กรมควบคุมโรคเผยครูสาวดับหลังฉีดไขว้ สมองบวม เร่งพิจารณาเกี่ยววัคซีนหรือไม่

กรมควบคุมโรคเผยเหตุครูสาวเสียชีวิตจากอาการสมองบวม ตรวจเพิ่มเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนหรือไม่

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า กรณีที่ครูสาวรายหนึ่งที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้ฉีดวัคซีนสลับชนิด แล้วเสียชีวิต 1 วันหลังการฉีดเข็มที่ 2

จากการรายงานผลการชันสูตรเบื้องต้น สาเหตุการเสียชีวิตคือสมองบวมจากก้อนในสมอง ทำให้เลือดไปกดทับก้านสมอง ทั้งนี้ ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตด้วย สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ จะนำรายละเอียดไปประกอบกับหลักฐานอื่นๆ ที่จะพิจารณาว่ามีความเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนหรือไม่ โดยคณะผู้เชี่ยวชาญจะรวบรวมข้อมูลหลักฐานต่างๆ มาประกอบการพิจารณาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโรคประจำตัว สถานะสุขภาพอื่นๆ มาพิจารณา ซึ่งจะรายงานให้ทราบต่อไป

นพ.เฉวตสรรกล่าวต่อว่า ส่วนการฉีดวัคซีน จากข้อมูล ณ วันที่ 22 กรกฎาคม เวลา 18.00 น. ประเทศไทยฉีดวัคซีนสะสมทั้งสิ้น 15,388,939 โดส ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 11,805,180 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 3,583,759 ราย ถ้าแยกชนิดของวัคซีน แยกได้ดังนี้ ซิโนแวค 7,933,854 โดส แอสตร้าเซนเนก้า 6,856,472 โดส และซิโนฟาร์ม 598,613 โดส โดยผลสรุปเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการได้รับวัคซีนโควิด-19 (AEFI) ประจำวันที่ 18 กรกฎาคม เวลา 16.30 น. จำนวนวัคซีนที่ฉีดสะสม 14,298,596 โดส พบผู้ป่วย AEFI เข้าเกณฑ์การรายงานของกรมควบคุมโรค ดังนี้ เข้าเกณฑ์ร้ายแรง 1,343 ราย คิดเป็น 9.4 ต่อการฉีดวัคซีนแสนโดส เสียชีวิต 231 ราย คิดเป็น 1.6 ต่อการฉีดแสนโดส และผู้ป่วยอื่นๆ เช่น มีไข้ 2,565 ราย คิดเป็น 17.9 ต่อการฉีดวัคซีนแสนโดส รวมเป็น 4,139 ราย คิดเป็น 28.9 ต่อการฉีดวัคซีนแสนโดส

“ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญได้สรุปสถานการณ์เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์-18 กรกฎาคม พบผู้มีอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงสะสมจำนวน 1,592 ราย พิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญแล้วเสร็จ 482 ราย อยู่ระหว่างติดตามข้อมูล 1,110 ราย ในจำนวน 482 ราย แบ่งเป็น เกี่ยวกับวัคซีน เช่น อาการแพ้ 71 ราย รักษาหายทุกราย เกี่ยวกับการฉีดวัคซีน คือ มีปฏิกิริยาร่างกายแต่ตรวจไม่พบความผิดปกติ 240 ราย รักษาหาทุกราย เหตุการณ์ร่วมไม่เกี่ยวกับวัคซีน คือ เจ็บป่วยรักษาหาย 36 ราย เสียชีวิต 122 ราย ไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ 13 ราย” นพ.เฉวตสรรกล่าว

Advertisement

นพ.เฉวตสรรกล่าวต่อว่า ส่วนร้อยละของอาการที่พบหลังการได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน จำแนกตามชนิดของวัคซีนที่ได้รับ คือ ซิโนแวค จำนวน 1,633 ราย มีอาการและอาการแสดง ดังนี้ เวียนศีรษะ 21.92% ปวดศีรษะ 15.25% คลื่นไส้ 14.88% อาเจียน 12.43% อ่อนเพลีย 9.37% ปวดกล้ามเนื้อ 6.86% ผื่น 6.74% ถ่ายเหลว 6.00% ไม่สบายตัว 4.41% และไข้ 3.98% แอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 1,802 ราย มีอาการและอาการแสดง ดังนี้ ไข้ 24.75% เวียนศีรษะ 21.92% ปวดศีรษะ 15.25% คลื่นไส้ 14.88% ปวดกล้ามเนื้อ 14.21% อาเจียน 12.43% อ่อนเพลีย 9.37% ถ่ายเหลว 9.05% ไม่สบายตัว 8.32% และเป็นลม 3.06% ซิโนฟาร์ม จำนวน 34 ราย อาการและอาการแสดง ดังนี้ เวียนศีรษะ 32.35% คลื่นไส้ 29.41% อาเจียน 26.47% ปวดศีรษะ 17.65% คัน 8.82% อ่อนเพลีย 8.82% ไข้ 8.82% ผื่น 5.88% เป็นลม 5.88% และผื่นแพ้ 5.88%

ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคกล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ขอชี้แจงประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจ การศึกษาการวัดประสิทธิภาพวัคซีนที่ฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โดยแยกเป็น กลุ่มที่ฉีดวัคซีนครบ (นานกว่า 14 วันขึ้นไป) จำนวน 366 ราย พบการติดเชื้อ 24 ราย คิดเป็น 7.1% และกลุ่มที่ไม่ฉีดวัคซีน 27 ราย พบการติดเชื้อ 11 ราย คิดเป็น 40.7% พบว่ากลุ่มไม่ฉีดวัคซีน ติดเชื้อสูงกว่ากลุ่มที่ฉีดวัคซีน 5.7 เท่า

สรุป วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม มีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อ 82.5% นอกจากนี้ พบว่ากลุ่มที่ฉีดวันซีน พบปอดอักเสบ 4 ราย คิดเป็น 1.2% กลุ่มที่ไม่ฉีดวัคซีน พบปอดอักเสบ 2 ราย คิดเป็น 7.4% กลุ่มที่ไม่ฉีดวัคซีน ปอดอักเสบสูงกว่ากลุ่มที่ฉีดวัคซีน 6.2 เท่า สรุป วัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม มีประสิทธิผลป้องกันปอดอักเสบ 83.9% ส่วนการฉีดวัคซีน-19 ทั่วโลก มีรายละเอียดดังนี้ ฉีดวัคซีนทั่วโลก 3.76 พันล้านโดส ประชากรโลกฉีดวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดสแล้ว 26.8% ฉีดครบแล้ว 13.4% และปัจจุบันฉีดวัคซีนประมาณ 29.8 ล้านโดสต่อวัน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image