‘รมว.สุชาติ’ เซ็นจ่าย ‘ม.33 เรารักกัน’ พรุ่งนี้! ให้คนละ 4 พัน ยัน 9 ล้านคน ได้ทันใช้ มี.ค.

รมว.สุชาติ เผยกลางเวทีพลิกสูตรวัคซีนสู้โควิดฯ เซ็นจ่าย ม.33 พรุ่งนี้! ยัน 9 ล้านคน ได้ใช้ทัน มี.ค. เล็งแก้ กม.ประกันสังคม ช่วยผู้ประกันตนพ้นสถานการณ์วิกฤต

ม.33 เรารักกัน – เมื่อวลาประมาณ 10.45 น. วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่อาคารสำนักงานบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) มีการจัดสัมมนา “พลิกสูตรวัคซีนสู้โควิด พลิกวิกฤตเศรษฐกิจไทย” ในรูปแบบ ไลฟ์ สตรีมมิ่ง โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เข้าร่วม ดำเนินรายการโดย นายบัญชา ชุมชัยเวทย์

นายสุชาติ กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 สิ่งที่กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการเพื่อบรรเทาวิกฤตดังกล่าวมีหลายเรื่องสำคัญ เพื่อพยุงเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ การออกมาตรการช่วยสถานประกอบการ/นายจ้าง และคนตกงาน

ต่อมาได้จัด มหกรรมจ๊อบ เอ็กซ์โป ไทยแลนด์ 2020 เริ่มปลายเดือนกันนายน 2563 ซึ่งจากการติดตามจนถึงเดือนธันวาคม 2563 สามารถบรรจุงานได้ 8.6 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 86 ทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนนับแสนล้านบาท

ช่วยแรงงาน กระทะโควิด 19

นายสุชาติ กล่าวว่า นอกจากนี้ ใช้เงินกองทุนประกันสังคม 3 หมื่นล้านบาท ปล่อยกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ไม่เกินร้อยละ 3 ผ่านธนาคาร เพื่อให้นายจ้าง/สถานประกอบการ ยื่นกู้เงินนำไปประคองธุรกิจของตัวเอง แต่มีเงื่อนไขต้องไม่เลิกจ้างพนักงาน ซึ่งสามารถช่วยรักษาการจ้างงานได้เกือบ 4 หมื่นคน

Advertisement

“ต่อมาเกิดการระบาดในรอบ 2 ช่วงวันที่ 19 ธันวาคม 2563 มีการหารือในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ สปส. ออกมาตรการช่วยเหลือ จ่ายร้อยละ 50 มีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 2 แสนกว่าราย ล่าสุดมีการจ่ายเยียวยาไปแล้ว 5 หมื่นกว่าราย เม็ดเงิน 400 กว่าล้านบาท นอกจากนี้ได้หารือไปยังบอร์ดแพทย์ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) สนับสนุน กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกในลูกจ้างสถานประกอบการ

เริ่มที่ จ.สมุทรสาคร ขณะนี้ตรวจไปแล้วกว่า 5 หมื่นราย ใช้เงินจากประกันสังคม ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ธุรกิจสายการผลิตอาหารและอาหารทะเลส่งออกต้องหยุดชะงัก เพราะหากเป็นเช่นนั้นธุกิจที่เราส่งออกปีละกว่าแสนล้านบาท กว่าที่จะกลับมาเดินสายการผลิตอาจจะต้องใช้เวลา 2 ไตรมาส ทำให้คู่ค้าต่างชาติไม่เชื่อมั่น และจะเป็นความเสียหายต่อเศรษฐกิจประเทศได้” นายสุชาติ กล่าว

Advertisement

เคาะจ่ายเยียวยา ม.33 เรารักกัน

นายสุชาติ กล่าวว่า ยังมีมาตรการลดจ่ายเงินสมทบของลูกจ้างผู้ประกันตน เหลือร้อยละ 0.75 และล่าสุดที่ได้หารือกับกระทรวงการคลัง จ่ายเยียวยาให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 “เรารักกัน” ประมาณ 9 ล้านคนเศษ

“เมื่อวานนี้ได้หารือกับนายกฯ ท่านบอกว่าให้จ่ายทุกคน วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท เพราะเห็นว่า 1.เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในกลุ่มผู้ประกันตนมาตรา 33 และ 2.ไม่เกิดความเหลื่อมล้้ำในองค์กรเดียวกัน จึงเป็นที่มาของ “ม.33 เรารักกัน” แต่เรื่องนี้ยังมีเงื่อนไขไม่ให้กับคนที่มีเงินฝากในบัญชีเกิน 5 แสนบาท กลุ่มนี้ต้องเสียสละ เรื่องนี้นายกฯ มอบหมายให้หารือกันมา 10 วันแล้ว แต่เพิ่งมาตกผลึก ที่จ่ายทุกคน 4,000 บาท แบ่งจ่ายสัปดาห์ละ 1,000 บาท

พรุ่งนี้ (วันที่ 5 กุมภาพันธ์) ผมจะลงนามหนังสือเพื่อเสนอไปยังกระทรวงการคลัง และเตรียมนำเข้า ครม.ให้ทันวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ แต่หากไม่ทัน ครม.สัปดาห์ก็ต้องเลื่อนออกไป แต่ยืนยันว่าจะจ่ายได้ในเดือนมีนาคมนี้แน่นอน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวและว่า

“เงินจำนวนนี้จะจ่ายฝ่ายแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” คนที่มีแอพพ์ฯ นี้อยู่แล้วก็ต้องลงทะเบียนออนไลน์ เพื่อยืนยันสิทธิเช่นเดียวกัน”

แก้กฎหมาย กองทุนชราภาพ

นอกจากนี้ นายสุชาติ กล่าวว่า ในอนาคตยังมีแผนจะปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม ในบางมาตราที่เป็นอุปสรรคในการช่วยเหลือผู้ประกันตนในภาวะวิกฤต ที่กำลังพิจารณาคือ จะแก้ไขกฎหมายกองทุนชราภาพ ที่มีเงิน 1.8 ล้านล้านบาท และลงทุนในสัดส่วนที่บอร์ดประกันสังคมอนุญาต กำไรเอาไปสมทบกองทุน อีกส่วนเอาไปเป็นค่ารักษาพยาบาล ทั้งนี้นายกฯ สั่งให้พิจารณาว่ากฎหมายใดล้าสมัย ให้แก้ไขปรับปรุง ดังนั้น เราจะเปลี่ยนนิยามกองทุนชราภาพ ที่ให้ใช้เงินในช่วงอายุ 55 ปี หรือบั้นปลายชีวิต มาดูแลครอบครัวในช่วงวิกฤต เราอาจจะแก้ให้สามารถใช้ได้ ร้อยละ 30 ของเงินที่เขาสะสมไว้ในกองทุน

“เรื่องนี้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเมื่อเดือนตุลาคม 2563 ประชุม 3 ครั้ง ได้ข้อสรุปว่าอาจจะให้คืนร้อยละ 30 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตน ได้นำมาใช้ล่วงหน้า ไม่ต้องพึ่งพาเงินนอกระบบ แต่อีกมุมหนึ่งเงินกองทุนจะหายไปจากกองทุน 3-4 แสนล้านบาท จะทำให้ตลาดการเงินมีผลกระทบ จึงคิดประเด็นที่ 2 ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ประกันสังคม ค้ำประกันเงินกู้ธนาคาร คือ

โดย สปส.ออกใบสิทธิ์ให้ผู้ประกันตนไปกู้เงินจากธนาคาร ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ถ้ารายไหนเบี้ยวก็มาเก็บที่ประกันสังคม ซึ่งต้องพิจารณาให้รอบคอบ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องแก้ไข พ.ร.บ. ต้องทำประชาพิจารณ์ และนำเข้าสภาผู้แทนราษฎร อาจใช้เวลา 1 ปี นานเกินไป

จึงคิดอีกตัวหนึ่งคือ จะขอหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า สปส.สามารถปล่อยเงินกู้ให้ผู้ประกันตนได้หรือไม่ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ สมมติกู้ 3 หมื่นบาท ปีแรก ไม่ต้องจ่ายคืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ปีที่ 2 จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย ปีที่ 3 ต้องจ่ายคืนทั้งเงินต้นและดอกบี้ย ใครไม่มีจ่าย ก็มาหักจากกองทุนประกันสังคม ที่แก้ไขกฎหมายเสร็จแล้ว ซึ่งจะไม่กระทบตลาดการเงิน” นายสุชาติ กล่าว

จ่าย 30 กว่าล้าน ช่วยลูกจ้าง 733 ราย

ทั้งนี้ นายสุชาติ ยังกล่าวอีกว่า อีกเรื่องหนึ่งที่เมื่อเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ทำสำเร็จ และรู้สึกภาคภูมิใจ คือ ล่าสุดสามารถช่วยลูกจ้าง 733 คน ของบริษัทแห่งหนึ่งใน จ.นครสวรรค์ ที่ถูกนายจ้างแจ้งความว่าทุจริต และให้ออกโดยไม่จ่ายชดเชย ซึ่งต่อมาได้ให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เข้าไปช่วยเหลือ บังคับคำสั่งให้จ่าย แต่นายจ้างมีการแย้งคำสั่งจนเรื่องเข้าสู่ศาล ขณะที่ กสร.มีกองทุนสงเคราะห์ แต่ใช้ไม่ได้เพราะตามกฎหมายเรื่องต้องสิ้นสุดในกระบวนการศาลถึงจะจ่ายได้

“แต่เนื่องจากผู้ประกันตนเดือดร้อน จึงให้ไปดูว่าส่วนใดจะจ่ายได้บ้าง ผมได้เชิญเลขาธิการ สปส. หารือ ว่าจะใช้กองทุนว่างงานมาช่วยเหลือได้หรือไม่ แต่ปรากฎว่าติดที่ระเบียบ ซึ่งล่าสุดได้นำเรื่องเข้าหารือกฤษฏีกา และมีการตีความว่า เป็นสิทธิที่ประกันสังคมควรจ่าย จึงทำให้ลูกจ้างได้รับการช่วยเหลือ

เคสนี้เกิดเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่งให้ติดตามเรื่อง ซึ่งล่าสุดได้ช่วยลูกจ้างกลุ่มนี้จนสำเร็จ มีกองทุนว่างงานมา 17 ปี เพิ่งทำสำเร็จ จึงเชิญท่านไปมอบเงินให้ทั้ง 733 คน ได้ชดเชยคนละ 200 วัน อัตราร้อยละ 70 รวมเป็นเงิน 30 กว่าล้านบาท

จากการตรวจสอบพบว่า ขณะนี้มีลูกจ้างที่เข้าข่ายนี้อีกรอความช่วยเหลืออีก 1.6 หมื่นคน เป็นเงิน 840 กว่าล้านบาท ซึ่งรองนายกฯ ได้สั่งการให้เร่งทำ ผมจึงขอเวลา 1 เดือน นี่คือสิ่งที่นายกฯ สั่งให้แก้ไข เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน” นายสุชาติ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image