ท่าทีผู้บริหาร สธ. กับ ‘สิทธิสุขภาพ’ เด็กไร้สถานะ-คนจีนโพ้นทะเล

เหมือนจะเงียบหายไปเฉยๆ กับประเด็นการดูแลสิทธิพื้นฐานด้านสุขภาพของบุคคลไร้สถานะและสิทธิ ซึ่งยังมีกลุ่มที่ตกหล่นไม่ได้รับการสนใจจากภาครัฐเท่าที่ควร โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนในสถานศึกษา ที่กระทรวงศึกษาธิการให้สิทธิด้านการศึกษาไว้ หรือเรียกว่า “เด็กนักเรียนกลุ่ม G” โดยกลุ่มนี้ไม่ได้รับสิทธิด้านสุขภาพ

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพให้แก่บุคคลเหล่านี้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้เลขสถานะบุคคล แต่พวกเขาก็ควรมีสิทธิด้านสุขภาพในการรักษาพยาบาลและป้องกันโรค ทั้งวัณโรค มาลาเรีย คอตีบ หรือโรคต่างๆ ทั้งโรคอุบัติใหม่อุบัติซ้ำ เนื่องจากหากมีการเจ็บป่วยโดยไร้การดูแลรักษา นอกจากประเด็นด้านมนุษยธรรมแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องการระบาดของโรคต่างๆ ที่อาจนำมาสู่คนไทยที่มีเลขสถานะทุกคนอีก

จึงเป็นเรื่องน่าชื่นชมที่ สธ.ได้ผลักดันนโยบายเข้าถึงสิทธิพื้นฐานด้านสาธารณสุข จนกระทั่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2553 ให้จัดตั้งกองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขสำหรับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ รวม 457,409 คน โดยให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 เป็นต้นไป

ไม่เพียงเท่านั้น แม้ภายหลังเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย นำโดย นายวิวัฒน์ ตามี่ จะออกมาพูดว่ามีกลุ่มคนไร้สถานะตกหล่นอีกกว่า 208,631 คน โดยเฉพาะยังมี “บุตรของแรงงานข้ามชาติ” ที่เกิดในประเทศไทย และ “บุตรของชนกลุ่มน้อย” อยู่ในสภาพคนไร้สถานะและสิทธิอีกประมาณ 100,000 คน ซึ่งเด็กพวกนี้ไม่ได้รับสิทธิสุขภาพ

Advertisement

กระทั่ง สธ.เห็นความสำคัญในสมัยของ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เป็นรัฐมนตรีว่าการ สธ. และ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ได้ร่วมกันผลักดันจนในที่สุด ครม.มีมติเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 เห็นชอบเพิ่มกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิอีกจำนวน 208,631 คน เข้าสู่กองทุนคืนสิทธิฯ ประกอบด้วย 1.ชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย จำนวน 150,076 คน 2.บุตรของบุคคลตามกลุ่มเป้าหมายของยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล จำนวน 56,672 คน และ 3.บุคคลกลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลในโครงการเฉพาะ เช่น บุคคลที่ขึ้นทะเบียนไว้ตามโครงการเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษาฯ จำนวน 1,883 คน

แต่เรื่องยังไม่จบ กลุ่ม “เด็กนักเรียนกลุ่ม G” ก็ยังไม่ได้รับสิทธิด้านสุขภาพอยู่ดี จนนายวิวัฒน์ต้องออกมากระทุ้งเป็นระลอกๆ โดยจากข้อมูลพบว่ากลุ่มนี้ที่มีการระบุตัวตน แต่ไม่ได้รับสิทธิพื้นฐานด้านสาธารณสุขมีจำนวน 67,433 คน และยังมีกลุ่มคนดั้งเดิมที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่อยู่ในทะเบียนราษฎรอีก 40,229 คน รวมแล้วกลุ่มนี้เป็น 107,662 คน ซึ่ง สธ.ในสมัย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. ได้นำตัวเลขดังกล่าวเสนอต่อ ครม.พิจารณา แต่ถูกตีกลับ ให้ไปพิจารณาและยืนยันตัวเลขให้ชัดเจน

แต่เมื่อสอบถามไปยัง นพ.โสภณ ยังคงยืนยันเช่นเดิมว่า สธ.จะเดินหน้าให้สิทธิสุขภาพกลุ่มคนไร้สถานะและสิทธิ โดยที่ยังติดขัดเรื่องตัวเลข ขณะนี้ได้มอบให้ พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัด สธ. เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ เข้าใจว่าได้เปลี่ยนให้กลุ่มประกันสุขภาพ มาดูแลแทนสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ซึ่งน่าจะมีความคืบหน้าแล้ว เพื่อเสนอต่อ ครม.อีกครั้ง

Advertisement

กระทั่งเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยทนไม่ไหว ต้องออกมากระทุ้งว่า จริงๆ ตัวเลขมีทั้งหมดแล้ว ทั้งเด็กนักเรียนกลุ่ม G และกลุ่มคนดั้งเดิมหรือคนจีนโพ้นทะเล ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ในประเทศไทยมานาน พวกเขาควรได้รับสิทธิสุขภาพพื้นฐาน แต่กลับถูกตัดสิทธิจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่ง สธ.มีหน้าที่ให้การดูแลสุขภาพโดยตรง แต่ผ่านมาร่วมปีแล้ว ประเด็นนี้ยังไม่สำเร็จเสียที ทั้งๆ ที่น่าจะทำให้เสร็จสิ้น จะได้เป็นผลงานของ สธ.ในยุคนี้

แว่วว่าเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย จะลงจากดอยจากเขาไปเยือนผู้บริหาร สธ.ในเร็วๆ นี้ อีกรอบ เพื่อเรียกร้องและทวงถามความคืบหน้าจาก “นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร” รัฐมนตรีว่าการ สธ. ว่าจะเดินหน้าเรื่องนี้หรือไม่ หรือจะปล่อยให้คนกลุ่มดังกล่าวไร้สิทธิสุขภาพต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image