แนะใช้ ‘พัดลมไอน้ำ’ ดับร้อน ตั้งในที่โล่งแจ้ง หมั่นทำความสะอาด ห้ามใช้น้ำคลอง

กรณีที่โรงพยาบาล (รพ.) สงขลานครินทร์ ออกหนังสือเวียนให้งดการใช้พัดลมไอน้ำไอเย็นในหอผู้ป่วยและหน่วยงานในโรงพยาบาล เนื่องจากได้ทบทวนผลการวิจัยพบว่า ละอองน้ำที่มีการปนเปื้อนในภาชนะบรรจุน้ำภายในเครื่องที่ไม่ได้ทำความสะอาดหรือบำรุงรักษาที่เหมาะสม อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจเรื้อรังได้ โดยเฉพาะเชื้อลีเจียนแนร์ (Legionnaires) ซึ่งอาศัยอยู่ในน้ำทนต่อสภาพอุณหภูมิที่ต่ำนั้น

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ใช้พัดลมไอน้ำช่วยคลายร้อนได้ เพราะละอองไอน้ำจากพัดลมจะช่วยเพิ่มความชื้นในอากาศ แต่แนะนำให้ใช้พัดลมชนิดนี้ในที่โล่งแจ้ง เนื่องจากระบบอากาศหมุนเวียนถ่ายเทได้ดี แต่ไม่เหมาะที่จะใช้ในช่วงหน้าฝนและหน้าหนาว เนื่องจากในอากาศมีความชื้นสูงอยู่แล้ว สำหรับการนำพัดลมไอน้ำมาใช้ในห้อง ซึ่งมีพื้นที่มิดชิด อากาศถ่ายเทไม่ดี ไม่แนะนำ เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มความชื้นในห้องให้สูงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ที่ป่วยอยู่แล้วโดยเฉพาะผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งขณะนี้มีส่วนหนึ่งที่พักฟื้นที่บ้าน ส่วนใหญ่มักเป็นผู้สูงอายุ รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคทางเดินหายใจอยู่แล้ว เช่น ไข้หวัด อาจเสี่ยงทำให้เกิดโรคปอดบวมได้ หากจำเป็นต้องใช้พัดลม แนะนำให้ใช้พัดลมธรรมดา

“ทั้งนี้ในการใช้พัดลมไอน้ำที่ปลอดภัย ขอแนะนำให้ประชาชนยึดหลักดังนี้ 1.ทำความสะอาดถังบรรจุน้ำ หากเป็นไปได้ควรทำทุกวัน โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อหรือใช้ผงซักฟอกทั่วไปก็ได้ และทำความสะอาดหัวฉีดไม่ให้อุดตัน หรือเป็นจุดเก็บกักเชื้อโรค 2.น้ำที่นำมาใช้กับพัดลมควรเป็นน้ำที่สะอาด ผ่านระบบการฆ่าเชื้อมาแล้ว เช่น น้ำประปา หรือน้ำดื่มบรรจุขวดทั่วไป ห้ามใช้น้ำคลอง หรือน้ำบ่อ เพราะหากมีเชื้อโรคในน้ำ จะทำให้ร่างกายสูดเอาเชื้อโรคเข้าไปด้วย โดยได้กำชับให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เร่งให้คำแนะนำประชาชนในพื้นที่ในการใช้พัดลมไอน้ำได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยแล้ว” น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าว

ทางด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า สบส.ได้จัดระบบดูแลความปลอดภัยของระบบปรับอากาศภายในโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ส่วนใหญ่ใช้เครื่องปรับอากาศ มีส่วนน้อยที่ใช้พัดลม โดยส่งเจ้าหน้าที่จากกองวิศวกรรมทางการแพทย์ตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติที่ใช้บริการ รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานมีความสุขสบายและปลอดภัย ที่ผ่านมา ไม่พบเชื้อลีเจียนแนร์แต่อย่างใด

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image