สตง. ทักท้วง ห้ามสปสช. จ่ายเงินช่วยบุคลากรสาธารณสุข

แฟ้มภาพ
นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

ประชุมบอร์ดสปสช.ครั้งแรก รับผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ “รมว.สธ.” ย้ำสัดส่วนผู้ทรงฯอย่าติงมาจากแพทยสภา ขณะที่สตง.ห้ามสปสช.ใช้เงินส่งเสริมกิจการภาครัฐ

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) มีการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ด สปสช.) ครั้งแรกภายหลังคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบพิจารณาแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 7 คน ประกอบด้วย 1. นางสมศรี เผ่าสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประกันสุขภาพ 2. นายจรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และสาธารณสุข 3. นายณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทย 4. นายพินิจ หิรัญโชติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ทางเลือก 5. นางชุมศรี พจนปรีชา ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการคลัง 6. นายสมใจ โตศุกลวรรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และ 7. นายจิตติ มงคลชัยอรัญญา ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมศาสตร์ โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานบอร์ดสปสช. เป็นประธานการประชุมบอร์ดสปสช. ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในการประชุมบอร์ดสปสช.ใหม่ทั้งชุดรวม 30 คน มีกรรมการโดยตำแหน่ง 9 คน และกรรมการคัดเลือกจากองค์กรส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน ผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ 14 คน ขณะที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิอีก 7 คน

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้มีการแจ้งให้ทราบถึงมติครม.เห็นชอบผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 7 คน ซึ่งทุกคนก็เป็นผู้มีความรู้ความสามารถเพื่อขับเคลื่อนการทำงานด้านระบบหลักประกันสุขภาพต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ตาม จากที่มีข้อท้วงติงหรือคำถามว่า เพราะอะไรในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิจึงมีสัดส่วนจากแพทยสภา กลุ่มสภาวิชาชีพมากกว่ากลุ่มอื่นๆ จะเป็นผลดีหรือไม่ ต้องขอย้ำว่า เพราะอะไรต้องมาแยกฝั่งแยกฝ่าย เพราะเอาเข้าจริง ไม่ว่าแพทยสภา หรือกลุ่มไหนก็ล้วนอยากทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ เพื่อประชาชนทั้งนั้น อย่าไปแบ่งแยกดีกว่า อย่างไรก็ตาม จากนี้จะต้องเดินหน้าในระบบหลักประกันสุขภาพฯต่อไป ซึ่งในเรื่องที่เป็นข้อกังวล อย่างเรื่องกรณีคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความเรื่องการใช้งบฯของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บางประเด็นไม่ตรงตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 นั้น ได้ส่งเรื่องขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทบทวนการตีความแล้ว และมี นพ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ มาทำงานช่วยอีกทางหนึ่ง

“ในเรื่องการตีความที่เป็นประเด็นข้อห่วงใยเรื่องการใช้เงินของรพ.ต่างๆ นั้น ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ให้บริการ หรือรพ.นำเงินกองทุนไปใช้จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าตอบแทนบุคลากรที่บริการตามภาระงานนั้น ขอย้ำว่าให้ดำเนินการตามปกติ อย่าให้เป็นอุปสรรค ส่วนความชัดเจนทางบอร์ดกำลังหารือร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีว่า คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ข้อมูลสรุปออกมาได้ภายในเร็วๆ นี้” นพ.ปิยะสกล กล่าว

Advertisement

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสปสช.กล่าวว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ส่งหนังสือมาที่ สปสช. ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระบุว่า งบสนับสนุนกิจการภาครัฐขององค์การเภสัชกรรม(อภ.) ซึ่งเป็นงบที่อภ.ตั้งให้สำหรับหน่วยงานที่มีการจัดซื้อยา โดยปีที่ผ่านมาสปสช.นำงบส่วนหนึ่งประมาณปีละ 5 ล้านบาท มาเพื่อช่วยเหลือผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการบริการสาธารณสุขนั้น ปรากฎว่า สตง.ทักท้วงว่าไม่สามารถใช้ได้อีก เพราะงบก้อนนี้ถือว่ามีรากฐานมาจากงบกองทุนหลักประกันสุขภาพ

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดสธ.กล่าวว่า ขณะนี้กำลังจัดทำร่างระเบียบเยียวยาผู้บริการตั้งงบฯปี 2560 ไว้ 6 ล้านบาทเพื่อมาช่วยต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมนั้น ได้มีวาระแจ้งเพื่อทราบในการเตรียมการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาเลขาธิการ สปสช. คนใหม่ ในการประชุมครั้งหน้า เพื่อสรรหาคนใหม่แทน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. คนปัจจุบันที่ถูกย้ายไปปฏิบัติราชการที่กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 เนื่องจากถูกคตร.ตรวจสอบกรณีการใช้งบฯของสปสช. จนบัดนี้เป็นเวลากว่า 7 เดือนยังไม่ได้กลับ และจะครบวาระในวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 หลังจากมีการพูดประเด็นดังกล่าว ซึ่งได้มีการถ่ายทอดสดผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในสปสช.รับฟังด้วยนั้น ปรากฎว่า เจ้าหน้าที่สปสช.ต่างแสดงความกังขาว่า จะแต่งตั้งใหม่เพื่ออะไร ขณะที่ นพ.วินัย ยังไม่ได้กลับคืน ทั้งๆ ที่ไม่มีความผิด เหมือนเป็นการลอยแพ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image