อ.รัฐศาสตร์ มธ. ย้อนปวศ.จ้างงาน ชี้เจน X ช้ำแค่ไหนก็ทน เจน Z เรียนรู้เร็ว แต่อ่อนไหว ห่วงช่องว่างระหว่างวัยในออฟฟิศ

‘อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ.’ ชวนย้อนปวศ.การบริหารบุคคล เผย ไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ ชี้ ‘ช่องว่างระหว่างวัย’ เป็นเรื่องท้าทาย ทุกหน่วยงานต้องรับมือ

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน เวลา 13.30-15.30 น. ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถ่ายทอดสดการเสวนาวิชาการผ่านเพจเฟซบุ๊กเรื่อง “ทรัพยากร (มนุษย์) กับการเมือง : การเมืองว่าด้วยการจ้างงาน การจัดการกำลังคน และเจเนอเรชั่น” (Human Resources and Politics: Employment, Manpower Management and Generation Gaps.) โดยวิทยากรที่ร่วมเสวนาผ่านโปรแกรมซูม ได้แก่ รศ.ดร.สุนิสา ช่อแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อ.ชัชวินธ์ ตันติเวชวาณิชย์ นักวิจัยอิสระ

เสวนาดังกล่าว เริ่มต้นด้วยประเด็นคำถามว่า การเมืองเกี่ยวข้องอย่างไรกับเรื่องการบริหารคน รศ.ดร.สุนิสา กล่าวว่า มุมมองในการบริหารคนนั้น เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า การบริหารงานบุคคล การบริหารทรัพยากรมนุษย์ การบริหารทุนมนุษย์ ทั้งนี้ คำว่า การบริหารงานบุคคล (Personnel Management) รากศัพท์มาจากนักคิดซึ่งเป็นวิศวกร โดยการบริหารงานบุคคลจะเน้นเรื่องการควบคุม การกำกับ การทำให้เกิดมาตรฐาน รวมถึงเรื่องของการกำหนดลำดับชั้นการบังคับบัญชา ในส่วนของคำว่า การบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Management) คือการมองความสัมพันธ์ในระยะยาว

“ให้นึกถึงสภาพการที่เราเข้าไปทำงานตั้งแต่อายุน้อยจนไปถึงวัยเกษียณซึ่งก็ยังคงมีระบบสวัสดิการ มีการดูแลจนกระทั่งเสียชีวิต เป็นการดูแลทั้งช่วงชีวิตของคนๆหนึ่ง และคำว่า ทุนมนุษย์ (Human Capital Management) เป็นการลงทุนในคนแต่เป็นการลงทุนที่ทำให้เกิดความคุ้มค่าที่เกิดจากการลงทุน เช่น การทำให้เกิดทรัพย์สินทางปัญญา แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่ต่างจากสองคำแรก คือ จะต้องมองความคุ้มค่าจากการลงทุน ดังนั้น หน่วยงานจะมองหาคนที่พอดีและมองหาตัววัด คือ KPI (Key Performance Indicator) เป็นดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน ทั้งในแง่ของปัจเจกบุคคลและภาพรวมของหน่วยงาน เพราะฉะนั้นถ้าหน่วยงานหรือผู้นำของหน่วยงานใช้มุมมองแบบไหน แนวปฏิบัติในการบริหารคนก็จะเป็นไปตามนั้น” รศ.ดร.สุนิสา กล่าว

Advertisement

รศ.ดร.สุนิสา กล่าวต่อไปว่า ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2418 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ เป็นข้าราชการคนแรกที่ได้รับเงินเดือน โดยก่อนหน้านั้นการใช้ระบบจตุสดมภ์ ระบบเศรษฐกิจยังเป็นแบบยังชีพและการค้าผูกขาด ดังนั้นกิจกรรมโดยรวมของประเทศต้องผ่านรัฐ สังคมโดยรวมยังเป็นแบบศักดินา มีทาส การเมืองมีความขัดแย้งทางความคิด

ก่อนจะมีการใช้ระบบเงินเดือนเราใช้ระบบที่เรียกว่า กินเมือง คือการที่ผู้มีอำนาจสามารถที่จะชักส่วยอากรได้ ทั้งเรื่องของงบประมาณและกำลังคน หากมองในแง่ของการเมืองคือทำให้เกิดโครงสร้างที่ทำให้เกิดความอ่อนแอในแง่ของสถาบัน จึงเปลี่ยนมาใช้ระบบที่ทำให้มีการรวมอำนาจมากยิ่งขึ้นคือ เงินเดือน ซึ่งถูกใช้ขึ้นในยุค 1 (พ.ศ.2418-2434)

ต่อมา ในยุค 2 ยุคปฏิรูประบบราชการ (พ.ศ.2435-2474) เริ่มมีระบบกระทรวง 12 กระทรวง ระบบเศรษฐกิจเริ่มเปิดมากขึ้น มีการค้าขายมากขึ้น สังคมมีการยกเลิกทาสและไพร่แต่ยังมีการนับหน้าถือตาผู้มียศศักดิ์ ซึ่งเหตุผลของการทำเป็นโครงสร้างกระทรวงเนื่องจากต้องการลดการคุกคามจากจักรวรรดินิยมและจำเป็นต้องมีการรวมอำนาจ เริ่มมีการส่งคนในระบบราชการไปเรียนต่อเพื่อทำให้มีการแบ่งงานตามเฉพาะด้านมากขึ้น หลังจากเริ่มมีเงินเดือนจึงมีการคัดเลือกคนซึ่งยังไม่มีระบบกลาง ในแต่ละกระทรวงจะกำหนดเกณฑ์ในการคัดเลือกคนของตนเอง ที่ยังคงมีการพิจารณาในเรื่องของนามสกุลอยู่ ในยุคแรกกระทรวงการคลังใช้ระบบเงินเดือนเป็นกระทรวงแรก และแต่ละกระทรวงจะมีการกำหนดอัตราเงินเดือนที่ไม่เหมือนกัน แล้วแต่ความสามารถของแต่ละกระทรวง ยุคต่อมากระทรวงที่มีการใช้ระบบสอบคัดเลือกคือ กระทรวงยุติธรรม จะเห็นได้ว่าภาครัฐเริ่มมีการใช้วิธีการแบบตะวันตกมากยิ่งขึ้น

Advertisement

ยุค 3 ยุครัฐข้าราชการ (พ.ศ.2475-2529) ในส่วนของการเมืองคือมีการเลือกตั้ง สังคมมีการขยายตัวทางการศึกษาและระบบเศรษฐกิจ แต่ในยุคนี้เริ่มมีปัญหาความซับซ้อนของภาครัฐที่ยากขึ้น จึงมีคณะกรรมการปฏิรูประบบราชการเกิดขึ้น การบริหารงานบุคคลก็เติบโตไปพร้อมๆกับการขยายโครงสร้างกระทรวง กรม กอง ทำให้ระบบราชการขยายตัวในช่วงนี้เพื่อตอบโจทย์กับสภาพปัญหาที่เปลี่ยนไป และเริ่มมีระบบการบริหารงานบุคคลที่เป็นรูปแบบเดียวกันคือมีการสอบคัดเลือก ขณะเดียวกันระบบเงินเดือนก็เป็นแบบแผนเดียวกัน

ยุค 4 ยุคสมองไหล (พ.ศ.2530-2539) เป็นช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6-7 เกิดการสมองไหลเนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มขยายตัว เอกชนเริ่มเข้ามาส่งเสริมการนำเข้าและส่งออก ทำให้เอกชนเติบโตและมีฐานเงินเดือนเพิ่มมากขึ้นหากเปรียบเทียบกับระบบราชการ ในขณะเดียวกันทางฝ่ายการเมืองก็มีปัญหาคอรัปชั่นและคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เรื่องการบริหารงานของภาครัฐก็ยังหนีไม่พ้นความเป็นทางการ เจอปัญหาเรื่องโครงสร้างแนวดิ่งและปัญหากำลังคน

จนกระทั่งถึงยุค 5 ยุคข้าราชการจีเอ็มโอ (พ.ศ.2540-ปัจจุบัน) ในสังคมยังคงเจอปัญหาหลายด้าน การเมืองยังคงมีความขัดแย้งทางความคิดและเกิดรัฐประหาร เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในช่วงปี พ.ศ.2545 ในยุคของรัฐบาลพ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีการพยายามที่จะปรับเปลี่ยน โดยมีหน่วยงานพิเศษเกิดขึ้น ทำให้เริ่มเจอปัญหาการบริหารคนเชิงกลยุทธ์ เริ่มมีการนำเข้าเครื่องมือต่างๆเข้าใช้ในการบริหารคน ในขณะเดียวกันก็มีประเด็นท้าทายคือ SES (Senior Executive System) คือระบบนักบริหารระดับสูง เป็นเรื่องที่ชวนคิดว่าควรเป็นแบบไหน ถ้าในระบบข้าราชการไทยจะเป็นแบบ Career based คือการไต่เต้า กับ Position based คือหาผู้ที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการเลือกโดยประชาชนหรือแม้กระทั่งตัวกรรมการเลือกมา

“หากพูดถึงความเปลี่ยนแปลงเรื่องของทรัพยากรมนุษย์จะพูดถึง Demographic change คือ ความเปลี่ยนแปลงด้านประชากร ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องกังวล การที่สังคมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุต้องมีการเตรียมพร้อม ต้องดูว่าภาพรวมของประเทศที่ต้องดูแลสังคมผู้สูงอายุจะทำอย่างไร วงจรของการเกษียณอายุคือสิ่งที่ทุกหน่วยงานต้องเจอ เพราะเมื่อเกษียณแล้ว ความรู้ความชำนาญจะออกไปด้วย แต่ในยุคสังคมผู้สูงอายุ เข้าใจว่าคนอายุ 60-70 ปียังทำงานได้ ต้องคิดเรื่องของการจ้างงานในรูปแบบที่หลากหลาย และเรื่องที่ไม่พูดไม่ได้คือ ช่องว่างระหว่างวัย

ในช่วงอายุของคนทำงานจะมีอยู่ 3 วัยคือ X Y Z แต่โดยความสัมพันธ์หลักในหน่วยงานต้องเผชิญกับความแตกต่างของคน 3 วัยที่มีความแตกต่างค่อนข้างมาก โดย gen X ที่เจ็บช้ำน้ำใจแค่ไหนก็ยังทนอยู่และถ้าจะทำอะไรก็ตามต้องมีความแน่ชัดในกฎระเบียบ มีความเป็นทางการอยู่บ้าง

ส่วนของ gen Y จะชอบทำงานที่ดูมีความท้าทาย ได้ลองเสนออะไรใหม่ๆ แต่ไม่เร็วเท่ากับ gen Z ที่เรียนรู้ไว แต่มีจุดที่อ่อนไหวและต้องระวังคือเรื่องของอารมณ์ จิตใจ ซึ่งนี่เป็นเรื่องของความท้าทายในทุกหน่วยงาน และประเด็นต่อไปคือคนโตไม่ทัน เพราะเมื่อมีคนเกษียณและต้องหยิบเอา gen X และ Y ขึ้นไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย และเกิดภาวะที่กำลังเป็นที่นิยมตอนนี้คือภาวะหมดไฟในการทำงานที่มากเกินไป และใครที่เจอรูปแบบการทำงานที่ไม่เปลี่ยนก็จะเกิดอาการเบื่อ และเกิดปรากฏการณ์ทั่วโลกคือ Quiet Quitting คือ ไม่ลาออก แต่ไม่ทำแล้ว ทำแค่นี้พอ นี่ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง” รศ.ดร.สุนิสา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image