จักกพันธุ์ ยกนิตยสารดังถาม 2 หมื่นคนทั่วโลก ‘เยาวราช’ ติดอันดับ 8 ถนนดีที่สุด ย้ำศักยภาพกรุงเทพฯ

จักกพันธุ์ ชูเยาวราช คนเดินเท้า แผงลอยอยู่ร่วมกัน เพิ่มสวน 15 นาที ได้กว่า 600 ไร่

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 ธันวาคม ที่ ห้องบางกอก อาคารไอราวัฒพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดงานแถลงข่าว “9 ด้าน 9 ดี ก้าวสู่ปี 66 กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่” ในโอกาสครบรอบการทำงาน 6 เดือน 21 วัน ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. และคณะผู้บริหาร โดยมีรองผู้ว่าฯกทม.เป็นผู้แถลงข่าว ประกอบด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล นายจักกพันธุ์ ผิวงาม นางสาวทวิดา กมลเวชช และนายศานนท์ หวังสร้างบุญ 6 เดือน 21 วัน ทั้งนี้นโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ประกอบด้วย ด้านปลอดภัยดี ด้านสุขภาพดี ด้านสิ่งแวดล้อมดี ด้านเรียนดี ด้านบริหารจัดการดี ด้านเดินทางดี ด้านโครงสร้างดี ด้านเศรษฐกิจดี และด้านสร้างสรรค์ดี (อ่านข่าว รองฯ วิศณุ ประกาศ ปี 66 ลุยลอกท่อ 3,875 กม. ทะลวงคลอง 183 กม. จัดระเบียบสายสื่อสาร 442.62 กม.)

นายจักกพันธุ์กล่าวว่า ผู้ว่าฯกทม. ให้ความสำคัญกับปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 จึงกำหนดเป็นมาตรการ 16 มาตรการ โดยมีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำ 16 มาตรการไปปฏิบัติ สิ่งที่เราดำเนินการ คือ ตรวจ ติดตาม และแก้ไข เริ่มจากการหาสาเหตุของปัญหาฝุ่นละอองมีหลายปัจจัย โดยสำนักงานเขตและสำนักที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่สำรวจปัญหาของฝุ่น มีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรวจรถยนต์ รถประจำทาง รถบรรทุก 58,711 คัน ตรวจโรงงาน แพลนท์ปูน ไซต์ก่อสร้าง ถมดิน 1,900 แห่ง ติดตาม BKK Clean Air Area ตรวจสอบแหล่งกำเนิดทุกแห่งอย่างน้อย 2 ครั้งต่อเดือน ทั้งนี้ ได้มีการแก้ไขสั่งปรับปรุงโรงงาน แพลนท์ปูนไซต์ก่อสร้าง ถมดิน 41 ครั้ง สั่งแก้ไข-ห้ามใช้รถยนต์ รถประจำทาง รถบรรทุก 1,020 คัน สั่งปรับปรุงโรงงาน แพลนท์ปูน ไซต์ก่อสร้าง ถมดิน 41 ครั้งโดยมีจุดวัดค่าฝุ่นในพื้นที่ กทม. 70 จุด ผ่าน App AirBKK และมีการใช้ Traffy Fondue แจ้งจุดกำเนิดฝุ่น ในอนาคต กทม. จะร่วมมือกับแอพพลิเคชั่น LINE เพื่อรายงานค่าฝุ่นในแต่ละจุด

ปัจจุบันค่ามาตรฐาน PM2.5 กรมควบคุมมลพิษกำหนดไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ในอนาคตกรมควบคุมมลพิษ จะลดค่าเหลือเหลือ 37.5 ไมโครกรัม/ลบ.ม ซึ่งจะใช้ประมาณเดือนมิถุนายน 2566 ซึ่งในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาค่าเฉลี่ยค่าเฉลี่ย ฝุ่น PM2.5 อยู่ที่ 27 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

Advertisement

นายจักกพันธุ์กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้านโยบายสวน 15 นาที ขณะนี้สำนักงานเขตและสำนักสิ่งแวดล้อม ได้จัดหาพื้นที่ทำสวน 15 นาที ได้แล้ว 98 แห่ง เนื้อที่ประมาณ 641 ไร่ แบ่งเป็น ที่ดิน กทม. 39 แห่ง หน่วยงานรัฐ 34 แห่ง และเอกชน 25 แห่ง เปิดให้บริการแล้ว 13 แห่ง ดังนี้

1.สวนหน้าคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลฯ 2.สวนหย่อมดับเพลิงสุทธิสาร 3.สวน Vadhana Pocket Park ซอยทองหล่อ 10 4.สวนหย่อมซอยสุขุมวิท 62/3 ใกล้กับโรงแรมคอนวีเนียนพาร์ค 5.สวนหย่อมซอยวชิรธรรมสาธิต 27 (ชุมชนหมู่บ้านทับแก้ว) 6.สวนหย่อมพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก (เขตบางรัก) 7.สวนสุขใจ 8.สวนจุดพักรถลาดกระบัง 9.ยูเทิร์นเพลินใจ ทางกลับรถใต้สะพานบางขุนศรี 10.ที่ว่างชุมชนการเคหะธนบุรีโครงการ 1 ส่วน 4  11.สวนสมเด็จย่า บางขุนเทียน 12.ลานเอนกประสงค์ สวนสุขเวชชวนารมย์ และ 13.สวนบางบอนสุขใจ

นายจักกพันธุ์กล่าวว่า ด้านการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากและมีความสำคัญ ปัจจุบัน กทม.มีจำนวนจุดผ่อนผันทั้งหมด 95 จุด ดำเนินการแล้วเสร็จ 55 จุด กำลังดำเนินการ 31 จุด ขอทบทวน 9 จุด และนอกจุดผ่อนผันทั้งหมด 618 จุด โดยมีการสำรวจนอกจุดผ่อนผัน 50 เขต จำนวนผู้ค้า 13,964 ราย พร้อมดำเนินการจัดระเบียบให้ผู้ค้าอยู่ในเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กำหนด พร้อมทั้งมีการเก็บข้อมูลผู้ค้า และขอความร่วมมือทำความสะอาดพื้นที่ทำการ ซึ่งมีพื้นที่ที่ดำเนินการไปแล้ว อาทิ สำนักงานเขตปทุมวัน หน้าอาคารโรเล็กซ์ (ถนนวิทยุ) สำนักงานเขตบางนา หน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซีบางนา สำนักงานเขตดอนเมือง บริเวณถนนสรงประภา เป็นต้น

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจพื้นที่ 125 จุด เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์อาหาร (Hawker Center) โดยมีการแบ่งโซนพื้นที่ร่มบังแดดฝนเพื่อความสะดวก จัดให้มีจุดคัดแยกขยะพื้นที่ซักล้างเพื่อความสะอาด พร้อมจัดให้มีพื้นที่ส่วนกลางในการจัดกิจกรรมเพื่อความสนุกสนาน โดยมีพื้นที่นำร่อง Hawker Center 2 จุด ได้แก่ เขตมีนบุรี สวนลุมพินีประตู 5 ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ
 
“เมื่อวานนี้มีข่าวจากนิตยสาร Time Out ได้มีการจัด 33 อันดับถนนที่ดีที่สุดในโลก จากการสัมภาษณ์ผู้คนทั่วโลกกว่า 20,000 คน โดยอิงจากถนนสายชั้นนำของโลก ที่โดดเด่นทั้งอาหาร ความสนุกสนาน วัฒนธรรม และชุมชน ซึ่งถนนเยาวราช ติดลำดับที่ 8 นั่นหมายถึง ถนนในพื้นที่ กทม. มีศักยภาพ ที่ทำเป็นที่ค้าขาย หรือ Street Food ให้ประชาชนได้ค้าขาย คนทั่วไป และนักท่องเที่ยว ได้จับจ่ายใช้สอย ซึ่งผู้ค้าต้องมีส่วนในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับ กทม. ให้เป็นที่ประทับใจของนักท่องเที่ยว จะสามารถทำให้ Street Food ของ กทม.มีความยั่งยืนและอยู่ร่วมกันได้ระหว่างประชาชนที่ใช้ทางเท้ากับผู้ค้าบนทางเท้า” นายจักกพันธุ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image