อัยการชี้ข้อกฎหมาย’พ.ร.ป.วิอาญานักการเมือง’เพิ่มอำนาจป.ป.ช.ฟ้องเอง ไม่ใช้กับนักการเมืองท้องถิ่นไม่ยื่นทรัพย์สิน

ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

เมื่อวันที่2ตุลาคม ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีมีการประกาศให้พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2560 ว่า มีข้อสังเกตที่น่าสนใจบางประการเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ มีความเกี่ยวข้องกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับใหม่ ที่กำลังเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังนี้

1.ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 40และมาตรา 41 การดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐบางประเภทที่จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในเวลาที่กำหนด หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ จะอยู่ในเขตอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยให้คณะกรรมการป.ป.ช. เสนอเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย แต่ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 10 (1) และ (4) จะไม่มีการบัญญัติอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในเรื่องการไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่รัฐบางประเภทไว้

โดยตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 10 จะจำกัดเขตอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินดังกล่าวเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับประเทศเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับท้องถิ่น อีกทั้งไม่รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องและรองรับกับร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 134 ที่อยู่ระหว่างเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา เนื่องจากมีความประสงค์ต้องการให้ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาพิพากษากรณีเหล่านี้แทนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองภายหลังจากที่ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เเต่ในปัจจุบันนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังคงมีอำนาจพิจารณาคดีกรณีต่างๆเหล่านี้อยู่จนกว่าจะได้มีการประกาศใช้ พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฉบับใหม่แล้ว

อย่างไรก็ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 10 นี้ได้บัญญัติให้ คดีที่มีการกล่าวหาว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และกรณีที่กรรมการป.ป.ช. หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช.จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย ซึ่งเป็นการบัญญัติเพิ่มเติมเขตอำนาจของศาลจากเดิมที่เคยบัญญัติไว้ใน พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว

Advertisement

2. พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 ไม่ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ที่เป็นเงื่อนไขให้คณะกรรมการป.ป.ช. จะมีอำนาจฟ้องคดีอาญาได้เองก็ต่อเมื่อคณะทำงานร่วมที่อัยการสูงสุดและคณะกรรมการป.ป.ช.แต่งตั้งไม่อาจหาข้อยุติร่วมกันได้ในการดำเนินคดีดังเช่นที่เคยบัญญัติไว้ใน พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 11 (ซึ่งหลักเกณฑ์นี้มีบัญญัติไว้เช่นเดียวกันใน พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 97 ด้วย)

โดย พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ.ศ. 2560 มาตรา 23 บัญญัติไว้แต่เพียงว่า คณะกรรมการป.ป.ช. มีอำนาจฟ้องคดีอาญาตาม พ.ร.ป.นี้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกำหนด ทั้งนี้ การที่ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวไว้น่าจะเป็นเพราะเพื่อให้สอดรับกับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่กำลังอยู่ระหว่างเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา กำหนดไว้ในร่างพ.ร.ป. มาตรา 111 ว่า เมื่ออัยการสูงสุดได้รับสำนวนคดีอาญาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำนวนคดี และหากพ้นระยะเวลา 90 วันแล้วให้คณะกรรมการป.ป.ช. มีอำนาจเรียกสำนวนคืนเพื่อฟ้องคดีเองได้ เว้นแต่อัยการสูงสุดมีความเห็นว่าสำนวนคดียังมีข้อไม่สมบูรณ์ให้แจ้งคณะกรรมการป.ป.ช. ทราบเพื่อร่วมกันตั้งคณะทำงานรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ภายใน 90 วัน

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 121 วรรคสอง ยังได้กำหนดให้กรณีที่อัยการสูงสุดมีหน้าที่ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ทรัพย์สินของบุคคลตามที่กฎหมายกำหนดตกเป็นของแผ่นดิน แต่อัยการสูงสุดไม่ยื่นคำร้องภายในกำหนด 90 วัน ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้เองด้วย หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในร่างพ.ร.ป. มาตรา 111 และมาตรา 121 วรรคสอง ดังกล่าวนี้ จะทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจในการฟ้องคดีหรือยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้เองโดยไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุด เพิ่มขึ้นมาจากเดิมที่กำหนดไว้แค่เฉพาะกรณีที่คณะทำงานร่วมที่อัยการสูงสุดและคณะกรรมการป.ป.ช. แต่งตั้งไม่อาจหาข้อยุติร่วมกันได้ในการดำเนินคดีดังที่กล่าวไป

Advertisement

การที่ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 111 บัญญัติให้คณะกรรมการป.ป.ช.มีอำนาจเรียกสำนวนคืนจากอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีเองได้ หากอัยการสูงสุดไม่ได้ฟ้องคดีต่อศาลภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำนวนคดีจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าว ถึงแม้ว่าระยะเวลาที่กำหนดให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีจะนานมากขึ้นกว่าเดิมจากที่เคยกำหนดไว้ 30 วันนับแต่วันที่ได้รับสำนวนจากคณะกรรมการป.ป.ช. ตามที่เคยบัญญัติไว้ใน พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 10 ก็ตาม แต่ก็เป็นการเพิ่มขอบเขตอำนาจในการฟ้องคดีต่อศาลได้เองของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามร่างพ.ร.ป. มาตรา 111 นี้ รวมทั้งอำนาจในการยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามร่าง พ.ร.ป. มาตรา 121 วรรคสอง ให้มากขึ้นจากเดิม

ทั้ง 2 กรณีนี้น่าจะต้องพิจารณาว่ามีความจำเป็นและเหมาะสมเพียงใดด้วย และการที่คณะกรรมการป.ป.ช.เรียกสำนวนคืนมาเพื่อฟ้องคดีเองหรือยื่นคำร้องต่อศาลเองจะยิ่งทำให้การดำเนินคดีล่าช้าหรือไม่ อีกทั้งตามร่าง พ.ร.ป. มาตรา 111 และมาตรา 121 วรรคสอง ดังกล่าวไม่ได้กำหนดว่า เมื่อเรียกสำนวนคืนมาจากอัยการสูงสุดแล้วคณะกรรมการป.ป.ช. จะต้องฟ้องคดีหรือยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายในกี่วัน การที่คณะกรรมการป.ป.ช. จะฟ้องคดีหรือยื่นคำร้องต่อศาลเองจึงอาจจะยิ่งทำให้การดำเนินคดีล่าช้าออกไปมากกว่าเดิมด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image