อัยการธนกฤต แจงพ.ร.ก.ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล บังคับใช้ 14 พ.ค.

อัยการธนกฤต อธิบาย พ.ร.ก.ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่งประกาศใช้ กำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรม ซื้อขายสินทรัพย์ฯมีบทลงโทษทั้งทางอาญา-แพ่ง

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด และอาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมาย ระเบียบ และนโยบายอุตสาหกรรมดิจิทัล บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้อธิบายสาระสำคัญของพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ว่า พระราชกำหนดการกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีวัตถุประสงค์หลักในการกำกับและควบคุมการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

โดยสามารถสรุปสาระสำคัญของพระราชกำหนดฉบับนี้ อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจากบันทึกวิเคราะห์สรุปสาระสำคัญของร่างพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ดังนี้

1. สินทรัพย์ดิจิทัล หมายความว่า คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล ซึ่งมีความหมายดังต่อไปนี้ (มาตรา 3 บทนิยาม)

Advertisement

1.1 คริปโทเคอร์เรนซี หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีความประสงค์ที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน เพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล และให้หมายความรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดตามที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (คณะกรรมการ ก.ล.ต.) ประกาศกำหนด
ซึ่งตัวอย่างของคริปโทเคอร์เรนซี ได้แก่ บิทคอยน์ (Bitcoin) อีเธอร์ (Ether) หรือ ริปเปิ้ล (Ripple)

1.2 โทเคนดิจิทัล หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
(1) กำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ และ
(2) กำหนดสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการหรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ และให้หมายความรวมถึงหน่วยแสดงสิทธิอื่นตามที่ คณะกรรมการ
ก.ล.ต.ประกาศกำหนด

ตัวอย่างของโทเคนดิจิทัลได้แก่ JFIN Coin ของบริษัท JFIN ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ JMART
ทั้งนี้ หลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ไม่ให้ถือเป็นคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลตามพระราชกำหนดนี้ (มาตรา 5)

Advertisement

2. การเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ออกใหม่ต่อประชาชน (Initial Coin Offerings หรือ ICO)

2.1 กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) สามารถกำกับและควบคุมการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ออกใหม่ต่อประชาชน (ICO) โดยกำหนดให้การเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ออกใหม่ต่อประชาชนต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. และให้กระทำได้เฉพาะนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด และต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. โดยมีรายละเอียดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด และให้นำบทบัญญัตินี้มาใช้บังคับกับโทเคนดิจิทัลที่ผู้เสนอขายได้ออกไว้แล้วและมีวัตถุประสงค์ที่จะขายเป็นการทั่วไปต่อประชาชนด้วย (มาตรา 17 วรรคหนึ่งและวรรคสอง)

2.2 กำหนดกระบวนการและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัล และผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลจะเสนอขายได้เฉพาะต่อผู้ลงทุนตามประเภทและภายใต้เงื่อนไขที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดเท่านั้น เพื่อที่จะให้ผู้ลงทุนในโทเคนดิจิทัลต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญและเข้าใจความเสี่ยงจากการลงทุนในโทเคนดิจิทัล ซึ่งเป็นประโยชน์ในการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชน (มาตรา 17 วรรคสาม และมาตรา 18)

2.3 กำหนดให้การเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 17 จะกระทำได้ต่อเมื่อแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนมีผลใช้บังคับแล้ว และต้องเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. เท่านั้น ซึ่งจะทำหน้าที่ในการกลั่นกรองการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (มาตรา 19)

2.4 กำหนดให้ผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลจัดทำและส่งข้อมูลรายงานเกี่ยวกับผลการดำเนินงานและฐานะการเงิน และข้อมูลใด ๆ ที่อาจมีผลต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือโทเคนดิจิทัล หรือต่อการตัดสินใจลงทุน หรือต่อการเปลี่ยนแปลงในราคาของโทเคนดิจิทัลต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อให้สำนักงาน ก.ล.ต. มีข้อมูลในการกำกับและควบคุมการเสนอขายโทเคนดิจิทัล (มาตรา 25)

3. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

3.1 กำหนดความหมายของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ให้หมายความถึง การประกอบธุรกิจ 3ประเภท ได้แก่
(1) ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
(2) นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และ
(3) ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสามารถประกาศกำหนดการประกอบธุรกิจอื่นที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่ประสงค์จะกำกับและควบคุมเพิ่มเติมได้นอกเหนือจากธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลทั้ง 3 ประเภทดังกล่าว เพื่อกำกับและควบคุมธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นที่อาจมีเพิ่มขึ้นในอนาคตได้ (มาตรา 3 บทนิยาม)

3.2 กำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ในการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล การเป็นนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และการเป็นผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. โดยรัฐมนตรีสามารถกำหนดเงื่อนไขที่ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติในการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ (มาตรา 26) และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด (มาตรา 30)

มีข้อพึงพิจารณาด้วยว่า หากผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะรับคริปโทเคอร์เรนซีเป็นการตอบแทนหรือในการทำธุรกรรมแล้วแต่กรณี ให้รับได้เฉพาะคริปโทเคอร์เรนซีที่ได้มาจากการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน หรือฝากไว้กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตตามพระราชกำหนดนี้เท่านั้น เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการนำสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ไม่ทราบแหล่งที่มาที่ชัดเจนไปใช้ประโยชน์โดยไม่สุจริต หรือกระทำการใดในลักษณะที่เป็นการหลอกลวงหรือเกี่ยวข้องกับการประกอบอาชญากรรม (มาตรา 9)

4. การป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

โดยมีการกำหนดบทบัญญัติเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือการซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล โดยใช้แนวทางเดียวกับการกำหนดลักษณะการกระทำอันไม่เป็นธรรม ในกรณีของการซื้อขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากมีลักษณะการกระทำความผิดในลักษณะใกล้เคียงกัน ได้แก่ การบิดเบือนข้อมูล การเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จ การเปิดเผยข้อมูลที่อาจทำให้ผู้ลงทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องเสียหาย การเอาเปรียบ ผู้ลงทุนโดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่รู้มา การสร้างราคาจนทำให้เกิดความเข้าใจผิดในราคาหรือปริมาณสินทรัพย์ดิจิทัลที่แท้จริงที่ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด เป็นต้น (มาตรา 38 ถึง มาตรา 50)

สำหรับโทษทางอาญา นั้นได้มีการกำหนดบทกำหนดโทษกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดนี้ โดยเทียบเคียงจากบทกำหนดโทษและอัตราโทษตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากมีการกำกับและควบคุมในลักษณะเดียวกัน (มาตรา 57 ถึงมาตรา 95)

ส่วนมาตรการลงโทษทางแพ่ง ได้กำหนดให้การกระทำความผิดบางมาตรา เป็นการกระทำความผิดที่อาจดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดนั้นได้ (มาตรา 96 ถึงมาตรา 99)

เเละยังมีบทเฉพาะกาล ที่กำหนดบทเฉพาะกาลให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้ประกอบธุรกิจอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับและเป็นธุรกิจที่ต้องขออนุญาตตามพระราชกำหนดนี้ หากจะดำเนินกิจการต่อไป ให้ยื่นคำขออนุญาตตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดนี้ ภายใน 90 วันนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้มีผลใช้บังคับ

นอกจากนี้ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เช่นเดียวกัน ได้กำหนดให้เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกัน ที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัล และผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลเฉพาะที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร และกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ15 ของเงินได้ดังกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image