ค้าน! โอนงบ 7 หมื่นล้านให้ประกันภัยดูแลสิทธิพยาบาล ‘ข้าราชการ’ หวั่นกระทบ รพ.รัฐ เสี่ยงปิดตัว!!

ตามที่กระทรวงการคลังประกาศเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้บริษัทประกันภัยเอกชน เข้ามาบริหารระบบและดูแลงบประมาณค่ารักษาพยาบาลสิทธิข้าราชการแทนกรมบัญชีกลาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณนั้น ปรากฎว่ามีเสียงคัดค้านกรณีดังกล่าว เนื่องจากหวั่นกระทบข้าราชการ 5 ล้านคนและครอบครัวอีกจำนวนหนึ่ง

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ที่ห้องประชุมศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ(คสร.) จัดแถลงข่าว “คัดค้าน กระทรวงการคลังเตรียมยกงบประมาณ 7 หมื่นล้านบาทให้ธุรกิจประกันภัยดูแลสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ” โดยมีอดีตผู้บริหารภาครัฐ เป็นข้าราชการบำนาญเข้าร่วมแถลงครั้งนี้

นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และตัวแทน คสร. กล่าวว่า กระทรวงการคลังยอมรับชัดเจนว่าได้เตรียมการโอนเงิน 7 หมื่นกว่าล้านบาท ไปให้ธุรกิจประกันภัยบริหารจัดการ โดยย้ำว่าจะไม่มีการลดสิทธิใดๆ และไม่เพิ่มงบประมาณของประเทศ ซึ่งในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเป็นไปอย่างที่กล่าวอ้าง เนื่องจากมีประสบการณ์ในเรื่องการบริหารของพ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถยนต์ พ.ศ.2535 ซึ่งจัดเจนว่าบริษัทเอกชนที่มาบริหาร นอกจากมีค่าบริหารจัดการแล้ว ยังต้องการกำไรอีก อย่างพ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ ทางบริษัทเอกชนรับจากการบริหารตรงนี้ไปกว่าร้อยละ 40 ขณะที่เมื่อเกิดปัญหา หรือ เมื่อประสบภัยจากรถเกิดขึ้น กว่าจะเบิกเงินได้ยากมาก ต้องไปแจ้งความ ต้องมีบันทึกประจำวัน และการที่รพ.จะเบิกเงินจากผู้ประกันภัยจากรถ ซึ่งเป็นเอกชน จะต้องส่งเอกสารต่างๆมากมาย จนในที่สุดเหนื่อยล้าในการจะเบิก โดยต้องเอาคนที่ประสบภัยจากรถมาเบิกจากสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าบ้าง สิทธิข้าราชการบ้าง และจากสิทธิประกันสังคมบ้าง

“เมื่อเป็นอย่างนี้ หากยังให้บริษัทเอกชนมาบริหารงบประมาณการรักษาพยาบาลของข้าราชการอีก การเบิกจ่ายก็คงเป็นแบบเดียวกัน ลองคิดดูงบประมาณกองทุนสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการประมาณ 7 หมื่นกว่าล้านบาท หากคิดค่าบริหารจัดการให้ธุรกิจประกันภัย คิดขั้นต่ำหักไปง่ายๆสักร้อยละ 10 หรือประมาณ 7,200 ล้านบาท งบส่วนนี้จะหายไปให้เอกชน แทนที่งบตรงนี้จะไปอยู่ในระบบของรพ.รัฐ ซึ่งทุกวันนี้ก็หมุนเวียนอยู่แล้ว แต่หากให้เอกชนบริหาร จะถูกคิดค่าบริหารจัดการตัดจากงบกองทุนไปอีก ซึ่งที่คาดไว้น่าจะเป็นค่าบริหารจัดการประมาณร้อยละ 10 และอาจเพิ่มไปถึงร้อยละ 40 เงินจะหายไปจากระบบมากมายมหาศาล แน่นอนว่ารพ.รัฐประสบปัญหาแน่ๆ ยิ่งรพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องอยู่แล้ว จะต้องปิดตัวหรือเจ๊งภายใน 2 ปี ยิ่งรพ.ที่ประสบปัญหาขาดทุนขั้นวิกฤตอาจไม่ถึงปีด้วยซ้ำ ดังนั้น เราต้องช่วยกัน ต้องปิดกั้นอย่าให้สิ่งชั่วร้ายเหล่านี้เกิดขึ้นได้ การมาบอกว่าผ่านการประชุมมาแล้วพร้อมเสนอครม. ซึ่งไม่ถูกต้อง ที่ผมกลัวคือ กลัวจะใช้อำนาจมาตรา 44 ประกาศทีเดียว ถ้าเป็นเช่นนั้นคงแย่” นพ.มงคล กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะทำหนังสือทักท้วงหรือไม่ นพ.มงคล กล่าวว่า ถึงตอนนี้คงไม่ทัน วิธีที่ดีที่สุด คือ ข้าราชการทุกคนที่มีสิทธิต้องลุกขึ้นมา ออกมาคัดค้าน แสดงจุดยืน นี่คือประโยชน์ของพวกท่าน เพราะถ้าประกันภัยมาดูแล การเคลมต่างๆยากแน่นอน รวมทั้งรพ.ต่างๆ โดยเฉพาะรพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะมีปัญหาภายในระยะเวลาอันสั้น และจะกระทบต่อประชาชนสิทธิบัตรทอง เพราะหากรพ.รัฐไม่มี ประชาชนสิทธิบัตรทอง คนส่วนใหญ่ของประเทศจะไปรักษาพยาบาลที่ไหน

นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ปัญหาของสิทธิข้าราชการ มาจากการใช้งบประมาณพุ่งสูง แต่การแก้ปัญหากลับจะโดยให้ธุรกิจประกันภัย ต้องถามว่าเกาถูกที่คันแล้วหรือ ทำไมไม่แก้ที่สาเหตุ ยกตัวอย่าง กรมบัญชีกลางเคยเรียกเงินคืนจากรพ.แห่งหนึ่ง เพราะพบว่ามีการสั่งจ่ายยาให้คนไข้มากเกินความจำเป็น หรือที่เรียกว่า การยิงยา เพราะยาที่สั่งจ่ายเป็นยานอกบัญชียาหลัก มีราคาแพง แทนที่จะใช้ยาในบัญชียาหลัก ตรงนี้ก็ต้องไปตรวจสอบว่า เพราะอะไร ซึ่ง กรมบัญชีกลางสามารถตรวจสอบบัญชีการใช้ยาต่างๆได้ ทางออกคือวิเคราะห์ปัญหาก่อน และให้ข้าราชการ ให้สถาบันวิชาการ รวมทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) มาร่วมกันศึกษาว่าจะหาทางออกกันอย่างไร

ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาการใช้จ่ายยาไม่สมเหตุสมผลของสิทธิข้าราชการนั้น จะพบปัญหาที่ผู้ป่วยนอก เพราะผู้ป่วยในจะมีการควบคุมการใช้จ่ายยาที่เรียกว่า การคิดราคาตามกลุ่มโรค หรือดีอาร์จี(DRG) จริงๆเคยมีการเสนอการปรับปรุง แก้ปัญหามาตลอด อาทิ กรมบัญชีกลางประกาศใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล กำหนดรพ.ที่มีการใช้จ่ายเยอะให้ส่งเหตุผลการใช้ยา กำหนดทุกรพ.ใช้ยาชื่อสามัญแทนยาต้นแบบ เป็นต้น ดังนั้น กรมบัญชีกลางต้องปรับปรุงระบบ แก้ปัญหาที่สาเหตุ โดยระบบสิทธิประโยชน์ต้องไม่มากเกินไป ต้องสมเหตุสมผล และกรมบัญชีกลางควรแยกหน่วยออกมาทำเรื่องนี้ แยกเป็นหน่วยอิสระในการติดตามตรวจสอบ หากทำไม่ได้ ก็อาจให้สปสช. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หรือให้หน่วยอิสระกลางแห่งใดมาทำก็ได้

Advertisement

นางรัศมี วิศทเวทย์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) กล่าวว่า หากให้ธุรกิจเอกชนบริหาร แน่นอนว่าจะต้องมีปัญหา เพราะจะกระทบต่อผู้มีสิทธิในการเบิกจ่าย ยังเป็นการให้ประโยชน์ต่อธุรกิจเอกชนอีก แทนที่จะให้ราชการทำ และไปพัฒนาระบบเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image