สิงห์ชัย ทนินซ้อน สร้างแบรนด์เชื่อมั่น‘อัยการ’

สร้างแบรนด์เชื่อมั่น‘อัยการ’

สิงห์ชัย ทนินซ้อน
สร้างแบรนด์เชื่อมั่น‘อัยการ’

หมายเหตุนายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด รับตำแหน่งวันแรกเมื่อ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ถือเป็นอัยการสูงสุดคนที่ 16 ให้สัมภาษณ์”มติชน”ถึงแนวทางขับเคลื่อนให้สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) เป็นองค์กรคุณธรรม ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ถูกต้อง รวดเร็ว มีคุณธรรม บังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาความยุติธรรมให้กับประชาชนและสังคม

⦁วิกฤตศรัทธากระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้น จะกู้ภาพลักษณ์องค์กรอย่างไร

นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ภารกิจหลักองค์กรยังคงเดิม แต่บริบทสังคมที่เปลี่ยนไปความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีการเปลี่ยนแปลง และเพื่อให้เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลง จึงต้องมีการสร้างตัวตนที่ชัดเจน ไม่ใช่การสร้างภาพ ซึ่งการแบรนด์สำนักงานอัยการสูงสุด เราต้อง เข้าใจ เข้าถึง และมีส่วนร่วม

Advertisement

‘เข้าใจ’ หมายถึง ข้าราชการฝ่ายอัยการ รวมถึงบุคลากรทุกคน ต้องเข้าใจในภารกิจตนเองอย่างแท้จริง ในการปฏิบัติภารกิจเราต้องเป็นผู้พิทักษ์ เป็นที่พึ่งด้านกฎหมายประชาชน ที่ใช้ความรู้ความสามารถอย่างมีเหตุผล

‘เข้าถึง’ ภารกิจองค์กร ต้องใช้กฎหมายและเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการสร้างความยุติธรรมและความเสมอภาคให้เกิดขึ้นกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มเข้าถึงโดยง่าย ดังนี้ สำหรับประชาชน ต้องอำนวยความยุติธรรมเชิงรุก พิจารณาสั่งคดีและปฏิบัติอย่างเป็นอิสระ โดยอิสระ โดยสุจริต เที่ยงธรรม พร้อมมุ่งคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างทั่วถึง โดยไม่ล่าช้า และเป็นไปตามหลักนิติธรรม ส่วนภาครัฐ เราสนับสนุนงานด้านกฎหมายแก่ภาครัฐ ในส่วนหน่วยงานกระบวนการยุติธรรม เราส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างๆ และในส่วนบุคลากร ต้องสนับสนุนการพัฒนาความรู้ ความสามารถเพื่อรักษาซึ่งการเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือ ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงและเป็นที่พึ่งของประชาชน

‘มีส่วนร่วม’ ในการปฏิบัติงานด้านต่าง ๆ การมีส่วนร่วมจะทำให้เกิดความสำเร็จตามเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Advertisement

⦁นโยบายยุติธรรม-พัฒนา-สามัคคี-มีคุณธรรมทำอย่างไรให้เห็นผลเป็นรูปธรรม กู้ภาพลักษณ์องค์กร

‘ยุติธรรม’การอำนวยความยุติธรรม รักษาผลประโยชน์ของรัฐ และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ด้วยหลักนิติธรรมและบริหารงานด้วยธรรมาภิบาล ได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ขับเคลื่อนภารกิจนั้น มีผลการดำเนินงานสำคัญที่ผ่านมา 1.การตรวจร่างสัญญาและเป็นที่ปรึกษาปัญหาทางกฎหมาย เพื่อให้หน่วยงานของรัฐที่ใช้บริการ ได้รับประโยชน์สูงสุด มีร่างสัญญา 141 ฉบับ ทุนทรัพย์ 136,898 ล้านบาท และปรึกษาปัญหาทางกฎหมาย 424 ฉบับ ทุนทรัพย์ 308,941 ล้านบาท,การตรวจร่างสัญญาเกี่ยวกับการนำเข้าวัคซีนของรัฐบาล รวมทั้งสิ้น 27 สัญญา,การบังคับคดี โดยดำเนินการไปแล้ว 46,169 คดี ทุนทรัพย์ 317,589 ล้านบาท, การดำเนินคดีอาญา ที่สั่งและดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 705,042 คดี

ส่วนที่กำลังจะดำเนินงานมีการเพิ่มประสิทธิภาพการสอบสวนและสั่งคดีของพนักงานอัยการให้มีความเที่ยงธรรมและรวดเร็ว ตลอดจนร่วมมือกับองค์กรอื่นในกระบวนการยุติธรรม ให้สามารถป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ,การให้ความช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินการทางกฎหมายรวมตลอดทั้งในการคุ้มครองป้องกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ,โครงการจัดหาอุปกรณ์และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) เพื่อรองรับโควิด-19 ระบาด,โครงการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการบังคับคดี และการให้บริการประชาชนในการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในวันหยุดราชการ (วันเสาร์) เวลา 08.30-12.00 น. โดยจะนำร่องใน 9 จังหวัดที่พร้อมแล้วจึงขยายไปทั้งประเทศ ทั้งนี้ จะพิจารณาค่าตอบแทนให้แก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานในช่วงเวลาดังกล่าวตามเหมาะสมต่อไป

‘พัฒนา’ ให้เป็นองค์กรดิจิทัล เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงาน และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชน

ผลดำเนินที่ผ่านมา ประการแรก ได้บรรจุบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล 20 ราย และการจัดตั้งสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อรองรับการขับเคลื่อนการเป็นองค์กรดิจิทัล 2.การจัดทำฐานข้อมูลสารบบคดีอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญ ประกอบด้วย ระบบอัยการช่วยได้ “OAG-Lawaid” เป็นระบบที่ให้ความช่วยเหลือแนะนำปรึกษาปัญหา ทางกฎหมายแก่ประชาชน ประกอบด้วย สารบบแอพพลิเคชั่น และเว็บไซต์ ทำให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการด้านกฎหมาย ได้สะดวก รวดเร็ว ลดภาระงาน และลดเวลาการรับบริการ โดยมีระบบการเชื่อมต่อทั้งหน่วยงานภายในและภายนอก เช่น สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักนายกรัฐมนตรี (ตู้ ปณ 1111) ธนาคารกรุงไทย โดยพัฒนาระบบสารสนเทศสถิติคดี “OAG-DVs : Data Visualize System” เป็นระบบที่แสดงถึงข้อมูล การใช้จ่ายงบประมาณในคดี ,ระบบติดตามข้อมูลคดีเพื่อบริการประชาชน,ระบบ “OAG-Tracking” เป็นระบบติดตามข้อมูลคดี (เข้าถึงประชาชนได้),ระบบติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดีค้ามนุษย์ “OAG-AHT” เป็นระบบฐานข้อมูลการดำเนินคดีทั่วประเทศ และ ระบบการแจ้งเตือน “OAG-Alert” เป็นระบบคัดกรองเอกสารเพื่อช่วยเหลือพยาน พร้อมแจ้งเตือนก่อนกำหนดการสั่งคดี 30 วันนัดหมาย

3.การพัฒนาโซเชียลมีเดีย ได้แก่ “ไลน์ออฟฟิศของสำนักงานอัยการสูงสุด” ซึ่งเป็นช่องทางให้บริการแก่ทุกภาคส่วน 4.ขอคำปรึกษาทางกฎหมาย ติดตามสถานะ รวมถึงการนัดหมายกับพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการ ในเรื่องต่างๆ และ5.การนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปประยุกต์ใช้ในด้านอื่นๆ เช่น การสัมภาษณ์เพื่อบรรจุแต่งตั้งผ่านระบบ Zoom

สิ่งที่กำลังดำเนินงาน คือ การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการปฏิบัติงานทางด้านข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลสู่องค์กรอัจฉริยะ และการพัฒนาด้านการแปรรูปบริการดิจิทัล มี โครงการพัฒนาระบบการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม มุ่งให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลือและสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านกฎหมายต่างๆ อาทิ ระบบการอำนวยความยุติธรรมอิเล็กทรอนิกส์ “OAG-E Prosecution” เป็นระบบสารบบคดี ประกอบด้วย ชื่อและที่อยู่ของผู้ต้องหาผู้เสียหาย การดำเนินคดีในชั้นพนักงานอัยการและในชั้นศาล เช่น คำสั่งของพนักงานอัยการ วันนัดพิจารณาและคำพิพากษาของศาลในคดีเรื่องนั้น ประชาชนสามารถติดตามคดีผ่านแอพพลิเคชั่น เว็บ ได้รวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย ทันสมัย โดยไม่ต้องเดินทางมายัง อส. และโครงการอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนเคลื่อนที่ สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยเป็นรถมินิบัสเคลื่อนที่เร็ว 120 คัน เพื่อบรรยายให้ความรู้และให้คำปรึกษาทางกฎหมาย เป็นต้น

‘ความสามัคคี’ ประสานความร่วมมือ สร้างการมีส่วนร่วม และบูรณาการในกระบวนการยุติธรรม และทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ

ผลการดำเนินงานสำคัญที่ผ่านมา 1.การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่าง อส. กับหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานศาลยุติธรรม,แพทยสภา,สำนักงานคดีอาญา อส.,บช.น.,บก.ป.,สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม, กรมบังคับคดี และได้บันทึกความร่วมมือเชื่อมโยงข้อมูลคดีทุจริตโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์กับ ป.ป.ช., ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้,ธนาคารแห่งประเทศไทย และการดำเนินงานผ่านคณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการทำประมงผิดกฎหมาย

กำลังดำเนินการ คือ การอำนวยความยุติธรรม การช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน และพัฒนาบุคลากรทางวิชาการ เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น โดยความร่วมมือกับทุกภาคส่วน,โครงการเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ,โครงการเสริมสร้างศักยภาพพนักงานอัยการในการประสานความร่วมมือด้านอาชญากรรมข้ามชาติและความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องอาญาการจัดตั้งและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินคดีอาชญากรรมข้ามชาติให้มีประสิทธิภาพในภูมิภาคอาเซียน

‘มีคุณธรรม’ ได้ยกระดับสมรรถนะบุคลากรเพื่อประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนภารกิจโดยยึดมั่น ในคุณธรรม จริยธรรม ให้เป็นที่เชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชน รวมทั้งสร้างขวัญ กำลังใจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากร ที่ผ่านมา การจัดทำระบบ e-learning เพื่อส่งเสริมทักษะจำเป็นต่อการปฏิบัติงานให้แก่บุคลากรทุกภาคส่วน,โครงการจัดการความรู้ เพื่อเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้,โครงการจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมการว่าความชั้นสูง สถาบันฝึกอบรมการสอบสวนชั้นสูง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาการสอบสวนและการดำเนินคดี สำนักงานอัยการสูงสุด,ทำประกันประกัน
โควิด-19 ให้แก่บุคลากร,การจัดทำประกันชีวิตให้ผู้ปฏิบัติงานชายแดนภาคใต้ และโครงการยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลดีเด่นด้านคุณธรรม

ที่กำลังดำเนินงาน อย่างแรก คือ พัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากรในทุกมิติที่ครอบคลุม การก่อสร้างเพิ่มเติมอาคารสถานที่ สวัสดิการ ที่เหมาะสม เพียงพอต่อการดำรงชีวิตและการปฏิบัติงาน โดยก่อสร้างอาคารสำนักงานทั่วประเทศ 6 แห่ง และรายการผูกพัน 29 แห่ง 2.การพัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและการปฏิบัติงานให้บุคลากรทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้หลักยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม ให้เป็นที่เชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชน 3.การจัดหาเครื่องมือตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้แก่บุคลากร 4.การจัดหาวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 ให้ครอบคลุมบุคลากร ทั่วทั้งประเทศ 5.การจัดหาโรงพยาบาลสนาม การจัดตั้งศูนย์กลางหาที่พักผู้ป่วย,การปรับปรุงค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์
อื่นๆ ให้แก่บุคลากรอย่างเท่าเทียมกับหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ

⦁บทบาทการสั่งคดีต่างๆ มีอะไรต้องปรับปรุง บางคดีเช่นคดีพิเศษมีอัยการสำนักงานสอบสวนไปร่วมสอบสุดท้ายคดีพิเศษสั่งไม่ฟ้องขัดกันเองหรือไม่ ต่อไปบูรณาการอย่างไร

1.โดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งสำนวนคดีโดยปราศจากอคติหรือการแทรกแซงไม่ว่าจะโดยผู้บังคับบัญชาหรือฝ่ายใดๆ และหากเป็นคดีสำคัญทั้งฐานะของคู่ความหรือเรื่องราวที่สังคม ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจ อส.จะมีระเบียบว่าด้วยการพิจารณาคดีสำคัญอยู่แล้ว รวมทั้งกรณีหากสั่งไม่ฟ้องจะให้เสนอสำนวนตามลำดับขั้นตอน เพื่อให้อธิบดีอัยการเป็นผู้มีความเห็นและคำสั่ง ดังนั้น ในบทบาทการทำหน้าที่พนักงานอัยการจึงไม่มีอะไรต้องแก้ไข โดยเฉพาะการเป็นอิสระขององค์กรอัยการ

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่มักเป็นปัญหาในการอำนวยความยุติธรรมของอัยการคือการร้องขอความเป็นธรรม ประเด็นนี้ในปี 2563 อส.ได้แก้ไขระเบียบว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการในประเด็นการร้องขอความเป็นธรรมใหม่แล้ว เช่น การร้องขอความเป็นธรรม จะต้องมาร้องด้วยตนเอง จะมอบอำนาจให้ทนายหรือคนอื่นไม่ได้ เป็นต้น เพื่อป้องกันประวิงคดี

สำหรับการคุ้มครองสิทธิประชาชนทางกฎหมาย เป็นงานหลักอีกงานหนึ่ง จะมีสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี ด้านกฎหมาย แก่ประชาชนครอบคลุมทุกจังหวัด และการแบ่งโครงสร้างภายใน อส. ได้กำหนดให้มีหัวหน้าพนักงานอัยการด้านคุ้มครองสิทธิ ซึ่งจะต้องเป็นผู้ผ่านหลักสูตรการอบรม เช่นเดียวกันกับอัยการจังหวัด

⦁การชี้ขาดหรือกลับคำสั่งคดีใหญ่ๆ พอมีคำสั่งออกมาเป็นที่วิจารณ์สังคม วางเเนวทางการอย่างไร

ไม่ว่าจะคดีเล็กหรือใหญ่ หลักการทำงานอัยการจะยึดข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน ในการสั่งสำนวน และแนวทางปฏิบัติจะมีระเบียบวางไว้ชัดเจนว่า ส่วนการกำกับดูแลสายงานบังคับบัญชา กฎระเบียบ อส.วางไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นคดีที่กล่าวมาจึงไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องพิจารณาพิเศษต่างจากคดีอื่น

⦁วางหลักทำสำนวนคดีชุมนุมทางการเมือง มีจุดยืนตรงข้ามอำนาจรัฐอย่างไร

สำนวนทุกประเภทอัยการยึดข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน และข้อกฎหมายเท่านั้น ประเด็นอื่นๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือสำนวนอัยการไม่มีสิทธินำไปพิจารณาอยู่แล้ว มิเช่นนั้นจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ

⦁มองกระบวนการยุติธรรมที่จะทำให้ประเทศไปต่อได้ต้องทำอย่างไร

หลักคือ ปกติกระบวนการยุติธรรมไทย มีการแบ่งภารกิจของแต่ละหน่วยงานไว้ชัดเจน เช่น ขั้นตอนการสอบสวน การพิจารณาสั่งสำนวนและการดำเนินคดี ตลอดจนขั้นตอนการพิจารณาคดีและตัดสิน หลักการนี้ใช้กับไทยมาเป็น 100 ปีแล้ว หลักๆ คงไม่มีอะไรต้องปรับปรุง แต่ขอเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนให้ความเคารพ และปฏิบัติตามกฎหมายและภารกิจเพื่อความยุติธรรมที่จะเกิดขึ้นจริงเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างสูงสุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image