สมาคมเวชศาสตร์ฯ ร่วมรพ.ราชวิถี สสส.ตั้งศูนย์ให้ข้อมูลเจ็บป่วยฉุกเฉิน พร้อมแจงทุกประเด็นที่สังคมสงสัย

เมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่โรงพยาบาลราชวิถี สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ร่วมกับโรงพยาบาลราชวิถี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าวเปิดตัว “โครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน” โดย ศ.เกียรติคุณ นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีประชาชนเจ็บป่วยเข้ารับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินปีละกว่า 25 ล้านคน จำนวนนี้มีผู้ป่วยฉุกเฉินจำนวนมากเสียชีวิตและพิการ ซึ่งอัตราผู้ป่วยฉุกเฉินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ละโรงพยาบาลจะประสบปัญหาเช่นกัน คือ ผู้ป่วยเต็มห้องฉุกเฉิน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุ โรคหัวใจเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง ฯลฯ ซึ่งหลายสาเหตุสามารถป้องกันได้ โครงการดังกล่าวจึงมีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในการดูแลตนเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัยต่างๆ ที่จะทำให้เกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินขึ้นได้ และหากเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินก็สามารถดูแลและหยุดยั้งอาการไม่ให้กำเริบจนเสียชีวิตหรือพิการถาวร

“โครงการนี้จะมีการตั้งศูนย์ส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน เพื่อเป็นศูนย์กลางในกากรให้ข้อมูลความรู้ ใน 3 ลักษณะ คือ 1.กรณีเกิดเหตุการณ์เจ็บป่วยฉุกเฉินที่เป็นที่สนใจของคนในสังคม เช่น คนดังในสังคมเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินต้องเข้าโรงพยาบาล เป็นต้น ก็จะมีการนัดแถลงข่าวเพื่อให้ประชาชนเข้าใจถึงลักษณะของโรค การป้องกันทำได้อย่างไร และเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะดูแลรักษาอย่างไร ทั้งในส่วนของตัวผู้ป่วยเอง คนรอบข้าง และบุคลากรทางการแพทย์ 2.เมื่อพบข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยฉุกเฉินแบบผิดๆ และเป็นที่สนใจของสังคมก็จะมีการให้ข้อมูลผ่านสื่อที่ถูกต้อง และ 3.จะมีการประสานหน่วยฉุกเฉินแต่ละโรงพยาบาลว่าหากพบเคสที่ควรให้ความรู้แก่ประชาชนก็อยากให้ส่งข้อมูลมายังสมาคมฯ เพื่อที่จะได้จัดทำข้อมูลการป้องกันและดูแลที่ถูกต้องแก่ประชาชน ซึ่งมีทั้งการแถลงข่าวต่อประชาชนและการทำข้อมูลผ่านทางโซเชียลมีเดีย” ศ.เกียรติคุณ นพ.สันต์ กล่าว

นพ.พินิจ กุลละวณิชย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกรายงานว่าร้อยละ 68 ของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลกเกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ปัจจัยเสี่ยงคือ กรรมพันธุ์ เพศ อายุ ความเครียด การไม่ออกกำลังกาย การสูบบุหรี่ โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิต และไขมันในเส้นเลือด สำหรับประเทศไทยพบว่าสาเหตุการตายหลายปีที่ผ่านมา อันดับต้นๆ คือ โรคมะเร็ง อุบัติเหตุและการเป็นพิษ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและอุดตัน โรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งสามารถป้องกันได้ทั้งสิ้น ด้วยการดูแลสร้างเสริมสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย ดูแลน้ำหนักให้อยู่ในระดับปกติ ลดปัจจัยเสี่ยงไม่ดื่มสุรา ไม่สูบบุหรี่ เป็นต้น

นพ.ไพโรจน์ เครือกาญจนา หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.ราชวิถี กล่าวว่า โครงการจะมีการทำคู่มือสำหรับประชาชนในการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินและเมื่อเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินแล้วจะทำอย่างไร และคู่มือสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ให้สามารถวินิจฉัยอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินของผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วขึ้นด้วย ว่าเป็นอาการฉุกเฉินสีแดงที่ต้องรักษาเร่งด่วน หรือเป็นฉุกเฉินสีเหลืองที่ต้องส่งต่อ หรือกลุ่มสีเขียวที่ยังสามารถรอได้ ซึ่งทุกวันนี้ยังต้องอาศัยแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินในการวินิจฉัย ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลก็มีจำนวนน้อย อย่าง รพ.ราชวิถีมีประมาณ 12 คนเท่านั้น ซึ่งการวินิจฉัยได้รวดเร็วจะช่วยให้ดูแลผู้ป่วยได้รวดเร็วขึ้น ลดโอกาสการเสียชีวิตและพิการจากการเจ็บป่วยฉุกเฉินลงได้

Advertisement

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส.กล่าวว่า คนไทยตายจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังปีละประมาณ 310,000 คน จากการติดเชื้อ 60,000 คน อุบัติเหตุ 55,000 คน ขณะที่การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุการตายของคนไทย 50,000 คนต่อปี สุราเป็นสาเหตุการตาย 22,000 คนต่อปี ส่วนการรับประทานอาหารไม่เหมาะสมเป็นสาเหตุการตาย 22,000 คนต่อปี และการไม่ออกกำลังกายเป็นสาเหตุการตาย 11,000 คนต่อปี ซึ่งการจะป้องกันได้นั้นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคือ ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ เพิ่มการมีกิจกรรมทางกาย ลดการบริโภคโซเชียม เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการให้ความรู้มาโดยตลอดเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แต่สถานการณ์ปกติคนจะเปิดรับข้อมูลเหล่านี้น้อย แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เป็นที่สนใจของสังคม เช่น คนดังเจ็บป่วยฉุกเฉิน เมื่อเอามาอธิบายว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ป้องกันตัวเองอย่างไร โครงการนี้จึงเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการสื่อสารกับประชาชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image