ชัชชาติ ชนหมัด ฉันชาย ไขปมฝุ่น PM 2.5 มหันตภัยเงียบ ชี้ปอดเรื้อรังทำคนไทยทุพลภาพ-เสียชีวิตสูงมาก

ชัชชาติ ร่วมเสวนา “ฝุ่น PM2.5 มหันตภัยเงียบต่อสุขภาพ ป้องกันได้อย่างไร” ในงานเสวนาทางการแพทย์ “Living with Chronic Lung Disease อยู่อย่างไร เมื่อเป็นโรคปอดเรื้อรัง” รพ.จุฬาฯ

เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเสวนาหัวข้อ “ฝุ่น PM2.5 มหันตภัยเงียบต่อสุขภาพ ป้องกันได้อย่างไร” ในงานเสวนาทางการแพทย์ “Living with Chronic Lung Disease อยู่อย่างไร เมื่อเป็นโรคปอดเรื้อรัง” จัดโดยหน่วยโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤต ฝ่ายอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยมี รศ.ดร.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย พร้อมคณะแพทย์ร่วมเสวนา ณ โถงชั้น M1 อาคารรัตนวิทยาพัฒน์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เขตปทุมวัน

รศ.ดร.นพ.ฉันชาย กล่าวว่า โรคปอดโดยเฉพาะโรคปอดเรื้อรังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตและทุพพลภาพของคนไทยในอัตราที่สูงมาก เช่น โรคถุงลมโป่งพองเป็น 1 ใน 5 อันดับที่ทำให้คนไทยเสียชีวิต และมีผลกระทบกับคุณภาพชีวิตของเรา การเสวนาในวันนี้จึงมีความสำคัญ ในปัจจุบันอุบัติการณ์โรคเหล่านี้มีมากขึ้น เพราะส่วนหนึ่งของโรคเหล่านี้เกิดจากสิ่งแวดล้อม

“จริง ๆ แล้วทางเดินหายใจเป็นเหมือนหน้าต่างของร่างกายเรา ทุกอย่างที่จะเข้าไปในร่างกายเรา เช่น ลมหายใจ ต้องผ่านการกรองจากระบบหายใจก่อน ดังนั้น เรามีสิทธิที่จะรับเอาสิ่งต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อมเข้าไป โดยเฉพาะประเด็นหลัก ๆ เช่น PM2.5 ซึ่งเป็นประเด็นที่เราจะเสวนาในวันนี้ว่า ที่ดีที่สุดจะต้องป้องกันอย่างไรเพื่อไม่ให้เป็น หากเป็นแล้วจะอยู่อย่างไรเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด เราสามารถปรับการดูแลให้ดีและเปลี่ยนมุมมองให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้” รศ.ดร.นพ.ฉันชาย กล่าวเปิดงาน

Advertisement

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึง เรื่อง PM2.5 กับกรุงเทพมหานคร ในประเด็นฝุ่นมาจากไหน การต่อสู้กับปัญหา PM2.5 และสถานการณ์ฝุ่นในวันนี้ เริ่มจากประเด็นการเกิดฝุ่น ซึ่งมีอยู่ 2 ปัจจัยหลักคือ แหล่งกำเนิดมลพิษและสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นตัวเสริมกันว่าจะเกิดฝุ่นมากหรือน้อย จริง ๆ แล้วดูที่ความหนาแน่น ซึ่งแหล่งกำเนิดมลพิษในกรุงเทพฯ หลัก ๆ มาจากการขนส่ง 50-60% ภาคอุตสาหกรรม 10-20% การเผาชีวมวล 10-20% อื่น ๆ 5-10% โดยในส่วนของการขนส่งทางถนน มาจากรถยนต์ประเภทดีเซล แบ่งเป็นรถปิ๊กอัพ 40-55% รถบรรทุก 20-35% รถยนต์ จักรยานยนต์ และอื่น ๆ 5-10% รวมทั้งจุดขนถ่ายสินค้าและท่าเรือทำให้เกิดการขนส่งหลายล้านเที่ยวต่อปี

ในส่วนการเผาชีวมวลทั้งในและนอกพื้นที่ ช่วงต้นปี 65 พบจุดความร้อนในประเทศไทย 418 จุด กัมพูชา 2,043 จุด ลาว 260 จุด โดยในช่วงนี้มีจากลมตะวันออกเฉียงเหนือทำให้พาฝุ่นจากกัมพูชาเข้ามากรุงเทพฯ โดยตรง เกิดการปะทะกับแนวเขาทำให้ลมม้วนและหอบเอาฝุ่นมาตกที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้ พื้นที่อุตสาหกรรมในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในฝั่งตะวันตก โดย 10 อันดับของเขตที่มีค่าฝุ่นสูงสุดในปี 64 และ 65 อยู่ในกลุ่มเขตกรุงธนเหนือและกรุงธนใต้ ส่วนหนึ่งมาจากการกระจุกตัวของโรงงาน การก่อสร้างถนนพระราม 2 เป็นต้น นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ฝาชีครอบ เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ฝุ่นหนาแน่นในช่วงฤดูหนาว รวมทั้ง ฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ (กลางเดือน ต.ค. – ก.พ.) พัดผ่านแหล่งกำเนินฝุ่นจากการเผาชีวมวล

Advertisement

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวถึง การต่อสู้กับปัญหา PM2.5 ของ กทม. ว่า อันดับแรกต้องรู้ว่าสาเหตุของการเกิดฝุ่นมาจากไหน โดยจัดทีมนักสืบฝุ่น รวมทั้งประสานข้อมูลการพยากรณ์และติดตามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำมาสื่อสารให้กับประชาชนได้รับทราบ โดยขยายขอบเขตการพยากรณ์ล่วงหน้าเป็น 7 วัน พร้อมทั้งระบุปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ ยังได้นำธงคุณภาพอากาศมาใช้กับโรงเรียนในสังกัด กทม. เพื่อให้เด็กเกิดความเข้าใจและตระหนักรู้ และสามารถเตรียมตัวป้องกันและดูแลสุขภาพได้ มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร สำหรับติดตามสถานการณ์ฝุ่น รวมถึงการเผาในพื้นที่ หากมีการเผาเกิดขึ้น สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักพัฒนาสังคม จะประสานสำนักงานเขตเข้าดำเนินการในพื้นที่ทันที

นอกจากนี้ ยังดำเนินการปูพรมตรวจรถควันดำ ตั้งแต่ต้นทางสั่งแก้ไขแล้ว จำนวน 1,020 คัน ตรวจควันดำในสถานที่ต้นทาง 741 คัน สั่งให้ปรับปรุงแก้ไข 4 คัน ตรวจจับรถยนต์ปล่อยควันดำ ร่วมกับหน่วยงานภายนอก 28,322 คัน ออกคำสั่งห้ามใช้ 808 คัน ตรวจรถโดยสารประจำทาง/ไม่ประจำทาง ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก 4,669 คัน พ่นห้ามใช้ 23 คัน และลดจำนวนรถบรรทุกและรถโดยสาร ที่จะเข้ามาตรวจสภาพรถในเขตเมืองชั้นใน โดยกระจายศูนย์ตรวจไปยังพุทธมณฑล คลองหลวง และร่มเกล้า อีกทั้งยังดำเนินการตรวจเฝ้าระวังการปล่อยมลพิษโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง สั่งปรับปรุงแล้ว 41 แห่ง โดยมีการควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดฝุ่นในพื้นที่ ไม่ให้ปล่อยมลพิษทางอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด แห่งละ 2ครั้ง/เดือน พร้อมทั้งกำกับดูแลและเฝ้าระวังโรงงานอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มปล่อยมลพิษสูง โดยเฉพาะโรงงานที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิง และโรงงานที่มีฝุ่นละอองสูง จำนวน 260 แห่ง พูดคุยกับเกษตรกรในพื้นที่และประสานงานจัดหารถอัดฟางช่วยเหลือเกษตรกรในการเก็บฟางแทนการเผา รวมทั้งเปิดการรายงานต้นตอฝุ่นใน Traffy Fondue ด้วย

สำหรับมาตรการการป้องกัน กทม.ได้เปิดให้บริการคลินิกมลพิษทางอากาศใน 5 โรงพยาบาล เฝ้าระวังผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ แจกหน้ากากอนามัยและ N95 ให้กับประชาชนทั่วไปและผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง ดำเนินการตามโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและเพิ่มการดูดซับฝุ่นละออง ปรับพฤติกรรมการเดินทางให้คนเดินเยอะขึ้น โดยพัฒนาทางเท้าที่มีคุณภาพ สร้างพฤติกรรมการสัญจรในรูปแบบใหม่ ลดการใช้พลังงานจากการขนส่ง พร้อมทั้งกำหนดจุดพัฒนาหลังคาเพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจร จัดให้มีการเดินรถสาธารณะไฟฟ้าเพื่อเชื่อมต่อการขนส่งไปสู่จุดหมายปลายทาง พัฒนาจุดเชื่อมต่อการสัญจร เพื่อยกระดับคุณภาพในการใช้บริการขนส่งสาธารณะ สนับสนุนให้เกิด Ecosystem การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า เพิ่มจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าตามสถานที่ราชการและพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ รวมทั้งสนับสนุนโครงการของรัฐในการปรับปรุงมาตรฐานทั้งการผลิตรถและน้ำมันให้เป็น EURO 5 และ 6 ทบทวนแนวทางการเก็บเงินรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษที่จะเข้ามายังเขตชุมชนหนาแน่น Congestion Charge ปรับปรุงผังเมืองพัฒนา “บ้านใกล้งาน” ลดความจำเป็นในการเดินทาง ซึ่งเป็นแนวทางที่จะพัฒนาต่อไป สำหรับมาตรการที่ดำเนินการล้วนมีต้นทุนทางเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่สิ่งที่จะได้กลับมาคือการลดความเสียหายต่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาว ซึ่งการเสวนาวันนี้สำคัญ ทำให้เรารู้ว่าในอนาคตเราจะต้องจ่ายเท่าไร คุ้มกับการลงทุนระยะยาวในตอนนี้หรือไม่

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวโดยสรุปว่า ในภาพรวมปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่ใช่เรื่องที่แก้ได้ง่าย ต้องเริ่มจากกำจัดแหล่งมลพิษก่อน ถ้าไม่คิดต้นทุนสุขภาพจะไม่คุ้มทุน แต่หากคิดต้นทุนสุขภาพแล้ว ตนว่ามันเกิดคุ้มที่ลงทุนที่จะเปลี่ยน เช่น การเปลี่ยนเครื่องยนต์ เป็นต้น ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน การพยากรณ์ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ฝุ่นเพื่อแจ้งเตือนประชาชน เพื่อให้เตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ผ่านทางเว็บไซต์ www.bangkokairquality.com เว็บไซต์ www.pr-bangkok.com FB: สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร FB: กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม FB: กรุงเทพมหานคร และแอปพลิเคชัน AirBKK เพื่อให้สามารถวางแผนการทำงาน การทำกิจกรรมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่คุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ/มีผลกระทบต่อสุขภาพ ควรลดระยะเวลา หรืองดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง

ทั้งนี้ ภายในงานมีกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด พยาบาลวิชาชีพ และนักสังคมสงเคราะห์ บูธกิจกรรมเกี่ยวกับความรู้ในแง่มุมต่าง ๆ ของโรคปอดเรื้อรัง การจัดแสดงอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง และนิทรรศการความรู้ นอกจากนี้ ยังมีการให้บริการตรวจองค์ประกอบร่างกาย พร้อมลุ้นรับเครื่องวัดระดับออกซิเจนปลายนิ้ว จำนวน 50 เครื่องสำหรับผู้ลงทะเบียนล่วงหน้า พร้อมรับของที่ระลึกภายในงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image