ศานนท์ ดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เผยสินค้าชุมชน กทม.ยอดขายพุ่งแตะ 1.85 ล้าน ช่วยคนไร้บ้าน เน้นสวัสดิการเด็ก

ศานนท์ เผยสินค้าชุมชน กทม. ขายออนไลน์ได้กว่า 1.85 ล้าน ดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สวัสดิการเท่าเทียม ช่วยคนไร้บ้าน ย้ำการเรียนรู้เด็กและเยาวชน 

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 ธันวาคม ที่ห้องบางกอก อาคารไอราวัฒพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดงานแถลงข่าว “9 ด้าน 9 ดี ก้าวสู่ปี 66 กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่” ในโอกาสครบรอบการทำงาน 6 เดือน 21 วัน ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. และคณะผู้บริหาร โดยมีรองผู้ว่าฯกทม.เป็นผู้แถลงข่าว ประกอบด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล นายจักกพันธุ์ ผิวงาม น.ส.ทวิดา กมลเวชช และนายศานนท์ หวังสร้างบุญ 6 เดือน 21 วัน ทั้งนี้ นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ประกอบด้วย ด้านปลอดภัยดี ด้านสุขภาพดี ด้านสิ่งแวดล้อมดี ด้านเรียนดี ด้านบริหารจัดการดี ด้านเดินทางดี ด้านโครงสร้างดี ด้านเศรษฐกิจดี และด้านสร้างสรรค์ดี (อ่านข่าว จักกพันธุ์ ยกนิตยสารดังถาม 2 หมื่นคนทั่วโลก ‘เยาวราช’ ติดอันดับ 8 ถนนดีที่สุด ย้ำศักยภาพกรุงเทพฯ)

นายศานนท์กล่าวว่า ตลอด  6 เดือนที่ผ่านมาได้เปลี่ยนวิธีการทำงานโดยสิ้นเชิง เดิมการทำงานบูรณาการเป็นเรื่องยาก จึงเปลี่ยนการทำงานเอาคนเป็นตัวตั้ง และเอาทีมมาสนับสนุนการดำเนินการ สำหรับภารกิจซึ่งในส่วนที่ดูแล คือ เรื่องของสวัสดิการขั้นพื้นฐาน เรื่องของการเรียนรู้ และเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์

นายศานนท์กล่าวว่า เรื่องสวัสดิการขั้นพื้นฐาน ทำให้ทุกคนมีสวัสดิการเท่าเทียมที่รัฐจัดการให้ เมื่อคน กทม.ไม่ได้เริ่มจากฐานที่เท่ากัน การดำเนินการแบ่งตามกลุ่มเป้าหมายเป็นสวัสดิการทั่วถึงสำหรับเด็ก โดยเพิ่มค่าอาหาร เดิม 20 บาท เป็น 32 บาท และอุปกรณ์ศูนย์เด็กเล็ก เดิม 100 บาท เป็น 600 บาท อาหารเช้า/กลางวันฟรี ชุดนักเรียนฟรี ผ้าอนามัยฟรี และลดการใส่เครื่องแบบ

Advertisement

“สำหรับคนไร้บ้าน ได้ดำเนินการจัดจุด drop-in 4 จุด เพื่อให้บริการ ตัดผม ซัก อบ อาบ ตรวจสอบสิทธิ สวัสดิการ ตรวจสุขภาพ ลงทะเบียนจ้างงาน ดำเนินการจัดระเบียบการแจกอาหาร และดำเนินการจัดที่อยู่อาศัย ทั้งแบบอยู่อาศัยระยะยาว และแบบอยู่อาศัยชั่วคราว (บ้านพักคนละครึ่ง)
 
ส่วนคนพิการ มีการจ้างงานจำนวน 323 คน พัฒนาระบบ Live Chat AGENT โรงเรียนเรียนร่วม 158 โรงเรียน นำร่องอบรมครูเรียนรวม 2 โรงเรียน การเปิด LINE OA กรุงเทพเพื่อทุกคน : ฐานข้อมูล และสิทธิประโยชน์สำหรับคนพิการ ให้บริการรถรับ-ส่งคนพิการโดยกรุงเทพธนาคม การจัดให้มีอาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) ประจำชุมชน 266 คน จาก 31 เขต เพื่อทำให้ข้อต่อต่างๆ มีความเข้มแข็งขึ้น โครงการ Food Bank เพื่อส่งต่ออาหารส่วนเกินสู่กลุ่มคนเปราะบาง 10 เขตพื้นที่นำร่อง การส่งเสริมอาชีพโดยสร้างแรงงานตอบโจทย์ตลาดแรงงาน และสร้างผู้ประกอบการ” นายศานนท์กล่าว (อ่านข่าว ทวิดา ตัดฉับ จาก 3 วันเหลือแค่ครึ่งวัน ‘ขึ้นทะเบียนคนพิการ’ อย่างไว จ้างงานแล้ว 323 คน)

นายศานนท์กล่าวว่า ด้านการเรียนรู้ แบ่งเป็นการเรียนรู้ในห้องเรียน ได้ร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คัดกรองเด็กยากจนพิเศษเพื่อขอรับทุนการศึกษา 6,159 คน ปลดล็อกครูโดยเพิ่มเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการและการเงินโรงเรียน เพื่อลดภาระงานเอกสารครู และปรับเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะให้เป็นมาตรฐานสากล ด้าน Open Education เปิดโรงเรียนสู่การเรียนรู้ในวิชาที่นักเรียนสนใจ อาทิ เปิดสอน Coding การตัดต่อวีดิโอ ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง E-Sport ด้านการกำหนดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Education Sandbox) 54 โรงเรียน เพื่อเปลี่ยนระบบการเรียนการสอนทั้งโรงเรียน และพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษา เช่าคอมพิวเตอร์ใหม่ทุกโรงเรียนในรอบ 7 ปี

Advertisement

สำหรับการเรียนรู้นอกห้องเรียน ประกอบด้วย ห้องสมุด 34 แห่ง บ้านหนังสือ 140 แห่ง ลานกีฬา 970 แห่ง ศูนย์กีฬา 12 แห่ง พิพิธภัณฑ์เด็ก 2 แห่ง พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น 24 แห่ง ศูนย์เยาวชน 35 แห่ง และสวนสาธารณะ 103 แห่ง เป็นพื้นที่มากมายซึ่งกรุงเทพมหานครได้จัดกิจกรรมเติมชีวิตให้พื้นที่เหล่านี้โดยจัดกิจกรรมมากกว่า 200 ครั้ง ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 500,000 คน

นายศานนท์กล่าวว่า ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กทม.ได้ดำเนินการมากมาย อาทิ การส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยเริ่มเพิ่มช่องทาง Online ให้ 93 ร้าน สร้างยอดขายกว่า 1.85 ล้านบาท ผ่านทาง Lazada และการส่งเสริมกิจกรรม Offline ตลาดชุมชน พื้นที่ออกร้านตามกิจกรรมและเทศกาลต่างๆ

“กิจกรรมย่านสร้างสรรค์ตามอัตลักษณ์และประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจก็เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ดำเนินการต่อเนื่อง ประกอบด้วย กลุ่มย่านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ย่านพาณิชยกรรมสร้างสรรค์ และย่านชุมชนและวิถีชีวิตสร้างสรรค์ ซึ่งเรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างซึ่งต้องอาศัยคณะทำงานที่เข้าใจปัญหาจริงจัง ซึ่งได้แต่งตั้งแล้ว 27 คณะ

สำหรับทิศทางการทำงานในปี 2566 จะมีการดำเนินการเกี่ยวกับสภาเมืองคนรุ่นใหม่ งานพัฒนาที่อยู่อาศัย, MIB (Made in Bangkok), City Lab, แพลตฟอร์มจองพื้นที่สาธารณะ และ Sandbox ในส่วนของโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก และหลักสูตรการฝึกอาชีพ เป็นต้น” นายศานนท์กล่าว

(อ่านข่าว รองฯ วิศณุ ประกาศ ปี 66 ลุยลอกท่อ 3,875 กม. ทะลวงคลอง 183 กม. จัดระเบียบสายสื่อสาร 442.62 กม.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image