แอมเนสตี้ หวังไม่เกิดลอยนวลพ้นผิดซ้ำ ถอดเคสบทเรียน ‘คดีตากใบ’ ต้องไม่มีหมดอายุความ
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม เวลา 13.00 น. ที่ชั้น 3 Slowcombo (สโลว์คอมโบ) สามย่าน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดงาน ‘Echoes of Hope ให้กฎหมายทำงาน ให้ความยุติธรรมเป็นจริง: 2 ปี พ.ร.บ.ป้องกันทรมาน-อุ้มหาย’ เพื่อร่วมย้อนเส้นทางตลอด 2 ปี ที่ประเทศไทยมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหายฯ ทั้งบทเรียน เรื่องราว หลักการ และความทรงจำ
โดยภาพในงานนอกจากไฮไลต์มี 2 วงเสวนาแล้ว ยังมีกิจกรรมฉายหนังสั้น 2 เรื่อง ได้แก่ สุสานดวงดาว และ ร่างอันตรธาน รวมถึงการแสดง Performance Art จากกลุ่มลานยิ้มการละคร อีกด้วย
เวลา 14.00 น. เข้าสู่วงเสวนาแรก ‘ข้อเสนอแนะ ความพร้อม ข้อท้าทายของไทย ต่อสถานการณ์การทรมานฯ’ นำโดย น.ส.สัณหวรรณ ศรีสด คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ), นายชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล, น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ กลุ่มด้วยใจ, น.ส.นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และดำเนินรายการโดย เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล
โดยภาพในงานนอกจากไฮไลต์มี 2 วงเสวนาแล้ว ยังมีกิจกรรมฉายหนังสั้น 2 เรื่อง ได้แก่ สุสานดวงดาว และ ร่างอันตรธาน รวมถึงการแสดง Performance Art จากกลุ่มลานยิ้มการละคร อีกด้วย
ในตอนหนึ่ง นายชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยแอมเนสตี้ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาทางคณะกรรมการ UN เขาสนใจเรื่อง ‘การใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุม’ เป็นอย่างมาก แม้ว่าผู้ชุมนุมอาจจะยังไม่ถึงขั้นการควบคุมตัวก็ได้ แต่เวลามันมีการสลายการชุมนุม มันก็จะมีเจ้าหน้าที่มาล้อม แล้วอาจจะมีการทุบตี ยิงกระสุนยาง โยนแก๊สน้ำตาใส่ ทำให้ผู้ชุมนุมตกอยู่ในสถานะไร้อำนาจ ไม่สามารถต่อรองอะไรได้ มันก็เลยเข้าข่ายการทรมานได้
“คณะกรรมการเขาให้ความสำคัญกับประเทศไทยเหมือนกัน โดยที่เขาหยิบยกเคสการชุมนุมตั้งแต่ 63 ที่เรียกร้องประชาธิปไตยขึ้นมาเป็นพิเศษเลย แล้วก็มีการพูดถึงการใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุมที่มาชุมนุมโดยสงบ จนเป็นเหตุให้พิการ เช่น การยิงกระสุนใส่ลูกตา ทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้อีก
โดยมีการพูดถึง 3 กรณีด้วยกัน อาทิ พายุ บุญโสภณ ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย และฐนกร ผ่านพินิจ ซึ่งตอนที่เราไปที่เจนีวากัน คุณพายุก็มีโอกาสได้แชร์เรื่องราวให้กับคณะกรรมการโดยตรงด้วยว่า เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไรบ้างขึ้นบ้าง คณะกรรมการเขาเลยให้ความสำคัญและเสนอแนะมาหลายเรื่อง
เช่น แนะนำให้มีการสบายการชุมนุมอย่างเป็นมาตรฐานสากล ไม่เกิดสัดส่วน ไม่เกินความจำเป็น และให้มีการสืบสวนสอบสวนในกรณีที่มีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ เพื่อให้มีเกิดการรับผิด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่คนไหนที่ใช้อาวุธอย่างผิดวิธี ขัดกับหลักสากลก็ต้องถูกลงโทษ” นายชนาธิปชี้
นายชนาธิป กล่าวต่อว่า ส่วนอีกเรื่อง คือ ความรุนแรงในเหตุแห่งเพศบนออนไลน์ ซึ่งทางคณะกรรมการ UN พูดถึงเรื่องการใช้ ‘เพกาซัสสปายแวร์’ กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง แล้วก็ใช้ปฏิบัติการในโลกออนไลน์ต่างๆ ในการทำให้นักปกป้องสิทธิหญิง และนักปกป้องสิทธิที่มีความหลากหลายทางเพศ เสื่อมเสียชื่อเสียง เสียความชอบธรรมในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน แล้วก็ไม่มีความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนกรณีเหล่านั้น
“เขาแนะนำให้รีบตรวจสอบกรณีเหล่านี้ แล้วก็พยายามสร้างสภาพสิ่งแวดล้อมให้มีความปลอดภัย สำหรับนักปกป้องสิทธิในการทำงานต่อไป อันนี้มันน่าสนใจที่ว่า ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ บางกรณีมันไม่ได้เป็นภาครัฐที่กระทำด้วยซ้ำ แต่ว่าคณะกรรมการให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะว่าแม้ว่าจะเป็นตัวแสดงที่ไม่ใช่ภาครัฐ แม้ว่าจะเป็นคนทั่วไป แต่ภาครัฐล้มเหลวในการสืบสวนสอบสวน ในการให้ความช่วยเหลือคนที่เป็นเหยื่อ” นายชนาธิปเผย
นายชนาธิป กล่าวต่อว่า ในช่วงที่ผ่านมาผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศ เขามองว่าสปายแวร์ โจมตีด้วยข่าวสาร โจมตีนักกิจกรรม สามารถเข้าข่ายการทรมานทางจิตใจได้ โดยเฉพาะการสร้างความเสียหาย และความเจ็บปวดทางจิตใจอย่างรุนแรง จนอาจเข้าข่ายเกณฑ์ของการทรมาน ตามกฎหมายระหว่างประเทศ
นายชนาธิป กล่าวอีกว่า อีกเรื่องคือ ‘ลอยนวลพ้นผิด’ โดยช่วงที่เราได้ไปคุยกับคณะกรรมการที่เจนีวา ก็เป็นช่วงเดียวกันที่ ‘คดีตากใบ’ เพิ่งหมดอายุความไป ก็เป็นที่สนใจของคณะกรรมการอย่างมาก เขาได้ถามคำถามจำนวนมากต่อภาครัฐ ประชาสังคม
“เขาเน้นย้ำถึงเรื่องนี้ว่า ส่วนหนึ่งที่สำคัญมาก ที่จะไม่ปล่อย หรือ เปิดโอกาสให้เกิดการลอยนวลพ้นผิดเกิดขึ้นอีก คือ การทำให้อาชญากรรม หรือ การอุ้มหาย ไม่มีอายุความอีกต่อไป” นายชนาธิปชี้
นายชนาธิป กล่าวอีกว่า ในเรื่องของ ‘การเยียวยา’ คณะกรรมการเขาเห็นว่า ประเทศไทยมีพ.ร.บ.สำหรับการเยียวยาผู้ที่ได้รับการเสียหายจากคดีอาญา แต่ว่าปัญหา คือ กรณีที่มีการบังคับสูญหาย คนที่เป็นเหยื่อ หรือ ครอบครัว ต้องมีหลักฐานที่เป็นมรณะบัตร เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการชันสูตรศพ เพื่อไปยืนยันการเสียชีวิต จึงทำให้ไม่สามารถได้รับการเยียวยาจากพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้
“เราเข้าใจว่า เขาพยายามที่จะออกระเบียบการเยียวยาเหยื่อ จากพ.ร.บ.ใหม่ที่ถูกทรมานและอุ้มหาย แต่ว่าก็ยังติดอยู่ เท่าที่เข้าใจคิดว่าติดอยู่ที่กระทรวงการคลัง อันนี้ก็เป็นอีกอันหนึ่งที่คณะกรรมการเขาเร่งรัด ที่อยากให้ทำเสร็จ เพราะว่าจะทำให้เหยื่อจากการบังคับสูญหาย เข้าถึงการเยียวยาได้” นายชนาธิปกล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ICJ ชี้ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ไทย นิยามแคบกว่าสากล เผย ยูเอ็น คอมเมนต์ปม ‘อายุความ’ คาใจ 77 คดี ไม่คืบ