มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แจงวิธีตรวจ ‘วิตามินซี’ ในเครื่องดื่ม ข้องใจ ‘อ.อ๊อด’ แก้ต่างให้หรือไม่

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แจงวิธีตรวจ ‘วิตามินซี’ ในเครื่องดื่ม ข้องใจ ‘อ.อ๊อด’ แก้ต่างให้หรือไม่

จากกรณีศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลตรวจปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่างที่วางจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด พบมีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลากสินค้า และมีถึง 8 ตัวอย่างที่ไม่พบปริมาณวิตามินซีนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :ไม่ตรงปก! ฉลาดซื้อ เผยผลตรวจเครื่องดื่มผสมวิตามินซี อึ้ง 8 ตัวอย่างไม่พบปริมาณวิตามินซี)

โดย รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรือ อ.อ๊อด อ.ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า วิตามินซี สลายตัวได้ง่ายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวต่อออกซิเจนมาก ซึ่งในน้ำดื่มมีออกซิเจน สามารถสลายตัวได้ง่ายในบรรยากาศที่มีความร้อน แสง ความชื้น และโลหะหนัก และว่า ขวดน้ำวิตามิน ขนส่งไม่ถึง 5 ชั่วโมงบนรถสิบล้อ วิตามินก็จะลดลงอย่างมาก แต่วิตามินซีจะกลายเป็นสารอื่นแทน ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์และช่วยให้มีสุขภาพที่ดี ดังนั้น การตรวจไม่เจอคือตรวจอะไร เอื้อธุรกิจบางยี่ห้อไหม? และที่ตรวจเจอเยอะ เจอเท่าเดิม เจอเยอะกว่าเดิม คือมั่วมาหรือไม่ มีเบื้องหลังอะไร สารวิตามินซีเหล่านี้ในน้ำ แต่ละยี่ห้อไม่มีวันลดลงจนเหลือศูนย์และไม่มีวันมีมากเท่าฉลากหรือมีเกิน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ‘อ.อ๊อด’ ตั้งข้อพิรุธ สุ่มตรวจเครื่องดื่มผสมวิตามินซี เอื้อธุรกิจบางยี่ห้อไหม? )

กรณีดังกล่าวนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ออกมาชี้แจงว่า

Advertisement

#นิตยสารฉลาดซื้อ #มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตอบ Weerachai Phutdhawong
ตามที่อาจารย์ได้เขียนใน FB และเปิดเผยต่อสาธารณะ ว่า มีบางกลุ่มทดสอบแล้วไม่ให้ความเป็นธรรมกับการตรวจวิตามินซีบางยี่ห้อ หรือ การตรวจมีเบื้องหลังหรือไม่ ดูย้อนแย้งและมีพิรุธ ชอบกล หากใครอ่านก็จะทราบทันทีว่า เป็นการพูดถึงการทดสอบของนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่เพิ่งเผยแพร่ผลการทดสอบไปเมื่อวานนี้
ถือเป็นการกล่าวหา ดูหมิ่น และไม่ให้ความเป็นธรรมกับนิตยสารฉลาดซื้อ และ มูลนิธิฯที่ทำงานทดสอบ เปรียบเทียบ(Rating Comparative Test) เพื่อเผยแพร่ข้อมูลให้ผู้บริโภคใช้ในการเลือกซื้อมาไม่น้อยกว่า 27 ปี
อยากให้อาจารย์กลับไปฟังการแถลงข่าวและอ่านรายละเอียดทั้งหมดก่อนกล่าวหาและใส่ร้ายมูลนิธิฯ
เบื้องต้นขออนุญาตให้ข้อมูลเรื่องกระบวนการทดสอบและการสุ่มตรวจทดสอบอาหารเครื่องดื่มผสมสิตามินซี ของฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคโดยสรุปดังนี้
เริ่มจากการสุ่มตัวอย่าง ทำพร้อมกันในเดือนพฤศจิกายนทั้ง 47 ตัวอย่าง
การสุ่มตัวอย่างโดยการซื้อทุกยี่ห้อเท่าที่จะหาซื้อได้ในท้องตลาดในช่วงเวลาที่กำหนด และมีหลักฐานจ่ายเงินเหมือนผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าเหล่านี้ ในล็อตการผลิตเดียวกันสำหรับการทดสอบจำนวน 3 ครั้ง
ทำรายละเอียดสินค้าทุกรายการ ว่า สินค้านั้นมีใครเป็นผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย รายละเอียดบนฉลาก วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ เมื่อใด ราคาเท่าใด เป็นต้น
หลังจากนั้น จะนำส่งห้องทดลองที่ได้มาตรฐานด้านที่ส่งตรวจ และเป็นห้องทดลองที่มีมาตรฐาน ISO 17025
ขั้นตอนการเผยแพร่ผลการทดสอบเพื่อให้ข้อมูลกับผู้บริโภค ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ
ขั้นตอนสุดท้าย ส่งผลการทดสอบให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อพิจารณาดำเนินการที่เกี่ยวข้อง
โดยมีหลักเกณฑ์ในการทำงานทดสอบทั้งสินค้าและบริการที่ผ่านมา ดังนี้

“การทดสอบสินค้าที่มีมาตรฐานกำกับจะดำเนินการทดสอบตามมาตรฐาน โดยใช้ห้องทดสอบของมหาวิทยาลัย ที่ได้มาตรฐานตามด้านนั้นๆ หรือ ห้องทดสอบเอกชนระดับมาตรฐาน ISO 17025 กรณีสินค้าที่ยังไม่มีมาตรฐานกำกับจะทดสอบโดยใช้มาตรฐานของต่างประเทศที่ได้รับความน่าเชื่อถือ ตัวอย่างเช่น กรณีการทดสอบเครื่องฟอกอากาศ การทดสอบเปรียบเทียบมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดมาตรฐานอุตสาหกรรมของไทยที่จะเข้าไปกำกับมาตรฐานของเครื่องฟอกอากาศในอนาคต เป็นต้น”

Advertisement

โดยมีขั้นตอนดังนี้
1.ประชุมวางแผนทดสอบสินค้าและบริการ โดยวางแผน 1 ปี และทุกๆ เดือน โดยมีคณะทำงาน ดังนี้
1.1 เครือข่ายนักวิชาการในการเฝ้าระวังทดสอบสินค้าและบริการตลอดโครงการตามแผนปฏิบัติงาน ในด้านต่าง ๆ อาทิ
-ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ได้แก่ ศ.ดร.วิสิต จะวะสิฐ , ดร.แก้ว กังสดาล อำไพ, รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล, ผศ.ดร.ยุพดี สิริสินสุข, รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์, ผศ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-ด้านเทคโนโลยีและสื่อโทรคมนาคม จากเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ ดร.วีระพันธ์ รังสีวิจิตรประภา จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
-ด้านที่อยู่อาศัย ได้แก่ อ.เทิดทูน ดำรงค์ฤทธามาตย์ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
-ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ได้แก่ ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ จาก ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ความปลอดภัยของยานยนต์ (สถาบันยานยนต์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ)
-ด้านเกษตรและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ คุณกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากมูลนิธิชีววิถี และคุณเพ็ญโฉม ตั้ง จากมูลนิธิบูรณะนิเวศ เป็นต้น
-ด้านสินค้าเด็กและความปลอดภัยในเด็ก รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี
-ด้านสินค้าจากเครือข่ายผู้บริโภคจาก 7 ภูมิภาค ในพื้นที่ทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคใต้ และกรุงเทพฯ ที่จากการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อยกระดับมาตรฐานในชุมชน
-สินค้าเฝ้าระวังตามสถานการณ์ในประเทศ เช่น เจลแอลกอฮอล์ล้างมือเนื่องในสภานการณ์โควิด19, สารเคมีเกษตรพาราควอตในปูนา, สารทาเลตในของเล่นเด็ก, ไขมันทรานส์ในโดนัท, และมาตรฐานเครื่องฟอกอากาศในช่วง PM2.5 เป็นต้น
-ผลทดสอบจากองค์กรผู้บริโภคระหว่างประเทศ International Consumer Product Research and Testing (ICRT) ที่มูลนิธิฯ เป็นสมาชิก
2.ออกแบบวิธีการทดสอบ เน้นหลักความเป็นกลาง ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง ใช้การสุ่มซื้อสินค้าที่มีการจำหน่ายจากร้านค้าจริงทั่วไปและออนไลน์เหมือนผู้บริโภคซื้อสินค้า
3.ดำเนินการทดสอบตามมาตรฐานสากล โดยใช้ห้องทดสอบของมหาวิทยาลัย หรือ ห้องทดสอบเอกชนระดับมาตรฐาน ISO 17025
4.เผยแพร่ผลการทดสอบผ่านนิตยสารฉลาดซื้อ ซึ่งเป็นสื่อสาธารณะที่ไม่รับโฆษณาจากบริษัทต่าง ๆ เพื่อทำให้สามารถรักษาผลประโยชน์สาธารณะได้อย่างตรงไปตรงมา
5.ส่งผลทดสอบและข้อเสนอ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย

ส่วนข้อกล่าวหาเรื่องกระทะ อาจารย์คงยังไม่ทราบว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ฟ้องคดีนี้ และขณะนี้ศาลรับพิจารณาคดี เป็นคดีแบบกลุ่มแล้ว (Class Action) และให้จำเลยอุทธรณ์ภายใน 20 วัน ซึ่งครบกำหนดอุทธรณ์วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา แต่จำเลยขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ครั้งที่ 2 โดยขยายถึงวันที่ 25 ธันวาคม 63 นี้”

นอกจากนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังได้นำภาพการโพสต์เฟซบุ๊กของ อ.อ๊อด ที่มักมีการโพสต์ประชาสัมพันธ์ น้ำดื่มวิตามินซียี่ห้อหนึ่งอยู่บ่อยครั้ง ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยว่า เปิดตัวอาทิตย์แรก ผลิตไปล้านขวด และเป็นที่นิยมขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงกล่าวว่า ตลาดเครื่องดื่มวิตามินซียังเติบโตได้อีก 20% ต่อเนื่อง ช่วงนี้ในประเทศไทย ถือว่าพีคที่สุดแล้ว ทำให้มูลนิธิตั้งคำถามว่า เป็นเหตุผลให้ออกมากล่าวถึงเรื่องนี้หรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image