เปิดกองอำนวยการพระราชพิธีฯ เผย 16 เส้นทางร่วมงาน ขสมก.จัดรถ 900 คัน

พล.ต.ต.จิรสันต์ พล.ต.ท.ปิยะ และนายวิทยา

เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม กรุงเทพฯ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายรักษาความปลอดภัยและรักษาการจราจรงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 เป็นประธานการเปิดกองอำนวยการร่วมถวายความปลอดภัยและการจราจรงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และประชุมการดำเนินงาน โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้แทนหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เข้าร่วม ภายหลังการประชุมได้จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร ได้มาเป็นประธานเปิดกองอำนวยการร่วมฯ อย่างเป็นทางการในวันแรก โดยจะดำเนินการตั้งแต่วันนี้ถึง 7 พฤษภาคม ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการรักษาความปลอดภัย และการจราจร ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมดูแลในริ้วขบวนการเชิญคนโทน้ำอภิเษกจากกระทรวงมหาดไทยไปยังวัดสุทัศนเทพวราราม โดยทุกอย่างเป็นไปด้วยดี และสมพระเกียรติที่สุด

พล.ต.ท.ปิยะ กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินการของกองอำนวยการร่วมฯ ได้สรุปเป็น 7 แนวทางหลัก คือ 1.จะมีการประชุมทุกวัน ในเวลา 09.00 น. โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมผลัดเป็นประธาน จากนั้นก่อนเวลา 12.00 น. ต้องสรุปผลการประชุมให้พล.อ.ประวิตร รับทราบ 2.จากนี้ทุกหน่วยงานจะต้องติดตามการข่าวอย่างใกล้ชิดและทุกสถานการณ์ ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินงานสามารถปรับเปลี่ยนได้ทันท่วงที 3.มีการแบ่งพื้นที่เป็น 6 โซน โดยมีผู้บังคับบัญชา 6 นายดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องพิสูจน์ทราบบุคคล ยานพาหนะ สิ่งของเครื่องใช้ มีการสแกนอย่างละเอียดทั้งบนบก ทางน้ำ และอากาศ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นพิธี เพื่อให้รู้ข้อมูลในพื้นที่อย่างละเอียด 4.ต้องมีการซักซ้อมการทำงานในทุกระดับเพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และรู้หน้าที่ของตัวเองอย่างชัดเจน 5.การปฏิบัติหน้าที่ทั้ง 6 โซน จุดคัดกรองทั้ง 21 จุดรอบบริเวณ จะมีการนำเครื่องมือการสื่อสาร ทั้งระบบฐานข้อมูล การสแกนใบหน้า จะมีการสแกนใบหน้า กล้องวงจรปิด จะมีการเชื่อมโยงมายังกองอำนวยการร่วมตลอด 24 ชั่วโมง 6.ผู้บังคับบัญชาในทุกระดับ ต้องลงลึกในระดับผู้ปฏิบัติงานอย่างละเอียด วางระบบอย่างชัดเจน และ 7.พล.อ.ประวิตรได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างสมบูรณ์ สมพระเกียรติ และเป็นไปตามพระราชประสงค์ นอกจากนี้ สำหรับจิตอาสาเฉพาะกิจ จะมีการฝึกอบรมตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน นี้เป็นต้นไป

ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า สำหรับงานพระราชพิธีฯ ข้าราชการทุกนาย ตลอดจนทุกส่วนที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมในพระราชพิธีฯ ในครั้งนี้ถือเป็นเกียรติอย่างสูงสุด และจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด อย่างไรก็ตามอยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนมาร่วมมาเป็นส่วนหนึ่งในพิธีอันสำคัญยิ่ง โดยเจ้าหน้าที่ทุกคนจะดูแลอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ เพราะเราถือว่าประชาชนทุกคนเป็นแขกของพระองค์ท่าน

Advertisement

“นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนที่จะมาร่วมงานพระราชพิธี การนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานโรงครัวตามจุดพักต่างๆ เช่น จุดพักสนามม้านางเลิ้ง จุดพักวัดเทพศิรินทราวาส เพื่อดูแลเรื่องอาหารกลางกินแก่ประชาชน” พล.ต.ท.ปิยะ กล่าว

พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) กล่าวว่า การฝึกซ้อมริ้วขบวนพยุหยาตราสถลมารคพื้นที่จริงเมื่อวันที่ 17 เมษายน ซึ่งมีการปิดการจราจร 40 เส้นทางนั้น ในการดำเนินการเราได้ทยอยเปิดการจราจรในเส้นทางที่ริ้วขบวนเคลื่อนผ่านไปแล้วเป็นระยะๆ เพื่อลดผลกระทบการจราจรให้น้อยที่สุด พบว่าภาพรวมการดำเนินการว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนแต่อย่างใด ก่อนนำไปปฏิบัติอีกครั้งในการฝึกซ้อมริ้วขบวนพยุหยาตราสถลมารคในวันที่ 21 เมษายน ที่จะเริ่มปิดการจราจร 40 เส้นทาง ตั้งแต่เวลา 16.00-22.00 น. ขณะที่ขบวนเชิญคนโทน้ำอภิเษกจากศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย ไปยังวัดสุทัศนเทพวรารามเมื่อช่วงเช้าวันที่ 18 เมษายน ที่ปิดการจราจร 7 เส้นทาง พบการดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนในวันที่ 19 เมษายน ที่จะมีขบวนเชิญคนโทน้ำอภิเษกจากวัดสุทัศนเทพวราราม ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ระยะทาง 1.8 กิโลเมตร จะปิดการจราจร 16 เส้นทาง ตั้งแต่เวลา 06.00-11.00 น. ซึ่งเมื่อขบวนเชิญคนโทน้ำอภิเษกถึงยังจุดหมาย จะเปิดการจราจรอย่างรวดเร็ว เพื่อลดผลกระทบการจราจรต่อไป

นายวิทยา ยาม่วง รักษาการผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กองอำนวยการร่วมฯได้มอบหมายให้ กระทรวงคมนาคม รับผิดชอบงานอำนวยความสะดวกการเดินทางให้บริการประชาชนเข้าร่วมงานพิธีบรมราชาภิเษก ระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม โดยมีแผนการดำเนินงานดังนี้ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) ได้จัดเตรียมรถให้บริการรับ-ส่งประชาชนจำนวน 900 คัน โดยจัดเส้นทางเดินรถอำนวยความสะดวกทั้งหมด 16 เส้นทางแบ่งออกเป็นเส้นทางเดินรถชัตเตอร์บัสจำนวน 11 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.เส้นทางเดินรถจากเมืองทองธานี, ศูนย์ราชการแจังวัฒนะ-สนามม้านางเลิ้ง 2.จากสโมสรตำรวจ-มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(ถนนวิภาวดี)-สนามม้านางเลิ้ง 3.จากสโมสรกองทัพบก, กทม.2 (ถนนวิภาวดี)-สนามม้านางเลิ้ง 4.จากฟิวเจอร์พาร์ครังสิต-สนามม้านางเลิ้ง 5.จากรฟม.พระราม9, สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลาดพร้าว, ศาลอาญารัชดา, สนง.อัยการสูงสุด-บ้านมนังคศิลา 6.จากอิเกีย, เมกาบางนา-บ้านมนังคศิลา 7.จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหราลาดกระบัง-บ้านมนังคศิลา 8.จากท่าเรือคลองเตย, โรงงานยาสูบ, แอร์พอร์ตลิงค์มักกะสัน-บ้านมนังคศิลา 9.จากเซ็นทรัลพระราม2, โรงเรียนบางมดวิทยา-วัดเทพศิรินทร์ 10.จากเซ็นทรัลศาลายา,?พุทธมณฑลสาย 4, อู่จอดรถบรมราชชนนี, วิทยาลัยทองสุข-เชิงสะพานพระราม 8 และ11.จากเซ็นทรัลเวสเกตบางใหญ่-เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า

Advertisement

นอกจากนี้ยังได้จัดเส้นทางรถเฉพาะกิจรับส่งทุกป้ายจำนวน 5 เส้นทาง ประกอบด้วย อนุสาวรีย์ชัย-สนามม้านางเลิ้ง, สถานีขนส่งจตุจักร-สนามม้านางเลิ้ง, วงเวียนใหญ่-สะพานพระพุทธยอดฟ้า, สนามศุภชลาศัย-บ้านมนังคศิลา และสถานีขนส่งกรุงเทพ (สายใต้ใหม่)-สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า

ขณะเดียวกันยังได้กำหนดจุดจอดรถยนต์ส่วนบุคคลเพื่อต่อรถชัตเตอร์บัสถึงบริเวณพื้นที่ราชพิธีจำนวน 25 จุด ได้แก่ เมืองทองธานี, ศูนย์ราชการฯแจ้งวัฒนะ, สโมสรตำรวจ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สโมสรกองทัพบก, กทม.2, ฟิวเจอร์พาร์ครังสิต, ที่จอดรถของรถไฟฟ้าใต้ดินรัชดาภิเษก, ลานจอดรถใต้ดินลาดพร้าว, ศาลอาญารัชดา, สำนักงานอัยการสูงสุด, อีเกียบางนา, เมกาบางนา, ศูนย์ประชุมไบเทคบางนา, สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าลาดกระบัง, ท่าเรือคลองเตย (ใกล้สน.ทางด่วน 1), โรงงานยาสูบ, แอร์พอร์ตลิงค์มักกะสัน, เซ็นทรัลพระราม 2, โรงเรียนบางมดวิทยา, ลานพุทธมณฑลสาย 4, เซ็นทรัลศาลายา, อู่จอดรถบรมราชชนนี, วิทยาลัยทองสุข และเซ็นทรัลเวสเก็ตบางใหญ่ ซึ่งสามารถจอดรถได้รวม 40,000 คัน ซึ่งสามารถต่อรถชัตเตอร์บัสเพื่อเข้าสู่จุดรวมพลจำนวน 6 จุด ได้แก่ สนามม้านางเลิ้ง, บ้านมนังคศิลา, วัดเทพศิรินทราวาส, สะพานพระราม 8, สะพานพระพุทธยอดฟ้า และเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า เพื่อเดินเท้าต่อสู่พื้นที่งานพระราชพิธี

ในแผนการเดินรถได้จัดเตรียมการเดินขบวนรถพิเศษช่วงงานพระราชพิธีโดยใช้รถดีเซลรางชั้น 3 เส้นทางละ 1 ชุดๆ ละ 4 คัน เดินใน 4 เส้นทางดังนี้ 1.เส้นสายทางสายเหนือ จากสถานีอยุธยา-กรุงเทพฯ-อยุธยา 2.เส้นทางสายใต้ จากสถานีนครปฐม-ธนบุรี-นครปฐม 3.เส้นทางสายตะวันออก จากสถานีชุมทางฉะเชิงเทรา-กรุงเทพฯ-ชุมทางฉะเชิงเทรา และ4.เส้นทางสายแม่กลองจากสถานีมหาชัย-วงเวียนใหญ่-มหาชัย โดยประชาชนที่จะใช้บริการขบวนรถพิเศษสามารถจอดรถได้ตามสถานีรถไฟต่างๆ จากนั้นใช้บริการชัตเติลบัสเข้าสู่บริเวณพระราชพิธี

ส่วนกรมเจ้าท่ารับผิดชอบการจัดเดินเรืออำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชน โดยจัดเตรียมเรือข้ามฟากและเรือด่วนเจ้าพระยาในหลายเส้นทาง อาทิ จากจังหวัดนนทบุรีไปยังท่าเรือปิ่นเกล้า, จากท่าเรือสาทรไปสะพานพระพุทธยอดฟ้า นอกจากนี้คมนาคมได้ร่วมปฎิบัติงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดจราจร เตรียมอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการทางพิเศษ รวมทั้งบริหารจัดการ กรณีรถเสีย อุบัติเหตุ ได้จัดเตรียมรถยกเพื่อช่วยแก้ปัญหาจราจรให้สอดคล้องกัน ซึ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้มีการซักซ้อมแผนและมีความพร้อมในช่วงงานพระราชพิธี โดยใช้โมเดลการทำงานใหญ่ๆ ที่ผ่านมาเป็นต้นแบบและบทเรียน

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image