไปรายงานตัวจนทำให้สอบปากคำไม่ได้ จนกระทั่งประกอบสำนวนคดีไม่ได้ เป็นปัญหาที่สืบเนื่องจากการตีความและใช้กฎหมาย

ขณะที่นายอาเล็ก กล่าวว่า การแก้ไขชั้นสถานพินิจและชั้นอัยการ เป็นระบบใหม่ของพ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวของปี 2553 วางแนวทางให้ศาลเยาวชนวางแผนแก้ไขในชั้นยื่นฟ้องถ้าเยาวชนสามารถปรับตัวไปในทางที่ดีทางศาลเยาวชนจะยุติคดีในทันที

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image