เรียกเก็บหนี้ค่าบาดาลทั่วประเทศ อยุธยามากสุด 152 ล้าน เผยโรงงานอุตฯดึงใช้มากสุด

เรียกเก็บหนี้ค่าน้ำบาดาลทั่วประเทศกว่า 350 ล้านบาท อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยทวง แฉ ‘พระนครศรีอยุธยา’ มากสุดกว่า 152 ล้านบาท รองลงมาเป็น ‘สมุทรสาคร’ 137 ล้าน ทั้งที่ค่าน้ำแค่ 2.60 บาทต่อคิวเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมและภาคเอกชน เผยแต่ละปีฟ้องร้องมากกว่า 8 พันคดี ประสานผู้บังคับการ ปทส.ขอกำลังเจ้าหน้าที่จับขบวนการลักลอบขุดเจาะบ่อบาดาลผิดกฎหมาย

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ทบ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทบ.ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อขอให้ช่วยเร่งรัดติดตามค่าใช้น้ำบาดาลและค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล ที่มียอดค้างชำระกว่า 350 ล้านบาท จาก 58 จังหวัด ที่มีการขออนุญาตใช้น้ำบาดาล โดย 10 จังหวัด ที่มียอดค้างชำระมากที่สุด คือ พระนครศรีอยุธยา จำนวน 152,726,464.07 บาท สมุทรสาคร จำนวน 137,604,172.86 บาท สมุทรปราการ จำนวน 7,800,628.54 บาท นนทบุรี จำนวน 5,812,115.30 บาท นครปฐม จำนวน 5,227,195.04 บาท นครราชสีมา จำนวน 4,834,855.24 บาท เชียงใหม่ จำนวน 3,476,447.64 บาท สงขลา จำนวน 1,823,157.71 บาท สระบุรี จำนวน 1,267,568.84 บาท ภูเก็ต จำนวน 1,230,654.10 บาท รองลงมา อาทิ ปทุมธานี จำนวน 1,145,145.20 บาท มหาสารคาม จำนวน 1,060,691.24 บาท ขอนแก่น จำนวน 983,445.88 บาท อุบลราชธานี จำนวน 978,296.76 บาท บุรีรัมย์ จำนวน 908,611.77 บาท เป็นต้น โดยหน่วยงานที่ค้างชำระหรือติดหนี้น้ำบาดาล ส่วนใหญ่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม ภาคเอกชนและบริษัทห้างร้าน ทั้งนี้ ในแต่ละปี ทบ.มีการฟ้องคดีหน่วยงานที่ค้างชำระมากกว่า 8 พันคดี

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกล่าวต่อว่า การจัดเก็บค่าน้ำบาดาล ถือว่าไม่ได้มีราคาแพง ในพื้นที่ต่างจังหวัด จัดเก็บเพียง 2.60 บาทต่อคิวเท่านั้น ขณะที่ในพื้นที่กรุงเทพฯ จัดเก็บ 8.50 บาท รวมกับค่าอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีก 4.50 บาท เพราะพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นดินค่อนข้างอ่อน จึงมีค่าอนุรักษ์เพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่ได้จากน้ำบาดาลถือว่ามีมูลค่ามหาศาลกว่าค่าน้ำที่ไม่ได้จัดเก็บแพงเลย ยอดค้างชำระ ถือเป็นทรัพย์สินของราชการที่จะติดตามกลับมาสู่หน่วยงานราชการต่อไป เพื่อนำไปดูแลรักษาระบบน้ำบาดาลของประเทศที่ถือเป็นขุมทรัพย์ใต้ดิน

Advertisement

นายศักดิ์ดากล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตนได้ประสานกับ พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปทส.) เพื่อขอกำลังเจ้าหน้าที่มาช่วยป้องกันการลักลอบเจาะน้ำบาดาลและการลักลอบใช้น้ำบาดาลอย่างผิดกฎหมาย รวมทั้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.น้ำบาดาล พ.ศ.2562 เข้าตรวจสอบพื้นที่ที่มีการลักลอบขุดเจาะได้ เพราะปัจจุบันมีขบวนการลักลอบขุดหรือเจาะน้ำบาดาลอยู่จำนวนมาก โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเขาไปตรวจสอบได้ เนื่องจากกฎหมายไม่เอื้ออำนวย อย่าลืมว่าน้ำบาดาลของประเทศไทย ถือเป็นน้ำบาดาลที่มีคุณภาพดีติดอันดับโลก น้ำแร่ที่มีชื่อเสียงของต่างประเทศที่จำหน่ายกันอยู่ในประเทศไทย ก็มาจากแหล่งน้ำบาดาลของประเทศไทยทั้งสิ้น อาทิ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ จ.ตาก จ.เชียงราย จ.ขอนแก่น จ.กำแพงเพชร อ.สามโคก จ.ปทุมธานี หรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น ถ้าปล่อยให้มีการลักลอบขุดเจาะน้ำบาดาล จะส่งผลเสียหายต่อชั้นดินและคุณภาพของน้ำบาดาล ทำให้ดินเสีย เนื่องจากชั้นดินแต่ละชั้นมีค่าไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ระดับ 50 เมตร ถึง 500 เมตร รวม 8 ชั้นดิน เช่น ชั้นดินด้านบนมีความเค็ม ขณะที่ชั้นต่อมาเป็นน้ำบาดาลคุณภาพดี ถ้ามีการลักลอบขุดเจาะโดยไม่มีความรู้จะทำให้ชั้นดินเสียทั้งหมดทุกชั้น กลายเป็นดินเค็มและน้ำเค็มทั้งหมด

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลกล่าวด้วยว่า ทบ.พยายามนำบ่อน้ำบาดาลนอกระบบเข้าสู่ระบบ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบน้ำของประเทศ เพราะนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรี ทส. ได้ให้นโยบายเร่งด่วนคือการจัดทำแผนที่น้ำบาดาลทั่วประเทศ เพื่อรับมือภัยแล้ง โดย ทบ.จะเร่งขุดเจาะแหล่งน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ ที่มีคุณภาพมารองรับความต้องการใช้น้ำที่มีมากขึ้นช่วงเกิดภัยแล้ง ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณน้ำบาดาลกักเก็บรวมถึง 1.13 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image