กลุ่มค้านทางเลียบฯ ยื่นศาลเพิกถอนใบอนุญาตโครงการ จี้ ถ้าสร้างก่อนต้องรื้อ!

กลุ่มค้านทางเลียบฯ ยื่นศาลเพิกถอนใบอนุญาตโครงการ จี้ ถ้าสร้างก่อนต้องรื้อ!

สืบเนื่องกรณี กทม.ประกาศเดินหน้าโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา หรือทางเลียบเจ้าพระยา กระทั่งสมัชชาแม่น้ำและองค์กรเครือข่ายจัดแถลงข่าวคัดค้านอีกครั้งเมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา กระทั่งสำนักการโยธาออกหนังสือด่วนที่สุดเชิญสมัชชาแม่น้ำและเครือข่ายหารือ แต่ถูกปฏิเสธนั้น

เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการด้านผังเมือง เปิดเผยว่า ล่าสุด ได้เดินทางไปยังศาลปกครอง แจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมาเพื่อยื่นฟ้องแก้ไขเพิ่มเติม โดยขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกให้สำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ ในสังกัดกรมเจ้าท่า และกรมเจ้าท่า เป็นผู้ถูกฟ้องคดีเพิ่มขึ้น เพราะจากเอกสารคำให้การของผู้ถูกฟ้องที่เครือข่ายได้รับจากศาล ทำให้ทราบว่ากรมเจ้าท่าได้ออกใบอนุญาตให้กับ กทม.ทำโครงการที่ล่วงล้ำลำน้ำ โดยเป็นการออกใบอนุญาตก่อนที่สมัชชาจะฟ้องเพียง 2-3 วัน ทำให้เดิมตนไม่ทราบข้อมูลนี้ เพราะไม่มีกระบวนการรับฟัง หรือเปิดเผยข้อมูล

ย้อนอ่าน : 35 องค์กรเมินคุยปม ‘ทางเลียบเจ้าพระยา’ หลังกทม.เชิญหารือ จี้เลิกสถานเดียว

Advertisement

“ที่ผ่านมาทางสมัชชาแม่น้ำได้เรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลและทบทวนโครงการมาตลอด และไม่มีความชัดเจนว่าได้มีการตรวจสอบแบบ และได้รับการอนุญาตจากผู้มีกรรมสิทธิ์ที่อยู่ริมน้ำแล้วหรือไม่ และขั้นตอนการอนุมัติอนุญาตก็ไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็น เนื่องด้วยโครงการนี้ดำเนินการเป็นระยะทางยาวทั้งสองฝั่งลำนั้าผ่านที่ส่วนบุคคลและสถานที่สำคัญ

“เรายื่นขอให้ศาลเพิกถอนใบอนุญาตของโครงการนี้ และหากมีการก่อสร้างไปก่อน ขอให้มีการรื้อถอน รวมทั้งครั้งนี้เราได้ยื่นขอคุ้มครองด้วย โดยขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวโดยให้ระงับการดำเนินโครงการนี้ รวมทั้งระงับการประกวดราคาหรือการก่อสร้าง จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
เพราะการเข้าถึงแม่น้ำด้วยทางจักรยานในแม่น้ำ ไม่ได้เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน” นางภารนีกล่าว และว่า สำหรับการที่ กทม. มีหนังสือเชิญสมัชขาแม่น้ำเข้าพบหารือวันนี้นั้น ทางสมัชชาไม่ไปพบเพื่อหารือแนวทางพัฒนาโครงการทางเลียบเจ้าพระยา แต่จะไปพบเมื่อ กทม. ประกาศยกเลิกโครงการนี้ และหารือถึงภาพรวมในการพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ ที่ต้องมีส่วนร่วม ไม่ใช่หารือรูปแบบโครงการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image