ผอ.สถาบันวัคซีนฯ เผยเหตุได้ไฟเซอร์ 20 ล้านโดส ช้า ทำจองแล้ว รอเซ็นสัญญา
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยระหว่างการเสวนา “วัคซีนโควิด ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร” ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า สำหรับวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ที่พยายามจัดหาอยู่ โดยเจรจากับบริษัท ไฟเซอร์ นั้น ตอนแรกว่าจะส่งมอบไตรมาส 3 หรือประมาณเดือนสิงหาคม แต่เมื่อส่งใบจอง แล้ว บริษัทแจ้งว่าไตรมาส 3 เป็นไปได้ยาก จะส่งได้ในไตรมาส 4 ประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จำนวน 20 ล้านโดส
“ขณะนี้กำลังต่อรอง พยายามขอว่า หากเป็นไปได้ขอให้ส่งให้เร็วที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้ นอกจากนี้ ยังร่วมกับ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) มีการเจรจาจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมผ่านช่องทางการทูต หรือการจัดหาแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) มีทั้งวัคซีนของประเทศคิวบา เป็นซับยูนิตโปรตีน ตัวแรกที่แสดงผลออกมามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ร้อย ละ 92 น่าสนใจ เพราะเป็นวัคซีนที่ค่อนข้างปลอดภัย รวมถึงเจรจราวัคซีน mRNA จากเจ้าอื่นด้วย รวมถึงวัคซีนเคียวแวค ของเยอรมนี ก่อนหน้าจะประกาศผลก็เจรจรา ขอข้อมูลเชิงลึกกันอยู่ ตอนนี้เมื่อเขาประกาศผลแล้ว ก็รอดูท่าทีว่า เขาจะพัฒนาต่อหรือไม่ ก็จะคุยต่อ เพราะเป็นรูปแบบที่น่าสนใจไม่แพ้ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา และในปีหน้าจะจัดหาวัคซีนตอบสนองต่อไวรัสกลายพันธุ์ให้มากขึ้น” นพ.นคร กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีข่าวว่าเรายังไม่ได้มีการเซ็นสัญญาสั่งซื้อไฟเซอร์เลย นพ.นคร กล่าวว่า ตามขั้นตอนจะต้องมีการสั่งจองก่อน ซึ่งไทยได้สั่งจองไปแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน เป็นการล็อกยอดแล้ว 20 ล้านโดส อยู่ระหว่างการทำสัญาสั่งซื้อ
“แต่ระยะเวลาถูกเลื่อนส่งไปไตรมาส 4 ซึ่งเป็นข้อจำกัดของวัคซีน ถ้าผลิตได้ไม่มากพอเท่าที่คาดการณ์ กระบวนการทุกอย่างก็ต้องถูกเลื่อนไป รวมถึงการส่งมอบ อย่างไรก็ตาม เมื่อสักครู่ก็เพิ่งนั่งดูสัญญากันอยู่ ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นช่วงที่ตลาดที่ผู้ซื้อต้องยอมเสียเปรียบ และเป็นความเสียเปรียบในภาพรวมของประเทศ ดังนั้น เราต้องปรึกษาไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานกฤษฎีกา หรือแม้กระทั่งขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)” นพ.นคร กล่าว
เมื่อถามว่า เหตุใดประเทศเพื่อนบ้านได้วัคซีนในเดือนสิงหาคมนี้ นพ.นคร กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าเขาจองวัคซีนเมื่อไร ยอมรับว่าเราจองได้ช้ากว่าเขา เพราะเราพูดคุยแล้ว จองแล้ว แต่กระบวนการใช้เวลา เมื่อจองช้ากว่าก็ต้องยอมรับ ระหว่างนี้ ไตรมาส 3 จะมีวัคซีนตัวอื่นๆ เข้ามาหรือไม่นั้น ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เท่าที่สืบค้นยังมีแค่วัคซีนเชื้อตายจากประเทศจีน ทั้ง ซิโนแวค และซิโนฟาร์ม อย่างไรก็ตาม หากมองวัตถุประสงค์ในการใช้วัคซีนให้เต็มประโยชน์ที่มีในช่วงเวลานี้ที่มีซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า ยังสามารถป้องกันป่วยรุนแรง และเสียชีวิตได้สูง แม้เจอเชื้อกลายพันธุ์ ส่วนข้อมูลที่มีนักวิชาการเอาเลือดของผู้ที่ได้รับวัคซีนไปทำปฏิกิริยากับไวรัสในหลอดทดลอง ก็เป็นตัวทำนายผลการป้องกันโรคทั่วไป ยอมรับว่าได้ผลลดลง แต่ก็ลดลงทุกตัว
นพ.นคร ยังกล่าวถึงการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ (Booster) หรือฉีดเข็ม 3 ว่า ขณะนี้ทีมวิชาการ และอาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องระยะเวลาที่เหมาะสมเป็นอย่างไร การฉีดซ้ำตัวไหนเป็นอย่างไร
“เช่น ซิโนแวค 2 เข็ม กระตุ้นด้วยซิโนแวคเข็ม 3 แล้วภูมิเป็นอย่างไร หรือ ซิโนแวค 2 เข็ม กระตุ้นเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าฯ เป็นอย่างไร หรือซิโนแวค 2 เข็ม ซ้ำด้วยวัคซีน mRNA ภูมิคุ้มกันจะเป็นอย่างไร ทั้งหมดเพื่อจะตอบโจทย์ว่า แล้วถ้าปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นต่จะสู้เชื้อเดลต้าได้หรือไม่ จะเป็นข้อมูลในการตัดสินใจใช้วัคซีนได้แม่นยำมากขึ้น จะใช้เวลาในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้ ทั้งนี้ เมื่อออกมาแล้วเชื่อว่าบุคลากรการแพทย์ และผู้สูงอายุ และมีโรคร่วมก็จะเป็นกลุ่มแรกๆ เช่นกัน เป็นไปตามลำดับความสำคัญ ส่วนวัคซีนภาพกว้าง เมื่อมีวัคซีนมากขึ้น เราค่อยขยายวัคซีนให้กลุ่มที่ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ” ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนฯ กล่าว
เมื่อถามย้ำกรณีมีแพทย์รายหนึ่งระบุว่า เหตุที่ไทยได้วัคซีนไฟเซอร์ โมเดอร์นา ช้า เพราะรัฐบาลไม่ยอมเซ็นสัญญา นพ.นคร กล่าวว่า ใครพูดก็ไปเอาหลักฐานมาว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ไม่ใช่พูดลอยๆ
“เราได้เซ็นหนังสือจองวัคซีนไฟเซอร์ไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน อยู่ระหว่างทำสัญญาจัดซื้อ ไม่ได้มีการประวิงเวลา ไม่ได้รีรอ วันนี้เมื่อมีการเสียเปรียบ เราก็ต้องมีการ เจรจาต่อรอง เพื่อให้เราเสียเปรียบน้อยที่สุด ส่วนเรื่องรายละเอียดขอไม่เปิดเผย เนื่องจากอยู่ระหว่างการเจรจา แต่ไม่ใช่หมายความว่า เราไม่ทำอะไร เรายังเดินหน้าจัดหาวัคซีน mRNA สุดท้ายหากจำเป็นก็ต้องยอมเสียเปรียบ” นพ.นคร กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
– นพ.บุญ เผยโทรหา ‘ไฟเซอร์-โมเดอร์นา’ ทวงถามวัคซีนล่าช้า ได้คำตอบ ‘รบ.ไม่เซ็นสัญญา’
– อัยการแจง ยังไม่เคยมีสัญญาซื้อขายโมเดอร์นา ส่งมาให้อัยการตรวจ