อ.วิริยะ ชี้คนพิการเดือดร้อนนับแสน วอนรัฐโอนเงินช่วยเข้าบช.ธนาคาร อย่าให้มานั่งคีย์ข้อมูลเอง

ชี้คนพิการเดือดร้อนนับแสน

เดือดร้อนหนัก! อ.วิริยะ ชี้คนพิการเดือดร้อนนับแสน วอนรัฐโอนเงินช่วยเข้าบช.ธนาคาร อย่าให้มานั่งคีย์ข้อมูลเอง

ชี้คนพิการเดือดร้อนนับแสน – จากกรณีที่ ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ พร้อมด้วยตัวแทนผู้แทนสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม แห่งประเทศไทย ประมาณ 50 คน เดินทางมายื่นหนังสือต่อกระทรวงการคลัง ต้องการให้รัฐจ่ายเงินในมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (โควิด-19) 5,000 บาท 3 เดือนตามที่รัฐบาลออกมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 คนพิการส่วนใหญ่จากจำนวนคนพิการทั้งหมด 2 ล้านคน ยังไม่สามารถเข้าถึงมาตรการนั้น

ศาสตราจารย์วิริยะ ให้สัมภาษณ์กับมติชนว่า หากสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลายในเร็ววันนี้ ต้องพึ่งงบประมาณช่วยเหลือจากทางภาครัฐ” หรือ เงินเยียวยา 5 พันบาท “เราไม่ทิ้งกัน” แต่สำหรับคนตาบอดนั้น ก็ยังต้องประสบกับ “ปัญหา” เรื่องการคีย์ข้อมูลลงทะเบียน

“มีผู้พิการจำนวนมากโทรมาที่สมาคมคนตาบอดฯ ให้ช่วยเหลือในเรื่องของการคีย์ข้อมูล ประมาณ 500 – 600 รายแล้ว เพราะไม่มีคนช่วยคีย์ ครั้นจะคีย์เองก็ไม่สะดวก ทางสมาคมฯ จึงให้เจ้าหน้าที่ช่วยคีย์ข้อมูลให้ รวมถึงพยายามที่จะประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อที่จะให้คนพิการทุกประเภทรับทราบและเข้าถึงสิทธิตรงนี้โดนทั่วกัน” ศาสตราจารย์วิริยะกล่าวและย้ำว่า

“ปัญหาเรื่องการเข้าถึงสิทธิ เป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่สำหรับกลุ่มคนพิการทางสายตาและการได้ยิน คนพิการที่ทราบว่ามีสมาคมให้ความช่วยเหลือได้ จึงติดต่อเข้ามา อันนี้ก็ดีไป แต่ยังมีคนพิการอีกจำนวนมากที่ไม่ทราบ เพราะข่าวสารจากเราก็ส่งไปไม่ทั่วถึง ทำให้พวกเขาเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ” ศาสตราจารย์วิริยะกล่าว

Advertisement

ศาสตราจารย์วิริยะกล่าวอีกว่า จากผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งผลให้ผู้พิการทำงานไม่ได้ ทั้งยังขาดรายได้ในการเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมคนหูหนวก หรือสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ก็ต่างได้รับการติดต่อจากผู้พิการที่ได้รับผลกระทบจำนวนมาก และพยายามให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ที่อยู่ในเครือข่ายสมาชิกของสมาคมอยู่แล้ว

“ซึ่งก็เป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้พิการทั่วประเทศ อย่างเช่น คนตาบอดมีจำนวนหลายแสนคน แต่เป็นสมาชิกสมาคมแค่หลักพัน สะท้อนว่ามีผู้พิการที่อยู่ในพื้นที่ชนบทและอื่นๆ อีกทั่วประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคม ซึ่งก็ไม่รู้ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะได้รับการช่วยเหลืออย่างไรบ้าง และใครจะช่วยเหลือพวกเขา ฉะนั้นหากคนในสังคม พบเห็น หรือมีกำลังความสามารถที่พอจะช่วยเหลือกันได้ ก็อยากให้ช่วยเหลือกัน” ศาสตราจารย์วิริยะ กล่าว

Advertisement

ศาสตราจารย์วิริยะ กล่าวถึงข้อเสนอเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้พิการว่า ในเบื้องต้นทางหน่วยงานสามารถโอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีธนาคารที่คนพิการเปิดไว้สำหรับรับเบี้ยคนพิการอยู่แล้วได้เลย คนพิการก็ไม่ต้องมานั่งคีย์ข้อมูลเอง เพราะทางหน่วยงานรัฐมีข้อมูลของพวกเขาอยู่แล้ว ควรใช้ตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ในการลดขั้นตอนการเข้าถึงสิทธิได้รับเงินเยียวยาของคนพิการ ส่วนคนพิการที่ยังไม่มีข้อมูลก็คีย์ข้อมูลเพิ่มเอา เป็นการเชื่อมโยงบิ๊ก ดาต้า ให้เกิดการบูรณาการเข้ากับหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนั้นๆ โดยตรง

ศาสตราจารย์วิริยะ ระบุว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทาง กระทรวงพม. จะมีนโยบายช่วยเหลือคนพิการ ซึ่งจริงๆ ทาง กรมส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ (พก.) ก็มีบริการกู้ยืมสำหรับคนพิการอยู่แล้ว ตรงนี้ในอนาคตน่าจะมีนโยบายคล้ายธนาคารออมสิน เช่นว่า กู้ 1 หมื่นบาท ต้องมีผู้ค้ำจากนั้นจึงคีย์ข้อมูลผู้กู้ในระบบออนไลน์เลย ไม่ต้องไปย้อนทำเอกสารต่างๆ ไปสำรวจว่าจะประกอบอาชีพอะไร หรือรอรับการประเมินต่างๆ ซึ่งทำให้กระบวนการล่าช้า

“ควรที่จะใช้มาตรการฉุกเฉิน และดำเนินการผ่านระบบเทคโนโลยีและดิจิทัลที่ทันสมัย เพราะในตอนนี้ผู้พิการประกอบอาชีพหลักที่เคยทำไม่ได้ ฉะนั้นจึงไม่มีรายได้ ส่งผลกระทบต่อการหาเลี้ยงชีพโดยตรง และนี่คือปัญหาเร่งด่วน ที่อยากจะเสนอให้ไปถึงกรมส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.)” ศาสตราจารย์วิริยะ กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

คนพิการบุกคลังขอให้ช่วยจ่ายเงินเยียวยา 5 พัน เป็นเวลา 3 เดือน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image