กทม.เตรียมพร้อมแผนป้องกันน้ำท่วมกรุง รับมือฝนปีนี้

กทม.เตรียมพร้อมแผนป้องกันน้ำท่วมกรุง รับมือฝนปีนี้

วันที่ 11 มิถุนายน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมแผนป้องกันน้ำท่วม ประจำปี 2564 ของสำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขต ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ศาลาว่าการ กทม. 2 เขตดินแดง ว่าตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ฤดูฝนตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน จะมีฝนตกร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ในเดือนกรกฎาคม ช่วงครึ่งแรกของเดือนปริมาณฝนจะลดลง เนื่องจากร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านทางตอนใต้ของประเทศจีนกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้อ่อนกำลังลง

ขณะที่กลางเดือนกรกฎาคม-กันยายน ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงเป็นระยะๆ จะทำให้ฝนตกชุกและมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ประมาณร้อยละ 60-80 ของพื้นที่ ซึ่งต้องเฝ้าระวังโดยเฉพาะเดือนสิงหาคม-กันยายน คาดว่าปีนี้จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ จำนวน 2-3 ลูก

“กทม.จึงเตรียมความพร้อมแผนป้องกันน้ำท่วม ประจำปี 2564 โดยมีแผนบริหารจัดการน้ำหลาก น้ำทะเลหนุน และน้ำฝน โดยแผนรับมือรับน้ำหลากและน้ำทะเลหนุน ได้ดำเนินการตรวจสอบจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ความยาว 78.93 กิโลเมตร (กม.) และซ่อมแซม จำนวน 27 จุด เรียงกระสอบทรายในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันถาวรและบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำ จำนวน 87 แห่ง ความยาว 3,221 เมตร นอกจากนี้ ได้ติดตามสถานการณ์น้ำเหนือกับกรมชลประทาน และกำหนดเกณฑ์การร่วมบริหารจัดการน้ำผ่านกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ตรวจสอบความพร้อมของสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 96 สถานี ให้พร้อมทำงานตลอดเวลา” ผู้ว่าฯกทม.กล่าว

พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า ส่วนแผนรับมือสถานการณ์ฝน มีอุโมงค์ระบายน้ำจำนวน 4 แห่ง แก้มลิงกักเก็บน้ำ จำนวน 31 แห่ง บ่อหน่วงน้ำใต้ดิน (Water Bank) จำนวน 2 แห่ง ส่วนระบบคลอง ขุดลอกคลอง 130 คลอง ความยาว 457 กม. คิดเป็นร้อยละ 89 เก็บขยะผักตบชวา เฉลี่ย 20 ตัน/วัน เปิดทางน้ำไหล 1,528 คลอง ความยาว 1,601 กม. คิดเป็นร้อยละ 88 ด้านระบบท่อระบายน้ำ ล้างทำความสะอาดท่อ ความยาว 3,348 กม. คิดเป็นร้อยละ 78 ด้านระบบไฟฟ้า ไฟฟ้าสำรอง เครื่องกำเนิดไฟฟ้าถาวร 11 จุด รถเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 16 คัน เครื่องสูบน้ำไฮดรอลิก 16 นิ้ว จำนวน 30 เครื่อง เครื่องสูบน้ำไฮดรอลิก 30 นิ้ว จำนวน 53 เครื่อง เตรียมบ่อสูบน้ำและสถานีสูบน้ำ สถานีสูบน้ำ จำนวน 190 แห่ง บ่อสูบน้ำ จำนวน 329 แห่ง เครื่องผลักดันน้ำ 37 เครื่อง 4 คลองหลัก หน่วยเบสต์ 35 หน่วย

Advertisement

“ด้านศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และสถานการณ์ฝน ตลอด 24 ชั่วโมง ประสานแจ้งหน่วยปฏิบัติการเข้าพื้นที่ดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ โดยมีระบบตรวจวัด ติดตาม แจ้งเตือน เรดาร์ตรวจวัดสภาพอากาศ 2 แห่ง คือ เรดาร์หนองแขม และเรดาร์หนองจอก ความพร้อมจุดตรวจวัดน้ำท่วมขัง จุดตรวจวัดถนน 100 แห่ง จุดตรวจวัดอุโมงค์ 8 แห่ง สถานีเครือข่ายตรวจวัดระดับน้ำ 255 แห่ง ดำเนินการเชื่อมโยงสัญญาณภาพ CCTV สถานีสูบน้ำหลัก 152 สถานี

ในส่วนแผนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังของสำนักการระบายน้ำ ปัจจุบันมีจุดเสี่ยง 12 จุด ลดลง 2 จุด คือแยกเกษตรและแยกสุวินทวงศ์ จุดเฝ้าระวัง 47 จุด ลดลง 9 จุด ในปี 2564 สำนักการระบายน้ำมีแผนงาน 17 โครงการ เพื่อลดจุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวัง ส่วนจุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังของสำนักงานเขต มีจุดเสี่ยง 142 จุด จุดเฝ้าระวัง 132 จุด รวมจุดเสี่ยงและจุดเฝ้าระวังของสำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขต จุดเสี่ยง 154 จุด จุดเฝ้าระวัง 179 จุด” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว

ทั้งนี้ ผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า ขั้นตอนการปฏิบัติและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2564 โดยประสานระหว่างหน่วยงานภายในกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.สภาวะปกติ เตรียมความพร้อมอุปกรณ์ ซ่อมบำรุง หน่วยเบสต์ ควบคุมระดับน้ำ ติดตามสถานการณ์ประจำวัน 2.ได้รับการแจ้งเตือนฝน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ เดินระบบสูบน้ำและลดระดับน้ำ หน่วยเข้าประจำจุดทันที 3.เมื่อเกิดฝนตก ดำเนินการตามกลยุทธ์ ฝนตกปริมาณไม่เกิน 60 มม./ชม. ฝนตกปริมาณระหว่าง 60-90 มม./ชม. ฝนตกปริมาณเกิน 90 มม./ชม. น้ำเหนือหลากหรือน้ำทะเลหนุน ภัยพิบัติ เช่น พายุ เขื่อนแตก น้ำไหลบ่า

Advertisement

“ส่วนผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ส่งผลต่อระบบระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และแนวทางการแก้ไขปัญหา ดังนี้ สายสีเหลือง ทำความสะอาดท่อระบายน้ำ เพิ่มช่องรับน้ำจากผิวจราจรเข้าบ่อพักท่อระบายน้ำ สายสีชมพู ขยายช่องรับน้ำ จัดทำบ่อสูบน้ำ/ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ประตูระบายน้ำปิดกั้นน้ำ สายสีส้ม เร่งรัดต่อเชื่อมท่อระบายน้ำ ขยายช่องรับน้ำ ทำความสะอาดท่อระบายน้ำในพื้นที่ก่อสร้าง ผลกระทบงานก่อสร้างคูน้ำวิภาวดี-รังสิต ตรวจสอบ 20 จุด แก้ไขแล้วเสร็จ 15 จุด อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไข 5 จุด โดยการเปิดทางน้ำไหล ขยายช่องรับน้ำ รื้อถอนกองดิน สิ่งก่อสร้างเดิมกีดขวาง และใช้ Big Bag ปิดกั้นน้ำในระหว่างก่อสร้างแทนคันดิน” พล.ต.อ.อัศวินกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image