ล้อมวงคุยกู้วิกฤติพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก “วราพร”เผย เคยขายคอนโดหวังโปะเอง10 ล.แต่ไม่มีคนซื้อ-ขับโฟล์คยื่นจม.เรี่ยไรในวัย 81

สืบเนื่องกรณี รศ.วราพร สุรวดี ประธานกรรมการมูลนิธิอินสาท-สอาง วัย 81 ปี ผู้ดูแลสนับสนุนกิจการด้านต่างๆ ของ ‘พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก’ ย่านบางรัก เปิดรับบริจาคเงินจำนวน 10 ล้านบาท โดยขอระดมทุนรายละ 100 บาท หรือตามกำลัง เพื่อซื้อที่ดินด้านข้างพิพิธภัณฑ์ เนื่องจากเจ้าของที่ดินดังกล่าวมีแผนสร้างตึกสูง 8 ชั้น ซึ่งจะบดบังทัศนียภาพของพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวลงอย่างสิ้นเชิง รวมถึงห่วงว่าจะส่งผลกับโครงสร้างของอาคารพิพิธภัณฑ์ซึ่งมีหลายหลัง อีกทั้งเป็นอาคารอนุรักษ์อีกด้วย จึงตัดสินใจทำจดหมายถึงผู้ว่าฯกทม. เพื่อร้องขอให้ซื้อที่ดินดังกล่าว แต่ไม่เป็นผล รศ.วราพรจึงติดต่อขอซื้อที่ดินซึ่งมีราคา 40 ล้านบาท โดยนำเงินส่วนตัวมัดจำแล้ว 30 ล้านบาท มีกำหนดชำระส่วนที่เหลือภายใน 2 กันยายนนี้ ซึ่งมติชนออนไลน์ได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น (อ่านข่าว ระดมคนละร้อย หวัง 10 ล้าน ! ซื้อที่ดินข้างพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก เจ้าของเดิมทุ่มแล้ว 30 ล้าน กันสร้างตึก 8 ชั้นบังแหล่งเรียนรู้)

เมื่อวันที่ 23 ก.ค. เวลาประมาณ 10.00 น. ที่พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ซอยเจริญกรุง 43 เขตบางรัก มีการจัดกิจกรรมการระดมความคิดในหัวข้อ “กู้วิกฤตพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก” บรรยากาศมีผู้เข้าร่วมพูดคุยคึกคักทั้งในสายงานวิชาการ ,เครือข่ายและตัวแทนจากชุมชนหลายแห่งในกทม. อาทิ ชุมชนป้อมมหากาฬ ชุมชนนางเลิ้ง ชุมชนมักกะสัน รวมถึงนักกิจกรรมในด้านต่างๆ

พิพิธภัณฑ์ชางบางกอก
เครือข่ายชุมชนต่างๆเข้าร่วมหารือคึกคัก อาทิ ธวัชชัย มหาวรคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ, ศานนท์ หวังสร้างบุญ จาก มหากาฬโมเดล, “น้ำมนต์” จากชุใชนนางเลิ้ง เป็นต้น

รศ.วราพร สุรวดี ประธานมูลนิธิอินสาท-สอาง ประธานเครือข่ายท่องเที่ยวภาคประชาสังคม และผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก กล่าวว่า หลังจากตนยกพิพิธภัณฑ์ให้กทม. เคยมีเจ้าหน้าที่เขตมาไล่ เพราะเมื่อยกให้ราชการแล้วไม่มีสิทธิ์อยู่ แต่ตนบอกว่า ฉันไม่ไป อย่างไรก็ตาม ตนเข้าใจดีว่าตามกฎหมายต้องเป็นเช่นนั้น แต่ก็รู้สึกเจ็บใจจนหายเจ็บใจแล้ว ต่อมา ยังถูกตัดน้ำ เพื่อไม่ให้รดน้ำต้นไม้ โดยให้เหตุผลว่าสิ้นเปลืองงบประมาณ แต่ส่วนตัวมองว่าการสร้างพื้นที่สีเขียวคือการสร้างออกซิเจนให้กรุงเทพฯ หลังจากนั้นเมื่อทราบว่าจะมีการสร้างตึก 8 ชั้น จึงไปสอบถามทางเขต ซึ่งได้คำตอบว่าตามกฎหมายสามารถทำได้ เนื่องจากย่านนี้ถูกกำหนดให้เป็นเขตพาณิชยกรรม จึงตัดสินใจทำจดหมายให้กทม.ซื้อที่ดิน แต่ไม่เป็นผล นำมาสู่การมัดจำเงิน 30 ล้าน และขอเรี่ยไรจากคนทั่วไปอีก 10 ล้าน จึงจะครบ 40 ล้านตามราคาขาย

ธวัชชัย มหาวรคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ และรศ.วราพร สุรวดี
ธวัชชัย มหาวรคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ และรศ.วราพร สุรวดี

ระดม03

Advertisement

“เงิน 10 ล้านที่ยังไม่ได้จ่ายนั้น ตัดสินใจขายคอนโดมีเนียม คิดว่าจะขาย 10 ล้านพอดีกับเงินที่ต้องใช้ แต่มีคนบอกว่าราคาสูงไป อาจขายได้แค่ 7 ล้าน ก็ลดราคาลงมาเหลือ 7 ล้าน แต่ก็ยังขายไม่ได้อีก เลยมีคนแนะนำให้กู้ธนาคาร รวมถึงเขียนโครงการเรี่ยไรเงินไปยังหน่วยงานธุรกิจและโรงเรียนเอกชนต่างๆ โดยเดินสายขับรถโฟล์คตระเวน และส่งจดหมายเนี่ยไร มท.1 ด้วย อยากทราบว่า 100 บาท ท่านจะบริจาคหรือไม่ นอกจากนี้ก็มีวัดม่วงแคกับวัดสุทธิวราราม ส่งเงินมาช่วยด้วย ช่วงแรกได้แค่หลักหมื่น ตอนหลังพอมีกระแส ชาวบ้านแถวนี้ก็เอาเงินสดมาฝากไว้กับรปภ. มีเงินเข้าบัญชีทั้งวัน ตอนนี้ได้เกือบ 3 ล้านแล้ว ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกคนอย่างมาก ดีใจที่ได้ทำภารกิจร่วมกัน ” รศ.วราพรกล่าว และว่า ตนได้บนบานกับพระแก้วมรกตไว้ว่าถ้าได้ครบ 10 ล้าน จะถวายไข่ 300 ฟอง อย่างไรก็ตาม หากได้ไม่ครบ ถายใน 2 ก.ย. มีแผนสำรองที่เตรียมไว้คือ ขอยืมหรือกู้ธนาคาร คาดว่าไม่เกิน 3 ล้านบาท จากนั้นก็เรี่ยไรต่อจนครบ

นางปองขวัญ ลาซูส สมาคมสถาปนิกสยาม กล่าวว่า เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2558 เครือข่ายอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม นำโดยสยามสมาคมเสนอคสช. ให้ปรับกฎหมายหลายเรื่อง อย่างปัญหาที่ผ่านมา รัฐไม่สามารถนำเงินมาช่วยเอกชนได้ ตอนนั้นหวังว่าจะสั่งการได้หากเห็นความสำคัญ นอกจานี้ยังมีเรื่องกองทุน แต่เมื่อส่งเอกสารไปทุกครั้ง นายกรัฐมนตรีจะส่งกลับมายังกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงได้เรียกตนไปชี้แจง โดยสอบถามในกรณีกองทุนว่า มีผู้ขอตั้ง 8 กองทุน แล้วของเราสำคัญกว่ากองทุนอื่นอย่างไร เป็นการคุยวนอยู่ในประเด็นเช่นนี้ สุดท้ายไม่ทราบว่าเขียนรายงานไปอย่างไร ดังนั้น อย่ารอภาครัฐ เอกชนต้องทำเอง

“ถ้าทำเองมีองค์กรเองก่อนในระดับหนึ่ง หากภาครัฐเห็นว่าดี ก็จะหากลไกขึ้นมาเสริมเอง ไทยไม่ใช้ประเทศไม่มีเงิน แต่เงินไปอยู่ในกองทุนต่างๆ ซึ่งกรรมการกองทุนไม่ได้ตั้งเป้าหมายเชิงลึก อยากให้จุดประเด็นให้ยั่งยืนต่อไป ในอนาคตควรตั้งเป็นวงสนทนา ไม่หยุดเฉพาะห้องประชุม กิจกรรมต่างๆก็มีหลายพื้นที่ทำอยู่ เช่น ชุมชนมักกะสัน นอกจากนี้ควรหาทางออกให้รัฐด้วย ส่วนเราเองก็ควรมีความพร้อมในภาคประชาชน” นางปองขวัญกล่าว

Advertisement
พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก
ศศิ เพชรรัตน์ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์รับบริจาคเงินร่วมซื้อที่ดินตลอดทั้งวัน

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ จากกลุ่ม “มหากาฬโมเดล” ซึ่งทำกิจกรรมผลักดันชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร ให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตกล่าวว่า ประเด็นเรื่องพื้นที่ซึ่งภาครัฐกับเอกชนมีความเห็นแตกต่างกันในการบริหารนั้นคาดว่าในอนาคตน่าจะเกิดปัญหาอีกเรื่อยๆ เพราะกรุงเทพฯ กำลังพัฒนาด้านต่างๆ อาทิ การสร้างสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งเกี่ยวพันกับการใช้ที่ดินในเขตกทม.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยังมีตัวแทนและสมาชิกเครือข่ายชุมชนรวมถึงองค์กรต่างๆแสดงความคิดเห็นอีกทั้งเสนอกิจกรรมหลากลาย อาทิ เครือข่ายมักกะสัน กล่าวว่า ได้วางแผนจัดงานวิ่งการกุศลในชื่อ “วิ่งสิชาวบางกอก” เพื่อช่วยระดมเงินให้ครบ 10 ล้านบาท โดยวิ่งบนเส้นทางที่ใกล้ชิดชุมชนที่สุด ถือเป็นการวิ่งครั้งประวัติศาสตร์ที่จัดขึ้นแบบเฉพาะกิจ

รศ.วราพร สุรวดี
รศ.วราพร สุรวดี
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image