ศิลปินมือรางวัล Bangkok Pride มั่นใจพิธา เชื่อรัฐบาลใหม่ดันกฎหมายเท่าเทียมทางเพศสำเร็จแน่

สรธร หวังนิตย์สุข หรือ ปาร์ค

ศิลปินไพรด์เปิดใจ ไม่คิดฝัน วันหนึ่งผลงานติดหน้าหอศิลป์  ปักหมุด กทม.พร้อมรับความหลากหลาย

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่ลานใบบัว สกายวอล์ก บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน ‘บางกอกไพรด์’ ร่วมกับ ‘กรุงเทพมหานคร’ พร้อมด้วยภาคประชาสังคม และหน่วยงานราชการที่ขับเคลื่อนเรื่องการคุ้มครองสิทธิความหลากหลายทางเพศ ร่วมเปิดภาพผลงานศิลปะบนผนังหอศิลป์ (BACC) ต้อนรับเดือนไพรด์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญ Road To Bangkok World Pride 2028 (อ่านข่าว ‘นฤมิตไพรด์’ เปิดตัว ‘พลเมืองสีรุ้ง’ คนแรกในปวศ. แขวนภาพเบิ้มโชว์ศักยภาพ พร้อมจัด World Pride 2028)

สรธร หวังนิตย์สุข หรือ ปาร์ค เจ้าของผลงานที่ได้รับรางวัลอันดับ 1 ‘The Road to Equality: Bangkok World Pride 2028’ เปิดเผยกับ ‘มติชน’ ถึงผลงานดังกล่าว ซึ่งใช้แนวคิด : ความคิด ‘The Road to Equality ทางเดินแห่งความเท่าเทียม” ว่าออกแบบให้พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ซึ่งเป็นดั่งสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร ประทับอยู่กลางภาพ และล้อมรอบด้วยธงซึ่งเป็นตัวแทนของความหลากหลายทางเพศ และสะท้อนถึงความพร้อมของ กทม.ในการเป็นเจ้าภาพจัด World Pride 2028

ส่วนจุดเริ่มต้นของการสร้างงาน ว่า ตนอยากให้ภาพสื่อออกมาถึงความเป็นกรุงเทพฯ ความเป็น World Pride อย่างชัดเจน

Advertisement

“แล้วอะไรบ้างที่สามารถสื่อถึงความเป็นกรุงเทพได้ ผมนั่งคิดไปคิดมาเรื่อยๆ รู้สึกถึงคำว่ากรุงเทพฯ เมืองเทพสร้าง มันเป็นคำที่ทุกคนคงเคยได้ยิน เราก็คิดต่อไปว่า โอเค ถ้าอย่างนั้น ด้วยความประจวบเหมาะกับโลโก้ของกรุงเทพฯด้วย คือพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ เลยนำพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณมาเป็นเหมือนตัวแทนของความเป็นกรุงเทพฯ โดยตั้งใจเลือกให้อยู่กลางภาพ มีถนนที่เป็นทางเดินสายรุ้ง เดินเข้าไปหาพระอินทร์ โดยมีชาว LGBTQIA+ เดินเข้าสู่กรุงเทพฯ สื่อว่า กรุงเทพฯ พร้อมที่จะโอบรับความหลากหลายทางเพศ”

ถามถึงองค์ประกอบรอบนอก มีความหมายอะไรแฝงอยู่หรือไม่ ?

Advertisement

สรธร เผยว่า ความจริงแล้วตัวฉาก ตนอยากให้เป็นฉากที่เห็นแล้วนึกถึงกรุงเทพฯ จึงพยายามเลือกตึกในกรุงเทพฯ ที่เห็นแล้วจำได้ทันที อย่าง สเตต ทาวเวอร์, ตึกมหานคร, ตึกหุ่นยนต์ ส่วนตึกอื่นๆ เป็นองค์ประกอบที่เห็นแล้วรู้สึกถึงความเป็นไทย มีศาลาวัด และเสาชิงช้าที่สื่อถึงความเป็นกรุงเทพฯ อย่างชัดเจน

เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรบ้างที่ผลงานของตัวเองปรากฏบนตึกหอศิลป์แห่งนี้?

สรธร เผยว่า ต้องบอกว่าดีใจมากเพราะตอนส่งมาครั้งแรก ความจริงเราไม่ได้มั่นใจในตัวเองขนาดนั้น รู้ว่าติด 10 ผลงานที่เข้ารอบก็รู้สึกดีใจแล้ว หลังทราบว่าได้รับรางวัลที่ 1 ก็ยิ่งดีใจมากๆ

“เด็กๆ ตอนมัธยม สมัยเรียนวาดรูป เราก็มาเดินหอศิลป์ กทม.เป็นประจำ พอวันนึงมีรูปของงานเราอยู่บนตึกก็ดีใจมากๆ” สรธร กล่าว

เมื่อถามว่าเคยจัดแสดงงานในหอศิลป กทม. มาก่อนหรือไม่?

สรธร เผยว่า ไม่เคยมาก่อน ตนเป็นศิลปินอิสระค่อนข้างใหม่มากในวงการ ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไร เริ่มต้นวาดภาพประกอบมา 2 ปี รับงานฟรีแลนซ์ทั่วไป

เมื่อถามความเห็นว่า เส้นทางสู่สิทธิความเท่าเทียมทางเพศ ในประเทศไทย ท้าทายมากน้อยแค่ไหน ?

สรธร กล่าวว่า ตนเชื่อว่าความจริงคนไทย ยอมรับและพร้อมที่จะตอบรับตามหลากหลายทางเพศตลอดเวลาอยู่แล้ว เหลือแต่เรื่องของกฎหมาย

“เราได้รัฐบาลใหม่แล้ว ผมเชื่อว่ากฎหมายคงจะเดินหน้าไปได้แน่นอน เชื่อว่าเราถึงจุดนั้นได้แน่นอนไม่น่าเกิดอุปสรรคอะไรมากมาย”

อยากฝากอะไรถึง นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รัฐบาลใหม่ ในการผลักดันเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศอันหลากหลาย ?

สรธร กล่าวว่า เชื่อมั่น คาดหวัง และเชื่อว่าทำได้แน่นอน (อ่านข่าว ‘พิธา’ พร้อมทำงานกับชัชชาติ ประกาศ ‘Pride Always’ ตะโกนจุดแข็งบอกโลก ‘ไทยโอบรับทุกเพศ’)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image