“สุชาติ” เผย รบ.-ก.แรงงานไม่ขึ้นค่าแรง แต่ช่วยเป็นมาตรการทางอ้อม เตรียมนัดประชุมขึ้นค่าแรงก.ค.นี้

“สุชาติ” เผย รบ.-ก.แรงงาน ไม่ขึ้นค่าแรง แต่ช่วยเป็นมาตรการทางอ้อม ลั่น ประเทศไทยส่งออกเติบโตฟื้นสุดในรอบ 11 ปี-นัดประชุมขึ้นค่าแรงก.ค.นี้ พร้อมช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานสุดกำลัง

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 24 มีนาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการแถลงข่าวมาตรการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ขัดแย้งยูเครน–รัสเซียที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมแถลงด้วย

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การเกิดความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ทั้งเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศและผลกระทบทุกภาคส่วน ตนได้รับข้อสั่งการจากนายกรัฐมนตรีในการแก้ปัญหาช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ในช่วงเวลาที่ผ่านมาวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลได้มีมาตรการให้ตนดูแลช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกมิติ ช่วงที่เราไม่มีการขึ้นค่าแรงในปี 2563-2564 เพราะเป็นช่วงที่ทุกบริษัทหรือผู้ใช้แรงงานทุกคนนั้น มีสิ่งเดียวที่เราต้องคำนึงถึงคือความปลอดภัยในชีวิตในเรื่องของการติดเชื้อ การรักษา หรือเรื่องวัคซีน ถึงรัฐบาลหรือกระทรวงแรงงานจะไม่ได้มีการขึ้นค่าแรง แต่สิ่งที่เราทำเป็นเรื่องของมาตรการทางอ้อมในการช่วยเหลือค่าครองชีพ เช่น โครงการม.33 เรารักกัน ที่เราได้ช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกคน ประมาณ 8-9 ล้านคน ในส่วนของการที่มีผลกระทบช่วงล็อกดาวน์ 29 จังหวัด กระทรวงแรงงานได้รับการอนุเคราะห์จากรัฐบาล โดยใช้งบส่วนเงินกู้ช่วยเหลือเยียวยาทุกภาคส่วนทั้งลูกจ้างและนายจ้าง ผู้ประกันตนทุกมาตรา ในส่วนของการที่ตนเสนอนโยบายลดเงินสมทบ 4-5 ครั้งนั้นเพราะว่าในส่วนของค่าแรงที่เรายังไม่ได้ขึ้นแต่เราลดเงินสมทบก็เหมือนกับลดค่าครองชีพ ให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานมีเงินเหลือใช้

ที่ผ่านมาอีกโครงการหนึ่งที่เรารักษาการจ้างงาน SME เป็นธุรกิจที่มีลูกจ้างประมาณ 5 ล้านคน เรารักษาการจ้างงานโดยรัฐบาลได้อุดหนุนไปที่ SME หัวละ 3,000 บาท ทำให้รักษาการจ้างงานไว้ และ 3 เดือนที่ผ่านมาในช่วงที่เราช่วยเหลือไปมีการจ้างงานเพิ่มอีก 50,000 กว่าคน ในช่วงที่เกิดโควิด-19 ระบาดหนักในปี 2563 การจ้างงานเราติดลบไป 400,000-500,000 คน แต่ในช่วงปี 2564 การจ้างงานเรากลับมาเป็นบวกมีคนเข้างานมากกว่าออกจากงาน  นี่เป็นการบ่งบอกถึงเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว และเรื่องมาตรการของรัฐที่นายกฯได้ให้กระทรวงแรงงานเข้าไปทำในเรื่องของ Factory Sandbox ในการตรวจเชิงรุกพนักงาน เป็นการเข้าไปแก้ปัญหาไม่ให้อุตสาหกรรมการผลิตต่างๆหยุดการผลิต

“ผมกล้าพูดเลยว่าแทบทุกประเทศทั่วโลกส่งออกแทบจะติดลบหมด แต่ประเทศไทยส่งออกเติบโตฟื้นสุดในรอบ 11 ปี ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่ามาตรการรัฐต่างๆในการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมส่งออกนั้นบรรลุผลตามวัตถุประสงค์” นายสุชาติกล่าว

Advertisement

นายสุชาติกล่าวต่อว่า ในช่วงที่เกิดโควิด-19 พี่น้องผู้ใช้แรงงาน 10 กว่าล้านคนในมาตรา 33 ในมาตรา 39 ประมาณ 2 ล้านคน และมาตรา 40 ประมาณ 10 ล้านคน เราเปิด Hospitel 2-3 หมื่นห้อง เพื่อช่วยเหลือธุรกิจโรงแรมเพราะโรงพยาบาลเต็ม และช่วยเหลือผู้ประกันตน แต่ถามว่าเราจำเป็นที่จะต้องช่วยหรือไม่ เพราะเรามองผู้ประกันตนเหมือนคนในครอบครัว ในส่วนของกระทรวงแรงงานได้รับข้อสั่งการจากนายกฯ คือเราจะช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานในช่วงที่เกิดการขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน กระทรวงแรงงานต้องมองว่าจะทำอย่างไรที่จะไม่ไปรบกวนส่วนของภาษีของพี่น้องประชาชนหรือในส่วนของงบรัฐบาลซึ่งต้องใช้ในเรื่องของสาธารณสุขในเรื่องของโควิดเป็นหลักด้วย เราก็ดูในส่วนที่เราทำได้ ในส่วนของเงินสมทบอาจจะมองว่ากระทรวงแรงงานลดเงินสมทบมาหลายรอบแล้ว แต่เราต้องยอมรับว่ากระทรวงแรงงานเรามีเงินกองทุนซึ่งเรามีผลกำไรสะสม 8 แสนกว่าล้านบาท ในส่วนนี้หากเราจะลดเงินสมทบชั่วคราว เพื่อประคองค่าครองชีพก่อนเรามองว่าตรงนี้มีความคุ้มค่ามากกว่า

นายสุชาติกล่าวด้วยว่า ในส่วนที่หลายคนถามเข้ามามากคือในส่วนของการขึ้นค่าแรงนั้นตามกรอบแล้วเราจะมีการประชุมกันหลังช่วงเดือนกรกฎาคม แต่ตนให้มีการขยับการประชุมเร็วขึ้นเป็นภายในเดือนกรกฎาคม ค่าแรงของประเทศไทยไม่ได้อยู่ในอันดับกลางหรือท้ายแต่เป็นรองอยู่แค่ประเทศบรูไน สิงคโปร์ และมาเลเซีย ค่าแรงประเทศเราสูงกว่าเวียดนามที่เป็นคู่แข่งทางการค้าและอุตสาหกรรมกว่าเท่าตัว แต่ทั้งนี้เราต้องยอมรับว่าก็ต้องมีความจำเป็นที่เราจะต้องปรับแต่เราก็ต้องให้เป็นหน้าที่ของไตรภาคีสามฝ่าย คือนายจ้าง ลูกจ้าง และฝ่ายราชการ ซึ่งจะต้องมีการหารือกันในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายนเราจะมีสำนักงานคณะกรรมการค่าจ้างและสำนักงานแรงงานจังหวัดดำเนินการสำรวจและประมวลค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา โดยในช่วงเดือนกรกฎาคมจะมีการประชุมกันที่ต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ จะรวบรวมทั้งหมดเข้ามาสู่ส่วนกลางคือกระทรวงแรงงาน โดยปลัดกระทรวงแรงงานจะเป็นประธานในส่วนนี้

“มาตรการช่วยเหลือประชาชนในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้งของยูเครน-รัสเซีย ทั้งของกระทรวงแรงงานและกระทรวงพลังงาน เราเองมีความตั้งใจที่จะมีการออกมาตรการระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เพื่อให้พี่น้องประชาชนและพี่น้องผู้ใช้แรงงานนั้นผ่านพ้นห้วงวิกฤตต่างๆที่เราเจอวิกฤตซ้อนวิกฤต ผมเองในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความตั้งใจและพร้อมที่จะช่วยเหลือพี่น้องผู้ใช้แรงงานอย่างสุดกำลังความสามารถ ผมดูแลพี่น้องผู้ใช้แรงงานเหมือนคนในครอบครัว เหมือนญาติพี่น้อง” นายสุชาติกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image