กรรมการสิทธิฯ ชี้ ‘ระบบกล่าวหา’ ไม่เท่าเทียม ฝ่ายหนึ่งจนท.รัฐ อีกฝ่ายแค่ ‘ราษฏร’ เหลื่อมล้ำทำติดคุกเพียบ

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน เวลา 15.30 น. ที่ห้องประชุม 301 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดสัมนาทางวิชาการ หัวข้อ ‘ปัญหาการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิดในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของประเทศไทย’  (อ่านข่าว ปริญญา เผย 6 หมื่นคนในคุกอยู่ระหว่างสอบสวน ยันตามหลักการ ‘ยังบริสุทธิ์’ เสนอ 5 ข้อแก้กระบวนการยุติธรรม)

ในตอนหนึ่ง นางปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ระบบกล่าวหาเป็นระบบที่ประชาชนต้องมาพิสูจน์ตัวเองว่าผิดหรือไม่ผิดอย่างไร เป็นระบบที่ไม่มีความเท่าเทียมกัน ผู้กล่าวหาจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานสอบสวน อัยการจะเป็นผู้ดำเนินการฟ้อง ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเพียงราษฎร ด้วยความยากจนเหลื่อมล้ำไม่มีทนายความ ตนรับราชการปี 2523 เป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่อยู่ในเรือนจำ พบเจอผู้คนที่ไม่มีทนายความสำหรับการสู้คดี คนที่ถูกกล่าวหาติดคุกเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีโอกาสประกันตัวด้วยฐานะหรือความเหลื่อมล้ำ ในขณะที่คนมีฐานะมีทยานหรือทีมทนายตั้งแต่ชั้นสอบสวนถึงชั้นพิจารณาคดี

นางปิติหาญจน์ ยกตัวอย่างกรณีเยาวชนทะเลาะวิวาทคู่กรณีปากกาหาย โดนข้อกล่าวหาว่าชิงทรัพย์และติดคุก แม้จะเข้าไปรับโทษในคุกแล้วกลับออกมาประวัติอาชญากรรมยังติดตัวจนทำให้โดนตัดโอกาสต่าง ๆ ในชีวิต นอกจากนี้เราไม่มีการจำแนกเรือนจำกล่าวคือนำคนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาถูกควบคุมตัวรวมกับคนที่มีคำพิพากษาเด็ดขาดแล้ว ถ้าเป็นผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีต้องมีระบบระเบียบเดียวกับผู้ต้องขังที่ศาลพิพากษา เช่น ตัดผม ใส่ตรวน เป็นต้น

“อีกกรณีหนึ่งคือชาวบ้านบางกลอยผู้นำกลุ่มเกี่ยวกับจิตวิญญาณที่จำเป็นต้องไว้ผมยาวตามความเชื่อเป็นผู้ต้องหาคดีเกี่ยวกับอุทยาน เมื่อเข้ามายังเรือนจำกลับโดนบังคับให้ตัดผม ซึ่งไปกระทบสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ กระทบสิทธิผู้ต้องหาที่ศาลยังไม่ตัดสิน ส่วนนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีการจำแนกผู้ต้องหาที่ศาลยังไม่พิพากษา และในกรณีจำเลยแพะ ศาลมักยกประโยชน์ความสงสัยแม้มีคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนก็ไม่ได้รับการเยียวยา” นางปิติหาญจน์กล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image