ร้อง กทม.สักแต่ตัดไม้จนเหี้ยน ไม่เหลือใบ ชายหมู ตั้ง’รุกขกร’ออกศัลยกรรมต้นไม้ทั่วกรุง

เมื่อวันที่ 26 เมษายน บริเวณสะพานลอยทางเข้าศูนย์บริการสาธารณสุข 17 ถนนเทศบาลสงเคราะห์ เขตจตุจักร นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจและตรวจการตัดแต่งต้นไม้ใหญ่อย่างถูกวิธีร่วมกับภาคประชาชน นักวิชาการ และกลุ่มบิ๊กทรี (BIG TREE)

นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม.ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับการตัดแต่งต้นไม้ริมถนนและพื้นที่สาธารณะว่าไม่เหมาะสมและไม่สวยงาม จนไม่เหลือร่มเงา ล่าสุด ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม.ได้มีคำสั่งให้สำนักสิ่งแวดล้อม พิจารณาระเบียบกรุงเทพมหานคร กำหนดให้มีรุกขกร หรือนักศัลยกรรมดูแลต้นไม้ ด้วยการให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เปิดลงทะเบียนให้ประชาชนร่วมเป็นอาสาสมัครดูแลต้นไม้ ซึ่งจะได้รับการอบรมจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้มีความรู้เรื่องการตัดแต่งต้นไม้อย่างถูกวิธี เพื่อร่วมสอดส่องการทำงานของเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตเมื่อมีการตัดแต่งต้นไม้ให้เหมาะสม นอกจากนี้ให้ประสานกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพื่อขอถ่ายโอนความรับผิดชอบดูแลต้นไม้มาให้กทม.ทั้งหมด โดยในระหว่างนี้ให้ร่วมบูรณาการทำงานให้การตัดแต่งต้นไม้เป็นไปในทิศทางเดียว และให้สำนักงานเขตประสานภาคเอกชนเพื่อขอความร่วมมือดูแลต้นไม้ในบริเวณใกล้เคียง โดยอาจจัดทำป้ายขอบคุณภาคเอกชนเป็นการตอบแทน พร้อมให้เขตฯ จัดทำแผนผังการดูแลต้นไม้แต่ละพื้นที่ โดยให้ดำเนินการภายใน 60 วัน

นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า ทั้งนี้ได้เริ่มนำร่องที่ ถนนเทศบาลสงเคราะห์ เขตจตุจักร ซึ่งมีต้นไม้ใหญ่จำนวนมากถึง 258 ต้น อาทิ ต้นเหลืองปรีดียาธร ต้นชมพูพันทิพย์ ต้นประดู่ ต้นจามจุรี เป็นต้น ซึ่งมีประชาชนทั้งเห็นด้วยให้ตัดแต่งกับไม่เห็นด้วย เนื่องจากกังวลว่าจะตัดแต่งไม่เหมาะสม ทางเขตจตุจักรจึงได้ร่วมกับรุกขกรจากกลุ่มบิ๊กทรี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการดูแลต้นไม้ มาร่วมตัดแต่งต้นไม้ให้เหมาะสม โดยจะตัดแต่งเฉพาะกิ่งที่เป็นปัญหาอาจสร้างอันตรายและกีดขวางสายสาธารณูปโภค จะไม่ตัดจนเหี้ยนเตียนไม่เหลือร่มเงา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และเมื่อมีรุกขกรแล้วการตัดแต่งต้นไม้ในกรุงเทพฯ จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างเหมาะสมในทุกพื้นที่

ด้านน.ส.ลินนา กนกนิตย์อนันต์ รุกขกรจากโรงเรียนต้นไม้ กลุ่มบิ๊กทรี กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของการตัดแต่งต้นไม้คือเพื่อความปลอดภัยและความสวยงาม แต่ที่ผ่านมามักมีข้อร้องเรียนจากประชาชนว่าการตัดแต่งต้นไม้ไม่เหมาะสมและไม่ถูกวิธี เกิดเป็นกิ่งกระโดงงอกขึ้นมาใหม่ทดแทน ซึ่งกิ่งกระโดงมักขึ้นพร้อมกัน 2-3 กิ่ง เกิดเป็นปัญหาให้ต้องตัดแต่งบ่อยครั้งขึ้น และบางครั้งมีการตัดแต่งจนกุดทั้งต้น ขาดร่มเงาไม้จนดูแห้งแล้ง ดังนั้นรุกขกรเมื่อผ่านการอบรมจะร่วมดูแลและคอยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐให้การตัดแต่งถูกวิธี กิ่งไม้งอกใหม่อย่างเหมาะสมตามประเภทของต้นไม้ โดยจะตัดแต่งเฉพาะกิ่งที่เป็นปัญหา หลบหลีกเฉพาะจุดที่อาจสร้างความเสียหาย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image