‘มักกะลีผล’ รูปหญิงเปลือย โผล่อีก ‘พยัคฆ์ไพร’ รุดตรวจ ชี้แค่ปูนปลาสเตอร์หล่อ

ผู้สื่อข่าวรายงาน ขณะนี้มีการแชร์ภาพ และส่งต่อผ่านระบบโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างแพร่หลาย ว่าด้วยเรื่อง ต้นมักกะลีผล หรือ ต้นนารีผล ที่เป็นต้นไม้ ซึ่งออกผลมามีรูปร่างคล้ายผู้หญิงเปลือยกาย ต้นไม้ในป่าหิมพานต์ ในเทพนิยาย โดยระบุว่า ไม้ดังกล่าวมีจริง ใครอยากเห็นของจริง ให้ไปดูได้ที่ พุทธธรรมสถานผาซ่อนแก้ว อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ นั้น

วันที่ 17 มิถุนายน ผศ.สราวุธ สังข์แก้ว อาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ให้สัมภาษณ์ว่า วิชาวนศาสตร์ เรียนกันบนพื้นฐานชีววิทยา รุกขวิทยา คือ โลกทั้งโลกมีชนิดของพันธุ์พืชที่อิงกันหมด มีการจัดเรียงตามชนิดพันธุ์ วงศ์ สกุล ต่างๆ ภายใต้ชื่อวิทยาศาสตร์ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นก็จะมีการเรียกขานที่แตกต่างกัน แต่จากภาพที่มีการแชร์ต่อๆ กันมานั้น ไม่เคยเห็น เชื่อว่าไม่มีแน่นอน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ มีวิทยาการ ใช้บล็อก รูปทรงต่างๆ ไปครอบไว้ที่ผลของต้นไม้บางชนิด เช่น ไม้ในวงศ์มะเขือ เพื่อให้มีรูปร่างออกมาคล้ายกับบล็อก ที่นำไปครอบได้

“บล็อกที่ใช้เป็นบล็อกอะไรก็ได้ รูปสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หรือกระทั่งรูปโดเรมอน ยังมีเลยครับ จึงไม่แปลกที่จะมีบล็อกรูปนารีผล ที่เป็นรูปผู้หญิงเปลือยเหมือนกัน” ผศ.สราวุธ กล่าว

ทางด้านนายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพร ในฐานะนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญป่าไม้ ระดับ 9 กรมป่าไม้ กล่าวว่า มาปฏิบัติราชการเรื่องยึดคืนพื้นที่ป่า ที่ จ.เพชรบูรณ์พอดี จึงให้เจ้าหน้าที่พยัคฆ์ชุดหนึ่ง ไปสืบทางลับเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้รับรายงานกลับมาว่า ภาพที่มีการแชร์ และส่งต่อกันผ่านระบบโซเชียลนั้น อยู่ที่พิกัด 0717190E 1857847N ติดกับถนนลาดยาง กลางตลาด ตรงกันข้ามกับปั๊ม ปตท. อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์

Advertisement

“ได้รับรายงานมาว่า มองไกลๆ ต้นนารีผล หรือมักกะลีผล ที่มีการแชร์กันนั้น เหมือนต้นไม้จริงๆ มีผลที่ห้อยลงมา คล้ายกับผู้หญิงเปลือยจริงๆ แต่เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ ก็พบว่า ไม้ดังกล่าวไม่ใช่ต้นไม้จริง เป็นปูนปลาสเตอร์ที่ถูกหล่อให้เหมือนต้นไม้จริงๆ ส่วนผลของนารีผลนั้น ก็เป็นแค่พลาสติกที่ทำขึ้นมา ไม่ใช่ผลไม้จริงๆ แต่อย่างใดเลย เราเข้าใจว่า คนที่ทำขึ้นมาก็ไม่ได้มีเจตนาหลอกลวงอะไรใคร เพราะบริเวณรอบๆ ที่มีต้นไม้ต้นนี้ ก็ได้ถูกจัดเป็นสวน เหมือนป่าหิมพานต์ในเทพนิยาย ซึ่งก็คงจะเอาไว้สำหรับเป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่มีคนไปเห็น แล้วถ่ายรูปมา จนเกิดการส่งต่อๆ กัน กลายเป็นความเข้าใจผิด ว่าต้นไม้ดังกล่าวนี้มีจริง ซึ่งในหลักวนศาสตร์แล้เว ไม้แบบนี้ไม่น่าจะมีจริง จะมีก็แต่การจินตนาการเพื่อให้ออกมาเป็นเทพนิยายเล่าต่อกันสนุกๆ เท่านั้น” นายชีวะภาพ กล่าว

IMG_0696

IMG_0697

Advertisement

IMG_0698

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image