ขอ “คลัง-พาณิชย์” หาทางปิดช่องบ.บุหรี่ไม่ขึ้นราคาขายปลีก หลังปรับอัตราภาษี

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และประธานรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก (2550-2551) กล่าวถึงกรณีบริษัทบุหรี่กลุ่มบรรษัทสัมพันธ์ ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ออกมาแสดงความเห็นว่าการขึ้นภาษีบุหรี่ครั้งนี้กระทบมาก ทำให้บุหรี่ราคาแพง รวมทั้งยังไม่พิจารณาว่าจะขึ้นราคาบุหรี่ในกลุ่มบรรษัทอย่างไร ว่า เรื่องนี้น่าจับตามอง เพราะการขึ้นภาษีบุหรี่ครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก ประเทศไทยมีการขึ้นภาษีแล้วเป็น 10 ครั้ง หลายครั้งบริษัทบุหรี่ก็จะมีกลยุทธ์แตกต่างออกไป ซึ่งมีครั้งหนึ่งที่บริษัทบุหรี่ไม่ยอมขึ้นราคาขายปลีกตามกลไกตลาดที่มีการขึ้นภาษี ซึ่งเพราะธุรกิจเหล่านี้มีสายป่านที่ยาวมาก ไม่กระทบง่ายๆ และเมื่อไม่ยอมขึ้นราคาขายปลีกก็ส่งผลให้ผู้บริโภคย้ายจากการสูบบุหรี่ของไทยไปเป็นบุหรี่ต่างชาติแทน

“ถือเป็นกลยุทธ์ที่ฉลาดมากในการดึงส่วนแบ่งการตลาดของโรงงานยาสูบไทย เพราะบุหรี่ไทยต้องขึ้นราคากันหมด แต่บุหรี่นอกกลับไม่ขึ้นราคา คนก็หันไปสูบของนอกแทน ซึ่งในต่างประเทศ อย่างมาเลเซีย มีกฎระเบียบบังคับเพื่อให้บุหรี่ที่ขายในประเทศของเขาต้องขึ้นราคาขายปลีกตามด้วย เพื่อเป็นการควบคุมนักสูบเด็กและเยาวชน ดังนั้น จึงขอร้องให้หน่วยงานรัฐ ทั้งกระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ หารือกันเพื่อหาทางออกเรื่องนี้ด้วย โดยอาจออกเป็นกฎระเบียบในการดำเนินการกับกลยุทธ์เหล่านี้ เพื่อให้วัตถุประสงค์ของการขึ้นภาษีบุหรี่เป็นไปตามจริง เพราะไม่ใช่แค่มีรายได้เข้าประเทศ แต่ยังลดนักสูบที่เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพด้วย” นพ.หทัย กล่าว

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงกรณีที่พ่อค้าแม่ค้าบางรายเตรียมนำบุหรี่มาแบ่งขาย ภายหลังการปรับขึ้นราคาบุหรี่ ว่า ว่า ขณะนี้ 90 ประเทศทั่วโลกนั้นมีกฎหมายออกมาห้ามแบ่งขายบุหรี่แล้ว เพราะจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบพบว่าร้อยละ 90 ที่ซื้อบุหรี่แบบแบ่งขายนั้นคือเด็กทั้งสิ้น หลายประเทศจึงมีกฎหมายออกมาเพื่อป้องกันในเรื่องนี้ แต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายอันนี้ออกมา ก็ต้องรอการออกกฎหมายออกมาก่อน จึงจะสามารถดำเนินการต่างๆได้ ส่วนตัวตนมองว่าการแบ่งขายนั้นไม่ใช้การยกประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพราะปกติถ้าแบ่งขายต่อมวนจะมีราคาที่แพงขึ้นกว่าการซื้อเป็นซอง ผู้บริโภคที่เป็นผู้ใหญ่ร้อยละ 70 จะทราบถึงข้อนี้ดี และจะบริหารการซื้อ อาจจะซื้อวันเว้นวันยังไงก็ถูกกว่าการซื้อเป็นมวนแน่ จึงเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ค้าเองที่ต้องการกำไรที่มากขึ้น จึงนำบุหรี่มาแบ่งขาย

นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ ประธานเครือข่ายยุวทัศน์ กรุงเทพมหานคร (ยทก.) กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนเยาวชนไทย ใคร่ขอขอบพระคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่พูดเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการขึ้นภาษีบุหรี่ว่า “ขอให้ประชาชนอย่าโง่ เพราะติดไปตายทุกคน” ขอบคุณนายกฯมาก ๆ ที่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษี รวมถึงคณะรัฐมนตรีทุกท่าน ที่ขึ้นภาษียาสูบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชน รวมถึงป้องกันนักสูบหน้าใหม่ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการเสพติดบุหรี่

Advertisement

นายพชรพรรษ์ กล่าวว่า ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2557 พบว่า เด็กและเยาวชน อายุต่ำกว่า 18 ปี ติดบุหรี่แล้ว 350,000 คน โดยมีเยาวชน ร้อยละ 88 ที่ติดบุหรี่ซื้อจากการแบ่งขายเป็นมวน ๆ ในขณะเดียวกัน เยาวชนอายุตั้งแต่ 18-25 ปี ร้อยละ 64 ซื้อบุหรี่จากการแบ่งขายเป็นมวน ๆ นั่นแสดงให้เห็นว่าบริษัทบุหรี่ต้องการมุ่งเป้าการขายบุหรี่ไปที่เยาวชนโดยตรง ดังนั้น การขึ้นภาษีทำให้บุหรี่แต่ละซองแพงขึ้น ถ้าไม่แบ่งซองขาย เด็ก ๆ จะไม่มีเงินซื้อ จะทำให้เด็ก ๆ ติดบุหรี่น้อยลง ซึ่งในขณะนี้ในหลาย ๆ ประเทศอาเซียนได้มีกฎหมายควบคุมการขายบุหรี่แบบรายมวนแล้ว ทั้ง ลาว พม่า มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน

นายพชรพรรษ์ กล่าวต่อว่า ในปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนไทย ติดบุหรี่มากถึง เกือบ 2 ล้านคนแล้ว และในเด็กไทย 10 คน ที่ติดบุหรี่ 7 คน จะเป็นทาสของการเสพติดบุหรี่ไปตลอดชีวิต และ 3 คน ที่เลิกได้ โดยเฉลี่ยจะติดเป็นเวลา 20 ปี กว่าจะเลิกได้ ตนจึงอยากจะเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนหันมาจริงจังกับการที่จะร่วมปกป้องเด็กไทยรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่ม Generation Z คือเด็กที่เกิดหลัง 1 มกราคม พ.ศ.2543 หรือ ค.ศ. 2000 หรือ เด็กที่อายุตั้งแต่ 16 ปี ลงมาไม่สูบบุหรี่ ซึ่งมีจำนวนเกือบ 12 ล้านคน ก็จะสามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลงได้ ในขณะนี้หลายประเทศมีแผนที่จะป้องกันเด็ก Generation Z ไม่ให้สูบบุหรี่ ได้แก่ สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และฮ่องกง ซึ่งรัฐบาลและทุกฝ่ายในสังคมไทย ต้องร่วมมือกันผลักดันให้มีมาตรการต่าง ๆ เป็นจริงมากขึ้น เช่น การขึ้นภาษีบุหรี่ การห้ามโฆษณาทุกรูปแบบ การห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ และลดการเข้าถึงบุหรี่ของเด็ก ๆ เช่น การห้ามแบ่งซองขายตามที่ที่กำหนดใน ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฉบับใหม่ ที่กำลังเสนอ สนช.พิจารณา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image