ชัชชาติ แนะ ปฏิรูปบริการสุขภาพ ยึด ‘คนไข้’ เป็นหลัก เทคโนโลยีต้องตอบโจทย์ ไม่ใช่อยู่บนหิ้ง ยกทราฟฟี่ฟองดูว์เทียบ

ผู้ว่าฯกทม. มอบนโยบายสำนักการแพทย์ปฏิรูปบริการด้วยเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพที่ดีให้ประชาชน

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่ชั้น 11 โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาวิชาการประจำปี ครั้งที่ 18 สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ภายใต้หัวข้อ “Digital Transformation in Healthcare : ปฏิรูปบริการเพื่อสุขภาพดี ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล” เพื่อให้บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้จัดทำผลงานทางด้านวิชาการทั้งในรูปแบบงานวิจัย นวัตกรรม และการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย ได้มีเวทีในการนำเสนอเผยแพร่ผลงานวิชาการ ผลงานการพัฒนาคุณภาพการบริการในด้านเวชศาสตร์เขตเมืองและด้านต่างๆ โดยมี ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร พร้อมผู้บริหารสำนักการแพทย์ ร่วมพิธี

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้บางครั้งไม่ตอบโจทย์ของคน บางเทคโนโลยีทำแล้วก็เก็บไว้บนหิ้งไม่ได้ใช้งาน อยากให้เทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถตอบโจทย์คนได้จริง เนื่องจากแพทย์เป็นผู้ที่สัมผัสผู้ป่วยจริงอยู่ตลอดเวลาจึงเป็นคนที่อยู่ในปัญหา เพราะฉะนั้นขอให้เอาปัญหาของคนไข้เป็นโจทย์แล้วนำเทคโนโลยีมาใช้ตอบโจทย์ของคนไข้ โดยเทคโนโลยีไม่ต้องฉลาดมากแต่ขอให้ฉลาดกำลังเหมาะสามารถตอบโจทย์คนไข้ได้ ซึ่งหนึ่งในเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จก็คือระบบ ทราฟฟี่ ฟองดูว์ (Traffy Fondue) เนื่องจากแต่ก่อนระบบราชการคือระบบท่อ (pipe Line) กว่าเรื่องร้องเรียนจะถึงผู้รับผิดชอบบางครั้งเป็นเดือน ซึ่งนั่นคือระบบสมัยเก่า รวมถึงบางธุรกิจก็ยังเป็นระบบท่อเช่นกันเนื่องจากต้องรักษาความสัมพันธ์ของแต่ละขั้นตอนไว้ แต่ในปัจจุบันเราใช้ระบบแพลตฟอร์มคือใครต้องการสิ่งใดก็โยนความต้องการนั้นไว้ในกระดาน

ส่วนผู้ให้บริการก็จะตอบสนองได้ทันที เมื่อทราบความต้องการจากกระดานนั้น เช่นธุรกิจแพลตฟอร์มการเรียกใช้บริการสั่งสินค้าหรือธุรกิจขนส่งต่างๆ ในปัจจุบัน นั่นคือการโยน ความต้องการ (Demand) ลงไปในกระดานส่วนแล้วผู้ที่เป็นผูให้บริการ (Service) ก็จะแย่งกันมาทำงาน โดยไม่ต้องสั่งผ่านระบบท่อเหมือนแต่ก่อน บนกระดานจึงเกิดการแข่งขันกันในการให้บริการ และนั่นคือจุดประสงค์ของทราฟฟี่ ฟองดูว์ ซึ่งในปัจจุบันแก้ปัญหาไปได้แล้ว 31,645 เรื่อง จากปัญหาประมาณ 70,000 เรื่องโดยที่ไม่ต้องสั่งการ เนื่องจากเกิดการร่วมมือร่วมใจกันทำงานผ่านแพลตฟอร์มซึ่งเป็นการทำลายระบบท่อ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ดังนั้นสำนักการแพทย์ก็นำเทคโนโลยีแบบนี้ในการให้บริการประชาชน ทำให้เกิดพลังในการแก้ปัญหาให้ประชาชน

Advertisement

“เพราะหมอและพยาบาลเป็นทรัพยากรที่มีค่า เราสามารถใช้เทคโนโลยีช่วยการทำงานได้โดยไม่ต้องลงพื้นที่ สามารถประหยัดเวลาได้โดยใช้เทคโนโลยีช่วย เช่นระบบ TELEMEDICINE (เทเลเมด) โดยให้ผู้ที่ลงพื้นที่ส่งข้อมูลมาให้แพทย์ช่วยวิเคราะห์ หรือเชื่อมโยงกับหมอที่โรงพยาบาลต่างๆ จะทำให้หมอทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่เราต้องพัฒนา ซึ่งเทคโนโลยีก็มีหลากหลายรูปแบบที่จะเปลี่ยน Transformation ของสำนักการแพทย์ ให้เข้มแข็งขึ้น หลักง่ายๆ คือ ทำน้อยให้ได้เยอะ คือลงทุนน้อยให้ได้ผลเยอะและขยายผลได้ โดยต้องทำลายระบบราชการแบบเดิมซึ่งลงทุนเยอะแต่ได้ผลตอบแทนน้อย ถ้าสามารถเปลี่ยนมุมมองเปลี่ยนความคิดโดยการใช้เทคโนโลยีในการเปลี่ยนการทำงานของ กทม.ได้ นั่นเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจาก กทม.มีงบประมาณที่จำกัด กทม.จึงต้องทำงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อการให้บริการประขาชน” นายชัชชาติกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีระบบดิจิทัล เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตของมนุษย์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับวงการแพทย์ในศตวรรษที่ 21 จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการแพทย์ไปอย่างสิ้นเชิง (Disruption in Healthcare) เช่น ผู้ป่วยสามารถหาหมอที่ไหนก็ได้ ผ่านระบบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) นาฬิกาอัจฉริยะจะที่ส่งสัญญาณชีพ อาการ อาการแสดงที่เป็นปัจจุบันไปยังศูนย์ข้อมูล ขณะที่เทคโนโลยีการประมวลผลภาพ (Image processing) และระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะช่วยวินิจฉัยโรคผ่านภาพการเคลื่อนไหวบนกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่ทั่วไป เป็นต้น การนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่มาใช้และเกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลสุขภาพของประชาชน เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของสำนักการแพทย์ในด้านความก้าวหน้าและการรักษาพยาบาลในปัจจุบัน

Advertisement

นอกจากนี้ การจัดโครงการในครั้งนี้ยังเป็นเวทีวิชาการในการเสนอผลงานวิจัย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผลงานการพัฒนาคุณภาพการบริการ ผลงานสร้างสรรค์หรือนวัตกรรม โดยแบ่งการประกวด ออกเป็น 3 รูปแบบ คือ แบบ Oral Presentation ภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แบบ Poster Presentation และแบบประดิษฐกรรมหรือนวัตกรรม ทั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีในการเผยแพร่ผลงานของบุคลากรทั้งภายในและภายนอกสังกัดกรุงเทพมหานคร โดยเชิญบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมประกวดและสัมมนา ซึ่งจะนำไปสู่การประยุกต์ใช้ผลงานให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประชาชนต่อไป

สำหรับหัวข้อการบรรยายและสัมมนาวิชาการที่น่าสนใจมากมายตลอดระยะเวลา 2 วัน ประกอบด้วย เรื่อง Thailand health information in Present and Future เรื่อง What New AI in Healthcare เรื่อง 2022 UPDATE ON MANAGEMENT OF ISCHEMIC STROKE เรื่อง Review of Torsemide and advantage beyond furosemide. เรื่อง Stroke Management in Bangkok Digital Era เรื่อง Innovation in Digital Era เรื่อง Practical Points on the Use of Anticoagulants in Patients with Atrial Fibrillation เรื่อง Diabetes Technology, for now and the future เรื่อง Smart Watch ใช้ได้จริงหรือหลอก Smart Device Cardio และเรื่อง 5G Cloud and AI for Digital Healthcare ผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ มีสิทธิ์ลุ้นรับรางวัลต่างๆ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image