ศบค.เผยผลวิจัย ฉีดวัคซีนไขว้ ภูมิคุ้มกันสูง SSA พุ่งถึง 271.17% ฉีด SA กันเดลต้าได้ดี

ศบค.เผยผลวิจัย ฉีดวัคซีนไขว้ ภูมิคุ้มกันสูง SSA พุ่งถึง 271.17% ฉีด SA กันเดลต้าได้ดี

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 20 สิงหาคม 19,851 ราย จำแนกเป็น ติดเชื้อใหม่ 19,526 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 325 ราย ผู้ป่วยสะสม 980,847 ราย หายป่วยกลับบ้าน 20,478 ราย หายป่วยสะสม 768,379 ราย

ผู้ป่วยกำลังรักษา 205,079 ราย อาการหนัก 5,000 กว่าราย ใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ 1,000 กว่าราย เสียชีวิต 240 ราย เสียชีวิตสะสม 8,826 ราย อย่างไรก็ตาม การรายงานผู้ติดเชื้อ เป็นผู้ป่วยยืนยันตรวจด้วย RT-PCR

ส่วนการตรวจด้วย Antigen Test Kit (ATK) จะเรียกว่าผู้ป่วยเข้าข่าย โดยใน กทม. ยังมีการตรวจด้วย ATK อย่างต่อเนื่อง ตัวเลขการรายงานแต่ละวันติดเชื้ออยู่ที่กว่า 10% อย่างวันนี้อยู่ที่ 14.4% และในวันถัดไป ถ้า ATK เป็นบวกจะเข้าสู่ระบบ home isolation (HI) หรือการกักตัวที่บ้าน แต่ถ้าต้องเข้าสู่ระบบโรงพยาบาลในระดับสีเขียว สีแดง จะมีการยืนยันด้วย RT-PCR ก็จะมีการนำยอดไปบวกรวมกับตัวเลขผู้ติดเชื้อโดยรวมต่อไป

พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า สำหรับยอดผู้เสียชีวิต 240 ราย ตัวเลขใหญ่ยังเป็นกรุงเทพฯ 75 ราย ขณะเดียวกันจะเห็นการกระจายไปยังจังหวัดอื่นๆ รายละเอียดผู้เสียชีวิตตั้งแต่ 25 กรกฎาคม ถึงวันที่ 19 สิงหาคม ศึกษาในกลุ่มผู้เสียชีวิต 4,656 ราย พบว่า 2,969 ราย ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน คิดเป็น 63.8% ได้รับแอสตร้าเซนเนก้า เข็ม 1 ภายใน 2 สัปดาห์ เสียชีวิต 316 ราย คิดเป็น 7% เสียชีวิตหลังได้รับแอสตร้าเซนเนก้า เข็ม 1 ภายใน 4 สัปดาห์ 118 ราย คิดเป็น 2.6%

Advertisement

สิ่งที่อยากย้ำคือ ผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มและเสียชีวิต ตัวเลขอยู่ที่ 26 ราย คิดเป็น 0.6% ถือว่าเป็นตัวเลขที่น้อยที่สุด นำมาสู่นโยบายที่ย้ำมาตลอดให้ทุกจังหวัดระดมฉีดวัคซีนในกลุ่ม 608 คือ กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรค และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ และเด็กที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปด้วย ส่วนการดูทิศทางผู้ติดเชื้อรายวัน กรุงเทพฯและปริมณฑล 41% ต่างจังหวัด 59% แนวโน้มมีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขจะคงที่ แต่อย่างที่เน้นย้ำว่าแม้จะฉีดวัคซีนแล้ว ยังประมาทไม่ได้ เพราะยังก็มีโอกาสจะติดเชื้อ

“ถ้าเทียบรายงานผู้เสียชีวิตรายวัน เห็นได้ชัดว่าต่างจังหวัดเริ่มมีการรายงานผู้เสียชีวิตสูงกว่ากรุงเทพฯและปริมณฑล ส่วนการศึกษาการให้วัคซีนตามนโยบาย ที่ตอนนี้มีการให้วัคซีนไขว้ หรือวัคซีนสลับยี่ห้อ กรมวิทยาศาสตรการแพทย์ ร่วมกับศิริราชพยายาล ศึกษาวัคซีนสลับและวัคซีนที่มีการให้เข็ม 3 ต่อการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้ามีผู้เข้าร่วม ศึกษา 125 ราย แบ่งเป็น กลุ่มที่ได้รับวัคซีน SS ซิโนแวค 2 เข็ม AA แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม SA ซิโนแวค เข็ม 1 และแอสตร้าเซนเนก้า เข็ม 2 และ SSA เป็นซิโนแวค 2 เข็ม และแอสตร้าเซนเนก้า เข็ม 3 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ศึกษาด้วยการวัดระดับภูมิคุ้มกัน

ค่าที่ได้ SS 24.31% AA 76.52% SA 78.65% และสุดท้าย SSA ค่าระดับภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 271.17% เป็นที่มาที่ สธ.ย้ำนโยบายที่จะให้ฉีดวัคซีนไขว้ SA ซึ่งในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก ครั้งนี้ทาง กทม.ก็รับนโยบายดังกล่าวไปปฏิบัติ ขณะที่การศึกษาพบว่าการกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยการใช้วัคซีนไขว้ SA นั้น การกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ผลดี อีกทั้งยังใช้เวลาฉีดเข็ม 1 และ 2 ห่างกันเพียง 3 สัปดาห์ เหมาะสมกับสถานการณ์ติดเชื้อเดลต้าที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบัน” พญ.อภิสมัยกล่าว

Advertisement

พญ.อภิสมัยกล่าวต่อด้วยว่า ในแง่การดูยอดผู้ติดเชื้อ 10 อันดับจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศรายใหม่สูงสุด อันดับ 1 กรุงเทพฯ 4,181 ราย สมุทรสาคร 1,556 ราย ชลบุรี 1,348 ราย สมุทรปราการ 1,055 ราย นครราชสีมา 575 ราย สระบุรี 494 ราย ปทุมธานี 461 ราย นครปฐม 460 ราย พระนครศรีอยุธยา 453 ราย และระยอง 414 ราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image