ศรีศักรยก ‘วราพร’ พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกทำเพื่อสังคม จวกกทม.ล้มเหลวบริหาร -ถาม ‘ป้อมมหากาฬ’ จะรอดหรือ?

สืบเนื่องกรณีรศ.วราพร สุรวดี ประธานกรรมการมูลนิธิอินสาท-สอาง วัย 80 ปี ผู้ดูแลสนับสนุนกิจการด้านต่างๆของ ‘พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก’ ย่านบางรัก เปิดรับบริจาคเงินจำนวน 10 ล้านบาท โดยขอระดมทุนรายละ 100 บาท หรือตามกำลัง เพื่อซื้อที่ดินด้านข้างพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากเจ้าของที่ดินดังกล่าวมีแผนสร้างตึกสูง 8 ชั้น ซึ่งจะบดบังทัศนียภาพของพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวลงอย่างสิ้นเชิง รวมถึงห่วงว่าจะส่งผลกับโครงสร้างของอาคารพิพิธภัณฑ์ซึ่งมีหลายหลัง อีกทั้งเป็นอาคารอนุรักษ์อีกด้วย จึงตัดสินใจทำจดหมายถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อร้องขอให้ซื้อที่ดินดังกล่าว แต่ไม่เป็นผล รศ.วราพรจึงติดต่อขอซื้อที่ดินซึ่งมีราคา 40 ล้านบาท โดยนำเงินส่วนตัวมัดจำแล้ว 30 ล้านบาท มีกำหนดชำระส่วนที่เหลือภายใน 2 กันยายนนี้ ซึ่งมติชนออนไลน์ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น (อ่านข่าว ระดมคนละร้อย หวัง 10 ล้าน ! ซื้อที่ดินข้างพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก เจ้าของเดิมทุ่มแล้ว 30 ล้าน กันสร้างตึก 8 ชั้นบังแหล่งเรียนรู้

ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง เจ้าของรางวัลฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ต้องยกย่องคนอย่าง รศ.วราพร ซึ่งมีใจทำเพื่อสังคม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ ตนทราบว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เดิมเป็นบ้านและสมบัติของครอบครัว รศ.วราพร ซึ่งต่อมาได้โอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมดให้กรุงเทพมหานครดูแล จึงกลายเป็น พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก แต่ด้วยการบริหารจัดการที่ล้มเหลว ไม่เพียงพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ แต่หมายถึงพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกทม.ทั่วกรุงเทพ ที่ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้เสียงบประมาณไปมากมาย แต่ไม่สามารถให้ความรู้กับประชาชน ทั้งยังขาดซึ่งจิตวิญญาณ ไม่มีชีวิตชีวา

“คนอย่าง รศ.วราพร เป็นบุคคลที่ต้องยกย่อง เพราะเสียสละเพื่อสังคมจริงๆ ขนาดยกทั้งบ้าน ที่ดิน สิ่งของต่างๆซึ่งเป็นวัตถุจัดแสดงให้กทม. ไปแล้ว ยังมีใจกลับมาดูแล ใช้เงินส่วนตัวไปมากมาย นี่ยังควักกระเป๋า 30 ล้านแล้วต้องมาระดมทุนอีก ซึ่งตอนนี้เชื่อว่าจะกลายเป็นกระแสที่คนอยากช่วยเหลือ เพราะสังคมไทยในขณนะนี้โหยหาอดีต จะเห็นได้จากกระแสการทวงคืนโบราณวัตถุกลับท้องถิ่น น่าเสียดายที่กทม.ทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ พังหมด เสียเงินไปไม่รู้เท่าไหร่ พอเจ้าหน้าที่ราชการมาดูแล จ้างบริษัทออแกไนเซอร์รับเหมา ก็ขาดจิตวิญญาณ”

วิถีชีวิตชาวบางกอกในอดีต ถูกบอกเล่าผ่านข้าวของเครื่องใช้ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเดิมเป็นบ้านของครอบครัว รศ.วราพร สุรวดี
วิถีชีวิตชาวบางกอกในอดีต ถูกบอกเล่าผ่านข้าวของเครื่องใช้ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเดิมเป็นบ้านของครอบครัว รศ.วราพร สุรวดี

ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร ยังกล่าวอีกว่า ตัวอย่างความล้มเหลวจากการทำพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกทม. สามารถเชื่อมโยงกับกรณีชุมชนป้อมมหากาฬซึ่งกทม.พยายามเข้าไปบริหารจัดการ โดยการไล่รื้อชุมชน เพื่อทำเป็นสวนสาธารณะ ในขณะที่ชาวบ้านร่วมกับกลุ่มอาสาสมัครพยายามผลักดันให้เป็น “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต”
“สิ้นหวังกับกทม.จริงๆ คิดดูว่าถ้าเข้าไปจัดการป้อมมหากาฬ จะรอดหรือ ผลงานด้านวัฒนธรรมที่ผ่านมาก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าล้มเหลวทั้งสิ้น คิดแต่จะทำให้เป็นเมืองตุ๊กตา ไม่มีคน ไม่มีความลึกซึ้ง เพราะตัวเองไม่มีความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ ” ศาสตราจารย์ศรีศักรกล่าว

Advertisement

 

ที่ดินหลังรั้วสังกะสีพื้นที่ 105 ตารางวา ซึ่งจะมีการสร้างตึก 8 ชั้น อยู่ติดกับพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกในซอยเจริญกรุง 43 หรือตรอกสะพานยาว
ที่ดินหลังรั้วสังกะสีพื้นที่ 105 ตารางวา ซึ่งจะมีการสร้างตึก 8 ชั้น อยู่ติดกับพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกในซอยเจริญกรุง 43 หรือตรอกสะพานยาว

ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ประกอบด้วยที่ดินตามโฉนด 2 แปลง รวม 1-0-6 ไร่ เป็นของตกทอดตั้งแต่บรรพบุรุษมาจนถึงมารดาของ รศ.วราพร คือ นางสอาง สุรวดี (ตันบุญเต็ก) เมื่อท่านถึงแก่กรรม ตัวบ้านจึงถูกปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ด้วยความสนใจส่วนตัวในด้านศิลปวัฒนธรรม อีกทั้งต้องการรักษาสถาปัตยกรรมและข้าวของเครื่องใช้อันล้ำค่าของชาวบางกอก เอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ต่อมาได้โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง คืออาคารพิพิธภัณฑ์ทั้ง 4 หลัง อีกทั้งข้าวของต่างๆ ที่จัดแสดงอยู่ภายใน ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของ กทม.ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2547 กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก มีผู้เยี่ยมชมเดือนละกว่า 700 คน (อ่านข่าว ตึกสูงรุกคืบ ‘พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก’ เหตุเมิน ‘ภูมิทัศน์’ หรือความผิดพลาดของ ‘ผังเมือง’?)

ผู้สนใจร่วมบริจาค สามารถโอนเข้าบัญชี น.ส.วราพร สุรวดี (โครงการพัฒนาพื้นที่สีเขียวกลางกรุงเทพ) ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาจัตุรัสจามจุรี เลขที่บัญชี 407 – 061757 – 2 รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก โทร. 02-233-7027

Advertisement

อนึ่ง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยอดบริจาคตรวจสอบล่าสุดในช่วงเช้าของวันที่ 20 ก.ค. มียอดรวมราว 700,000 บาท 

รศ.วราพร สุรวดี ประธานกรรมการมูลนิธิอินสาท-สอาง ในวัย 80 ปีซึ่งสนับสนุนกิจการของพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก
รศ.วราพร สุรวดี ประธานกรรมการมูลนิธิอินสาท-สอาง ในวัย 80 ปีซึ่งสนับสนุนกิจการของพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image