กก.ปฎิรูปกระบวนการยธ. ชงปฎิรูปอำนาจ “ศาลทหาร” เล็งทหารทำผิดอาญา ทั่วไปขึ้นศาลพลเรือน

เมื่อเวลา 13.30น.วันที่ 26 พฤศจิกายน โรงแรมเดอะ บาซาร์ มีการจัดอบรมหลักสูตรพัฒนาสื่อมวลชนเพื่อการประชาสัมพันธ์ศาลยุติธรรม (สศย.)รุ่น1 โดย นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ในฐานะคณะกรรมการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวตอบคำถามสื่อมวลชนถึง กรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงการเสียชีวิตน้องเมย นักเรียนเตรียมทหารว่าขั้นตอนตั้งเเต่เมื่อเสียชีวิตไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนชันสูตรศพ ทำสำนวนคดีอาญาจนถึงมีคำพิพากษานั้นเป็นอำนาจของหน่วยงานทหารทั้งหมดซึ่งอาจจะเกิดความไม่เป็นธรรมเเละเคลือบเเคลงสงสัย ว่าการปฎิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมในระบบศาลไม่ว่าจะเป็น ศาลยุติธรรม ,ศาลรัฐธรรมนูญ ,ศาลปกครองเเละศาลทหาร นั้น ในคณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมก็มีทหารเป็นคณะกรรมการ คือพล.อ.กฤษณะ บวรรัตนารักษ์ พูดชัดเจนว่าในการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมในครั้งนี้จะรวมถึงศาลทหารด้วย ซึ่งในศาลทหารนั้นมีอยู่2ประเด็นที่ชัดเจน คือเรื่องระยะเวลาต่อไปจะต้องมีการกำหนดระยะเวลาว่าการพิจารณาคดีจะต้องเสร็จในเวลาเท่าไหร่ซึ่งจะกำหนดเป็นมาตราฐานในทุกศาล ส่วนประเด็นที่สองคืออำนาจของศาลทหารโดยคณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมก็ได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ รวมทั้งกรมพระธรรมนูญศาลทหารไปดูว่าในต่างประเทศเรื่องอำนาจศาลทหารควรจะมีขอบเขตอย่างไรบ้าง

นายสราวุธกล่าวว่า ประเด็นเรื่องอำนาจพิจารณาคดีศาลทหารก็เป็นข้อเรียกร้องจากองค์กรระหว่างประเทศกรณีที่มีการตั้งคำถามว่าคดีอย่างไรบ้างที่ควรอยู่ในอำนาจศาลทหารเเละคดีที่เกี่ยวพันกับพลเรือนต้องไปศาลทหารมากน้อยเเค่ไหน เเน่นอนว่าในหลักปัจจุบันนั้นมีว่าถ้าทหารกระทำความผิดกับพลเรือนจะต้องขึ้นศาลพลเรือน จึงมีเเนวคิดต่อไปว่าในบางกรณีที่ทหารกระทำความผิดเเต่เป็นเรื่องทั่วๆไป เช่น การกระทำความผิดอาชญกรรมที่เป็นคดีอาญาทั่วๆไปที่ไม่เกี่ยวกับวินัยทหารหรือภาวะการสงคราม สิ่งเหล่านี้ทางคณะกรรมการฯก็มีการเสนอเป็นประเด็นไว้ด้วยว่าควรจะมีการทบทวนปรับปรุงเเก้ไขอย่างไรบ้าง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะใช้เเนวทางใด เเต่คณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมกำลังพิจารณาดูอยู่

อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าในที่ประชุมของคณะกรรมการปฎิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมา นั้นคณะกรรมการฯได้มีหยิบยกประเด็นเเละเสนอเรื่องอำนาจการพิจารณาคดีของศาลทหารที่จะกำหนดให้คดีที่ทหารกระทำผิดคดีอาญาทั่วไปที่ไม่เกี่ยวกับการปฎิบัติหน้าที่หรือวินัยในการทหารนั้นจะต้องขึ้นศาลพลเรือนซึ่งก็คือศาลยุติธรรมนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image