ล้อมวงคาดหวัง ส่งสัญญาณรัฐบาลใหม่ ‘ผ่านร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองการให้บริการทางเพศ’ ยกเลิกกฎหมายล้าสมัย ตีตราคนค้าบริการ
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 16 มีนาคม ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ (Empower Foundation) จัดเวทีแถลงข่าว “กฎหมายใหม่สำหรับยุคใหม่ คืนงาน คืนคน เปลี่ยนส่วยเป็นภาษี ธุรกิจดี-ไม่สีเทา” เพื่อยืนยันว่า ถึงเวลาที่ประเทศไทยควรยกเลิกความผิดค้าประเวณี คืนความเป็นคน ให้คนค้าบริการไม่ถูกตีตรา คืนความเป็นงาน ให้เป็นเพียงแรงงานคนหนึ่งไม่ใช่อาชญากร ไม่ต้องจ่ายส่วยอีกต่อไป
โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ, นักวิชาการที่ร่างกฎหมาย ตลอดจน พนักงานบริการ และตัวแทนองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น อาทิ นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว, ศ.ณรงค์ ใจหาญ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, นางทันตา เลาวิลาวัณยกุล ตัวแทนพนักงานบริการ, Anna Oleson ตัวแทนจาก International Labour Organization (ILO) ดำเนินรายการโดย ปรานม สมวงศ์ จาก Protection International
อ่านข่าว : พนง.บริการ ขำ กลางวันบอก ‘ทำผิดกม.’ ตกดึกเป็นลูกค้า? ชงเปลี่ยนส่วยเป็น ‘ภาษี’ วิ่งหนีเป็น ‘คุ้มครอง’
ในตอนหนึ่ง พิธีกรถามว่า 3-4 ปีที่ผ่านมา มีการร่างกฎหมายใหม่ของนักวิชาการ, พม. และกรมกิจการสตรีฯ ซึ่งร่างล่าสุดมีพนักงานบริการมาร่วมร่างด้วย หนทางของพนักงานบริหการจะเป็นอย่างไร หลังจากมีรัฐบาลใหม่ พม.จะยังร่วมผลักดันกฎหมายเพื่อคนขายบริการหรือไม่ ?
นางจินตนา อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวถึงที่มาของกฎหมาย “ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองการให้บริการทางเพศ” ว่า พูดถึงการค้าประเวณี หรือ Sex Worker มีมาอย่างยาวนาน เรามีกฎหมายการค้าประเวณี ฉบับแรก ปี พ.ศ.2503 ซึ่งนานมาก มีการปรับปรุงจนได้ฉบับที่ใช้ล่าสุดคือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539
“ปี 39 ถ้านับมาถึงปีนี้ 27 ปีแล้ว ความทันสมัยของกฎหมาย ไม่ว่าจะหลักคิด แนวคิด ตัวบัญญัติ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม จึงไม่สอดคล้อง มีความพยายามแก้มาอย่างยาวนาน ปี 2562 ม.ธรรมศาสตร์ ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการแก้ไข ศึกษาจากทั่วโลกเป็นหลัก ในแนววิชาการ ส่วนหนึ่งจัดรับฟังความเห็น”
“แต่มีกฎหมาย พ.ร.บ.ฉบับหนึ่งขวางอยู่ ซึ่งการปรับปรุง ยกเลิก แก้ไข ร่างใหม่ ต้องผ่านการประเมินผลสัมฤทธิ์ ว่าทำไมต้องแก้ไข มีอุปสรรคอย่างไร ตั้งคณะกรรมการต้นปี ม.ค.2564 รับฟังความเห็นรอบด้านจากทุกฝ่าย ผ่านเว็บไซต์ และจัดเวที ใช้เวลา 1 ปีเต็ม สรุปผลการประเมินเห็นตรงกันว่า กฎหมายตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 ไม่สอดคล้องกับปัจจุบัน ที่ถูกเอาเปรียบ ขูดรีด มีช่องทางแสวงหาผลประโยชน์” นางจินตนาชี้
นางจินตนากล่าวต่อว่า ความเห็นที่น่าสนใจคือ “ถ้าสมัครใจ ไม่ควรมีความผิดทางอาญา” และ “ป้องกันการเอาเปรียบ” ที่สำคัญต้องเปลี่ยนแนวคิด จากปราบปราม เป็นคุ้มครอง ก่อนประมวลไปเสนอบอร์ดระดับชาติ ว่าต้องปรับใหม่
“กฎหมายนี้ เน้นการมีส่วนร่วม ฟังความเห็นทุกภาคส่วนด้วยซ้ำ เราใช้เวลาทำงานอย่างรอบคอบ ร่างตั้งแต่ 1 ม.ค.65 ร่างเสร็จ ต.ค. หลังจากคณะกรรมการประเมินเสร็จแล้ว กฎหมายที่จะร่างขึ้นมา มันเปลี่ยนมาก คงไม่ใช่การปรับปรุงแก้ไข ต้องยกเลิก จากที่ศึกษามา ดูประเด็นแล้วต้องยกเลิกกฎหมายฉบับนี้”
“ตอนนี้ร่างเสร็จแล้ว รับฟังความเห็นเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็ต้องเสนอคณะกรรมการเห็นชอบอีกที มั่นใจได้ว่าเรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เชิงสิทธิมนุษยชน ผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน มิติสังคมต่างๆ ครบถ้วน ใช้พลังทางวิชาการ ภาครัฐ เอกชน ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ต่อไปเราต้องเปิดให้ประชาชนทั่วไป ทางเว็บไซต์กฤษฎีกา และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว” นางจินตนากล่าว
นางจินตนากล่าวต่อว่า ช่วงนี้พอดีรอเลือกตั้ง เรายังปรับปรุงร่างกฎหมายได้ ถ้ามีรัฐบาลใหม เราแพลนไว้ว่าเดือนกรกฎาคม ไม่เกินสิงหาคม จะเสนอกฎหมายให้รัฐมนตรีเห็นชอบก่อน จากนั้นเมื่อรัฐมนตรีเห็นชอบ ก็เสนอเข้า ครม. กลับไปกฤษฎีกา และเข้าสภาผู้แทนราษฎร ตามกระบวนการ
“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากฎหมายฉบับนี้จะผ่าน เพราะผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย” นางจินตนากล่าว
ด้าน ปรานม พิธีกรกล่าวเสริมว่า สิ่งสำคัญของกฎหมายนี้ คือการที่ต่อไป รัฐมนตรีคนใหม่เห็นชอบ
“ต้องส่งสัญญาณไปที่พรรคการเมือง ว่าถ้าอยากจะเป็นรัฐมตรี และอยากจะเข้ามา มันมีกฎหมายดีๆ ที่อย่างน้อยทำให้ประเทศนี้มีศักดิ์ศรีขึ้นมานิดนึง” ปรานม กล่าว
ขณะที่ ศ.ณรงค์ จาก ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งถึงเนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับใหม่ หรือ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองการให้บริการทางเพศว่า สอดคล้องกับอนุสัญญาซีดอว์ ที่บอกว่า การลงโทษผู้ค้าประเวณีซึ่งกระทำในสถานการค้าประเวณี นั้น ควรจะยกเลิกได้
“ความจริงกฎหมายปัจจุบันก็ไม่ได้ลงโทษ แต่จะมีการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็น 3 ฐานความผิดคือ 1.การไปชักชวนให้มาซื้อประเวณีในที่สาธารณะ มีความผิดและโทษปรับ เจตนารมณ์ของกฎหมาย คือรบกวนบุคคลทั่วไป ที่ควรจะต้องยกเลิกอย่างมากคือ 2.การอยู่ในสถานการค้าประเวณี ไม่ว่าจะสมัครใจหรือไม่ กฎหมายมีโทษปรับ 3.การลงประชาสัมพันธ์เพื่อชักชวนคนมาซื้อประเวณี
3 ฐานความผิดนี้ จึงทำให้ผู้ค้าประเวณีโดยสมัครใจ มีความผิดไปด้วย ซึ่งร่างกฎหมาย ลบฐานความผิดนี้ทิ้ง” ศ.ณรงค์กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สธ. ยันไทยเจอ “ฝีดาษวานร” แล้วแต่ไม่ใช่สายพันธุ์รุนแรง ชี้ ยกระดับการสื่อสารกลุ่ม Sex Worker
- ‘โลกใบนี้ไม่มีใครขายตัว’ Sex worker อาชีพสุจริตที่กฎหมายไทยยังไม่ยอมรับ
- อึ้ง! ล่อซื้อประเวณี ร้านคาราโอเกะเมืองภูเก็ต เจอเด็กให้บริการ อายุเพียง 13 ปี
- รวบชาวอุซเบกิสถาน ลวงเพื่อนร่วมชาติค้ากามพัทยา พบทำเป็นขบวนการ แต่ให้การปฏิเสธ