เอ็นจีโอ ชี้เหตุครูข่มขืนนร.สะท้อนอำนาจนิยมรร. จี้ศธ.จริงจัง ‘ความเท่าเทียม’ ในหลักสูตร

ครูข่มขืนนร.

เอ็นจีโอ ชี้เหตุ ครูข่มขืนนร. สะท้อนอำนาจนิยมรร. จี้ศธ.จริงจัง ‘ความเท่าเทียม’ ในหลักสูตร

ครูข่มขืนนร. – จากกรณีเด็กนักเรียน 2 คน ซึ่งศึกษาในระดับ ม.4 และ ม.2 ถูกครู 5 คน และศิษย์เก่า 2 คน ข่มขืนนานนับปี จนกระทั่งยายของนักเรียนชั้นม.2 ได้พาหลานเข้าแจ้งความกับตำรวจ สภ.ผึ่งแดด จ.มุกดาหาร ก่อนที่ กระทรวงศึกษาธิการจะสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน เนื่องจากผิดจรรยาบรรณร้ายแรง

ในเรื่องนี้ นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากสถิติที่มูลนิธิได้เก็บมาจากข่าวต่างๆนั้น ปัญหาการข่มขืนของครูในโรงเรียนนับเป็นปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรม แต่ละปีมีอยู่ 5-6 % ไม่ขึ้นไม่ลดลง ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะเด็กผู้หญิง แต่เด็กผู้ชาย หรือเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็ถูกกระทำด้วยเช่นกัน แต่เด็กผู้หญิงมีโอกาสที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ยากกว่า ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวล่วงละเมิดในห้องเรียน และก็เงียบหายไป ปัญหาคือ ทำไมปัญหานี้ยังไม่หมดไป ควรจะมีกลไกใดที่ช่วยเด็กได้บ้างหรือไม่

นายจะเด็จ กล่าวถึงสาเหตุว่า รากปัญหานี้ นอกจากจะเกิดขึ้นเพราะอำนาจแบบชายเป็นใหญ่ ที่คุณมีความต้องการทางเพศ และไม่สนใจเรื่องจริยธรรม คุณธรรม ไม่ยับยั้งชั่งใจไม่ว่าอาชีพใดแล้วนั้น ยังมีสาเหตุที่วิเคราะห์ออกมาได้ 3 ข้อ คือ

1. การมีอำนาจเหนือกว่าของครู ในกรอบการศึกษาแบบนี้ ที่มีอำนาจเป็นผู้ให้คุณให้โทษเด็กได้ ให้คะแนน ให้เกรด หรือลงโทษ ซึ่งเด็กก็ต้องกลัวครู ครูพูดอะไรถูกหมด ครูบางคนเมื่อมีความต้องการทางเพศ ก็ใช้อำนาจบังคับหรือหลอกล่อเด็กมาทำกิจกรรมกับครูที่บ้านพัก ห้องพักครู หรือต้องติวเพิ่ม

Advertisement

2.สถานภาพทางสังคมของครู โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ที่เป็นคนดี เป็นผู้นำ ในชุมชน เมื่อเกิดเหตุขึ้นชุมชนก็ไม่กล้าทำอะไร เพราะคิดว่าครูเป็นผู้นำ

3.การไกล่เกลี่ยเมื่อเกิดปัญหา สุดท้ายไปไม่ถึงไหน เมื่อจ่ายเงินก็จบปัญหา และครูก็ไปทำกับคนอื่นอีก เป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ ต้องเข้าใจว่า ระบบโรงเรียนเป็นระบบอำนาจนิยมแบบหนึ่ง ที่คอยกดทับคนที่ด้อยกว่า คือ นักเรียน โดยมีศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่ครู

จะเด็จ เชาวน์วิไล

“การจะแก้ไขปัญหานี้ 1.ต้องมีกลไกของกระทรวงต่างๆในการร้องทุกข์ที่จริงจัง เสนอให้มีกลไกอิสระ ที่มีผู้เชี่ยวชาญ มีภาคประชาสังคม เป็นกลไกในการไปร้องทุกข์กับกระทรวงศึกษาธิการได้ เพื่อให้ผู้ถูกกระทำไม่รู้สึกถูกคุกคาม ศธ.ต้องกล้าหาญพอ ไม่ใช่ใช้พวกเดียวกันในการตรวจสอบ ไม่เช่นนั้นจะไปไม่ถึงไหน และต้องมีกระบวนการให้คำปรึกษา มีนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้เขาลุกขึ้นมาต่อสู้ มาเอาผิดกับครูได้

2.ต้องมีการประเมินครูแบบจริงจัง ต่อเนื่อง ให้ผู้ปกครอง ชุมชน มีส่วนร่วม เหมือนต่างประเทศ เพราะทุกวันนี้ครูได้รับการประเมินจากหัวหน้าหน่วยหรือการศึกษาเขต ที่เอื้อต่อระบบพรรคพวก เป็นระบบอุปถัมภ์ที่ทำผิดก็ช่วยกัน ประเมินกันเอง

3.ผู้ที่จะมาเป็นครู ต้องมีเงื่อนไขสำคัญคือต้องไม่คุกคามทางเพศ ต้องตรวจสอบตลอดเวลาไม่ใช่แค่ประวัติ ทั้งมีกระบวนการให้ความรู้ ฝึกอบรม ให้รู้เรื่องจริยธรรมของครู ที่สำคัญคือ ต้องมีเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ จริงจังในหลักสูตร หากทำผิดก็เป็นครูต่อไปไม่ได้ ต้องถอนใบอนุญาต ต้องกระตุ้นให้ศธ.จริงจังมากขึ้น”

ส่วนกระแสของสังคม ที่เพื่อนครูบางส่วนออกมาให้กำลังใจครูทำผิดนั้น นายจะเด็จ กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าครูทุกคนไม่ได้เป็นแบบนั้น หลายคนก็ออกมาวิจารณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับความคิดนั้น อยากให้สังคมได้ตระหนักเวลาเกิดเหตุข่มขืนว่า ต้องเลิกเข้าข้างคนผิด หรือตำหนิผู้หญิง ว่าเป็นต้นเหตุ แต่งตัวโป๊ หรือพฤติกรรมให้ท่า ต้องเลิกได้แล้ว ต้องเชื่อก่อนว่าคนที่ถูกข่มขืนเขาไม่โกหกหรอก เพราะไม่มีใครอยากออกมาบอกว่าถูกกระทำเรื่องแย่ๆแบบนี้ ต้องเยียวยาจิตใจ ปกป้องสิทธิเขา หากเข้าข้างคนผิด ระบบต่างๆจะพังหมด การป้องคนผิดปิดหูปิดตาในยุคนี้ ทำไม่ได้แล้ว เราพูดกันเสมอว่าต้องปฏิรูปการศึกษา และครูเป็นส่วนสำคัญในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญ ไม่ควรส่งต่อความคิดที่ทำให้คนเข้าใจผิด เราควรลุกขึ้นมาให้กำลังใจเหยื่อ ชี้ช่องให้เขาต่อสู้ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่คนรุ่นใหม่ตื่นตัว และออกมาวิจารณ์เรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นความคิดที่จะเปลี่ยนความคิดของสังคมได้

แฟ้มภาพ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตะลึง! เด็กไทย5.7หมื่นราย เจอปัญหา ถูกละเมิดทางเพศ-รุนแรง-ท้องไม่พร้อม-ขาดโอกาสเรียน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image