“น็อต กราบรถ” พบอธิบดีณรัชต์ รับทราบขั้นตอนคุมประพฤติ ให้รณรงค์พีอาร์ ลดความรุนแรงในถนน

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 3 ก.ค. ที่กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นายอัครณัฐ อริยฤทธิ์วิกุล หรือ น็อต กราบรถ เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ เพื่อรายงานตัวและรับทราบเงื่อนไขการคุมประพฤติ และการทำงานบริการสังคม หลังจากศาลได้มีคำสั่งจำคุก 2 ปี แต่ผู้ต้องหารับสารภาพ ลดเหลือ 1 ปี รอลงอาญา 2 ปี ควบคุมความประพฤติ 1 ปี โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง และบำเพ็ญประโยชน์ 24 ชั่วโมง ในคดีทำร้ายร่างกายนายกิตติศักดิ์ หรือ บอย พนักงานคัดกรองเอกสารของสรรพากร คู่กรณีที่ขี่จักรยานยนต์เฉี่ยวชนรถมินิคูเปอร์ของนายอัครณัฐ เมื่อเดือน พ.ย.2559

นายอัครณัฐ กล่าวภายหลังการเข้ารายงานตัวว่า ในวันนี้มาพูดคุยกับอธิบดีกรมคุมประพฤติในเรื่องการถูกคุมประพฤติว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้างเป็นการดูแลผู้ที่กระทำผิดอย่างตน ซึ่งถือว่าเป็นการพากทัณฑ์ พร้อมทั้งพูดถึงเรื่องความสามารถของตนว่าเราสามารถจะทำประโยชน์อะไรให้สังคมได้บ้าง ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือร่วมกันและจะออกมาเป็นโครงการร่วมกันในอนาคต อย่างไรก็ตาม ตนอยากจะเป็นตัวอย่างให้กับสังคมทั้งในเรื่องของการใช้ชีวิตอย่างมีสติ ซึ่งตนเคยกระทำผิดเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะ ดังนั้น อนาคตตนคิดว่าน่าจะเป็นตัวอย่างและต้องขอบคุณอธิบดีกรมคุมประพฤติที่เล็งเห็นว่าตนมีความสามารถและเป็นประโยชน์ให้กับสังคมได้ ทั้งนี้ ตนอยากฝากถึงประชาชนหากเกิดปัญหาอะไรขึ้นก็ขอให้ใช้สติ ใจเย็น และค่อยๆพูดกัน

นายอัครณัฐ กล่าวถึงข้อสักถามถึงความรู้สึกภายหลังศาลมีคำสั่ง ว่า ลึกๆตนรู้สึกดีใจที่อย่างน้อยศาลก็เมตตาให้ตนได้มาทำประโยชน์ให้กับสังคม โดยโครงการที่จะดำเนินการนั้น คาดว่าจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด โดยอาจจะออกมาในรูปแบบของโทรทัศน์หรือออนไลน์ หรือสาธารณประโยชน์ต่างๆ ส่วนกรณีที่แม่ของคู่กรณีออกมาให้สัมภาษณ์กรณีคดีแพ่งนั้น หากเป็นเรื่องของเงินประกันเป็นส่วนของทางบริษัทประกันกับทางคู่กรณีมากกว่า ทางตนเองตนได้แจ้งประกันไปตั้งแต่แรกแล้วว่าไม่มีคู่กรณี ซึ่งในส่วนนี้ตนเห็นว่าน่าจะเป็นบริษัทประกันไปพูดคุยกับคู่กรณีมากกว่า ทั้งนี้ สำหรับงานในวงการบันเทิงนั้น เริ่มมีผู้ใหญ่ที่ใจดีและคอยให้กำลังใจตนมาตลอดเริ่มติดต่อมาบ้างแล้ว โดยไม่ใช่ต้นสังกัดเดิม

ด้าน พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า ในวันนี้เป็นครั้งแรกที่เราได้เชิญนายอัครณัฐซึ่งเป็นผู้ถูกคุมความประพฤติมาพบเจ้าหน้าที่เพื่อหารือและวางแผนการทำงานบริการสังคม เนื่องจากผู้ถูกความประพฤติรายนี้เป็นผู้ที่มีชื่อเสียง มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ในเรื่องของสื่อ และเคยเป็นโฆษกมาก่อน จึงเห็นตรงกันว่านายอัครณัฐก็จะพยายามรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้กับกลุ่มเป้าหมายต่างๆที่สามารถทำได้ เพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงในท้องถนน โดยยกตัวอย่างจากคดีที่เขาได้รับจากประสบการณ์จริง ก็จะเอาผิดเป็นครูเพื่อเป็นอุทาหรณ์เพื่อให้ทุกคนรู้จักระงับยับยั้งจิตใจ ควบคุมความโกรธโดยไม่ใช้ความรุนแรง อีกทั้ง จะต้องเป็นเรื่องที่ทำแล้วเกิดประโยชน์ต่อสังคม ทั้งนี้ การทำงานบริการสังคมนั้น ทางกรมคุมประพฤติจะมีการตรวจสอบการทำงานอยู่ตลอด

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวถึงข้อสักถามว่ามีเงื่อนไขอะไรกับนายอัครณัฐหรือไม่ ว่า ในเรื่องนี้ศาลไม่ได้มีคำสั่งอะไร แต่ตนได้อธิบยายให้ผู้ถูกคุมว่าการถูกคุมความประพฤตินั้น แม้อิสรภาพยังคงเดิมดยให้มารายงานตัวเพียงปีละ 4 ครั้งนั้น แต่ก็ยังถือว่าเขามีโทษรอและถูกพากทัณฑ์อยู่ หากพูดภาษาวัยรุ่นก็คือ ต้งอหายใจเบาๆ โดยต้องพยายามไม่ไปยุ่งกับสิ่งเร้า อบายมุข หรือเข้าไปข้องแวะในสถานบริการ ที่จะนำไปสู่การกระทำผิดกฎหมาย อีกทั้ง จะต้องใจเย็นลงด้วย เพราะผู้ถูกคุมความประพฤติจะไม่เหมือนกับบุคคลทั่วไป ที่เวลามีเรื่องมีราวแล้วอาจจะได้รับความเมตตาจากศาล แต่ผู้ถูกคุมความประพฤติก็จะมีการเอาโทษเก่าที่รอไว้มาบวกกับโทษใหม่ หรือระหว่างที่ถูกคุมความประพฤติและปฏิบัติตัวไม่ดีเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ที่จะรายงานกลับไปที่ศาลในการพิพากษาต่อไป
“เจ้าตัวเองเคยไปถือศีล ร่ำเรียนธรรมะมา จริงๆแล้วจากรายงานทางการแพทย์ระบุว่าเป็นคนที่มีไอคิวสูงกว่าปกติ แต่วันนั้นด้วยภาวะการณ์ เหตุการณ์ต่างๆ และอารมณ์พาไป ก็อาจจะออกมาในรูปที่ใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และเขาก็ได้รับโทษทัณฑ์ไปแล้ว แต่สิ่งที่ผมอยากสื่อสารก็คือ หบายท่านยังเข้าใจไม่ครบถ้วนคิดว่ากระบวนการยุติธรรมมีแค่นี้เองหรอ จ่ายเงินแล้วก็เลิกกัน แต่ที่จริงยังมีค้างคาอีก 1 ปี และก็ต้องดำเนินการตามที่เจ้าพนักงานคุมประพฤติออกแบบไว้ให้” อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าว

Advertisement

พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวด้วยว่า ตนขอเรียนว่า ระบบงานคุมประพฤติโดยทั่วไปเป็นระบบการแก้พฤตินิสัย แต่เป็นการแก้ไขลักษณะที่ไม่ควบคุมตัว โดยปกติถ้าเป็นผู้ใหญ่กระทำผิดทางอาญาและได้รับโทษถึงขั้นจำคุกก็จะถูกส่งตัวไปยังเรือนจำต่างๆ หากเป็นเด็กและเยาวชนก็จะต้องไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งจะถูกควบคุมตัวเสียอิสรภาพ แต่ของกรมคุมประพฤติไม่ใช่ ซึ่งข้อดีก็คือท่านสามารถหาเลี้ยงชีพหรือเลี้ยงดูครอบครัวได้ตามปกติ แต่กรมคุมประพฤติจะมีเงื่อนไขคือการายงานตัว มีข้อห้ามและข้อพึงปฏิบัติ รวมถึงการทำงานบริการสังคม เพื่อให้ผู้ถูกคุมประพฤติได้แก้ไขตัวเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image