ลุ้น ‘เศรษฐา’ เคาะ ผบ.ตร.คนที่ 14

ลุ้น‘เศรษฐา’เคาะ ผบ.ตร.คนที่14

หลังจากการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 มีอันต้องล่มไป เนื่องจาก นายเศรษฐา ทวีสิน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกรัฐมนตรีขณะนั้น อยากให้เกิดธรรมาภิบาล ให้นายกรัฐมนตรีใหม่เป็นผู้พิจารณาคัดเลือกข้าราชการตำรวจที่จะดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.

ต่อมาวันที่ 29 สิงหาคม ผบ.ตร.มีบันทึกข้อความที่ 0001.(ผบ)/156 การคัดเลือกแต่งตั้งข้าราชการตำรวจถึง 4 แคนดิเดต ผบ.ตร.คนที่ 14

นั่นคือ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 1, พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 2, พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 3 และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 4

Advertisement

โดย 4 บิ๊กแคนดิเดตต้องทำแผนผลการปฏิบัติงานพร้อมทั้งสรุปสภาพปัญหาการปฏิบัติงาน หรือสภาพปัญหาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในปัจจุบัน และแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวในอนาคต หากได้รับการคัดเลือกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. โดยจัดทำเป็นเอกสารรวมจำนวนไม่เกิน 4 แผ่น (ขนาด A4) แล้วส่งไปยัง ตร.(ผ่านสำนักงานกำลังพล) ภายใน 1 กันยายนนี้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของนายกรัฐมนตรีในการคัดเลือกแต่งตั้งผู้จะดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.

ถือเป็นครั้งแรกของอาณาจักรโล่เงิน ที่ให้ “แคนดิเดต ผบ.ตร.” เขียนวิสัยทัศน์ประกอบการพิจารณาคัดเลือกผู้เหมาะสม

ปรากฏว่าได้รับการขานรับจาก ก.ตร. ผู้ทรงคุณวุฒิอย่างถ้วนหน้าว่าดีมาก เพราะ ผบ.ตร.คือผู้นำองค์กร การให้แสดงวิสัยทัศน์จะนำพาอนาคตองค์กรอย่างไรเป็นพันธสัญญาของการปฏิบัติหน้าที่

Advertisement

แต่น่าเสียดายกลับเป็นเพียง “พิธีกรรม” ที่เสมือนไร้แบบแผน คิดขึ้นมากันข้อครหา เพียงเพื่อให้ครบองค์ประกอบ “กติกา” การคัดเลือกผู้นำคนใหม่เท่านั้น แต่ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดจะพัฒนาสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เปลี่ยนแปลงก้าวหน้ากว่าเดิมอย่างไร

สำหรับการได้มาของรหัสเรียกขาน “พิทักษ์ 1” ตาม พ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 นั้น นายกรัฐมนตรีคัดเลือกรายชื่อจากจเรตำรวจแห่งชาติ และรอง ผบ.ตร. คำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวน หรืองานป้องกันปราบปราม เสนอ ก.ตร.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลพระกรุณา เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง

ขณะที่การแต่งตั้งรอง ผบ.ตร.-จเรตำรวจแห่งชาติ ตามกติกาใหม่ นับอาวุโสเช่นเดียวกับการเลื่อนขึ้น ผช.ผบ.ตร.และรองจเรตำรวจแห่งชาติ ให้พิจารณาเรียงลำดับอาวุโส 100% โดย ผบ.ตร.เป็นผู้คัดเลือกเสนอ ก.ตร.พิจารณาให้ความเห็นชอบ

ส่วนระดับ ผบช., จเรตำรวจ, รอง ผบช. และ ผบก. พิจารณาเรียงตามลำดับอาวุโสไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนตำแหน่งว่างในแต่ละระดับ โดย ผบ.ตร.ต้องรับฟังความเห็นจาก ผบช.แล้วคัดเลือกรายชื่อเสนอ ก.ตร.พิจารณาให้ความเห็นชอบ

สําหรับ 4 แคนดิเดต ผบ.ตร. มาทำความรู้จักกัน  คนแรก พล.ต.อ.รอย รับผิดชอบงานมั่นคง เกิด 6 สิงหาคม 2507 จบมัธยมต้นโรงเรียนเซนต์คาเบรียล มัธยมปลายโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ปริญญาตรี นรต.รุ่น 40 ปริญญาตรีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง, MPA สหรัฐอเมริกา หลักสูตรเอฟบีไอ หลักสูตรสืบสวนที่สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย

ประวัติการรับราชการไม่เคยเป็นตำรวจโรงพักสไตล์การทำงานเป็นนักบริหารยุคดิจิทัล เคยเป็นรอง สว.ป.2 กก.7 ป., รอง สว.งานนโยบายและแผน ฝ่ายอำนวยการกองตำรวจสันติบาล, นว.ผบก.ประจำ ตร.(ทนท.หน.อำนวยการ) สำนักงานวิทยาการตำรวจ, สว.งาน 1 ฝอ.1 ส.1, สว.งาน 4 กก.3 บก.อก.ส., สว.งาน 2 กก.5 ส.1, นว.ผู้ช่วย อ.ตร., นว.(สบ4) รอง ผบ.ตร., ผกก.7 ทล., ผกก.2 บล.ทล., รอง ผบก.ทล., รอง ผบก.สบพ., ผบก.ตม.3, ผบก.ประจำ สตม., ผบก.ทท., รอง ผบช.ก., ผบช.ส., ผบช.ศ., ผู้ช่วย ผบ.ตร., รอง ผบ.ตร.

ถัดมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ รอง ผบ.ตร. คุมงานสืบสวนสอบสวน เกิด 29 ตุลาคม 2513 จบมัธยมโรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลา นรต.รุ่น 47 ปริญญาโท สังคมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล, ปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอีสเทิร์นเอเชีย และปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล

ประวัติรับราชการสำคัญ รอง สว.ประจำ รร.นรต., รอง สวส.สน.หนองแขม, รอง สว.สอบสวน สภ.อ.เมืองสมุทรสาคร, ผู้ช่วย นว.(สบ1) ผบช.ภ.3, ผู้ช่วย นว.(สบ1) ผบช.ภ.7, รอง สว.งาน 5 กก.สส.ภ.7, สว.(นิติกรด้านพิจารณาทัณฑ์) วน., สว.ส.ทล.4 กก.5 ทล., สว.ส.ทล.2 กก.3 ทล., ผู้ช่วย นว.(สบ3) นรป.(สบ11), ผู้ช่วย นว.(สบ3) ประจำ สง.ผบ.ตร.ผกก.ประจำ สง.ผบ.ตร.(ทนท.อก.ประจำผู้ช่วย ผบ.ตร.), ผกก.3 บก.ปคม., ผกก.ฝอ.10 บก.อก.บช.ก., ผกก.สภ.หาดใหญ่ จว.สงขลา, รอง ผบก.ภ.จว.สงขลา, รอง ผบก.สปพ., ผบก.ประจำ สง.ผบ.ตร., ผบก.ทท., ผบก.สปพ., รอง ผบช.ทท., ผบช.สตม., ที่ปรึกษา (สบ9) ตร., ผู้ช่วย ผบ.ตร., รอง ผบ.ตร.

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ อาวุโสอันดับ 3 รอง ผบ.ตร.ฝ่ายบริหาร เกิด 8 ธันวาคม 2508 จบมัธยมโรงเรียนเบญจมราชูทิศ จ.ราชบุรี นรต.41 เป็นดาวรุ่งขึ้นนายพลคนแรกๆ ของรุ่น เคยผ่านรอง สว.สอบสวน สภ.เมืองระยอง, รอง สว.สืบสวน สภ.เมืองระยอง, รอง สว.งาน 3 กก.สส.ภาค 1, สว.สอบสวน สภ.บางพลี จว.สมุทรปราการ, นว.(สบ1) ผบช.ภ.1, ผู้ช่วย นว.(สบ2) ผู้ช่วย ผบ.ตร., นว.(สบ3) ผู้ช่วย ผบ.ตร., รอง ผกก. ป., ผกก.6 ทล., ผกก.8 บก.ทล., ผกก.6 บก.รน., ผกก.3 บก.ทท., รอง ผบก.ทล., รอง ผบก.ปคม., ลก.ตร.(สบ6), ผบก.ส.1, รอง จตร.(สบ7) จต., รอง ผบช.สกพ., ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร., ผบช.ภ.8, ผู้ช่วย ผบ.ตร.และรอง ผบ.ตร.ด้วยบุคลิกเงียบๆ ไม่ค่อยเป็นข่าว แต่ฝีมืองานบริหารโดดเด่น วางระบบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเฉพาะการจัดองค์กรตาม พ.ร.บ.ตำรวจใหม่

แคนดิเดตคนสุดท้าย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ รอง ผบ.ตร.คุมป้องกันปราบปราม จ่อคิว ผบ.ตร.คนที่ 14 มากที่สุด รู้ๆ กันอยู่ว่ามี ซุปเปอร์แบ๊กอัพ เกิด 27 มกราคม 2507 จบมัธยมโรงเรียนโยธินบูรณะ รัฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิงห์แดงรุ่น 38 ปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณทิต จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม เคยเป็นรอง สว.ผ.3 กก.2 ป., สว.กองกำกับการปฏิบัติการพิเศษ บช.ก., สว.กก.ปพ.บก.ป., รอง ผกก.ปพ.บก.ป., ผกก.ปพ.บก.ป., รอง ผบก.ป., ผบก.บก.ตร.มหด.รอ.904 บช.ก., รอง ผบช.ก., ผบช.ก., ผู้ช่วย ผบ.ตร., รอง ผบ.ตร. ได้รับฉายา มือปราบสายธรรมะ และโรโบคอปสายบุญ

จากปาก “บิ๊กเด่น” ล่าสุดคาดว่านัดประชุม ก.ตร.ได้กลางเดือนกันยายน รอให้รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาวันที่ 11 กันยายน ให้จบก่อน คะเนกันว่าน่าจะเป็นวันที่ 14 กันยายน เพื่อแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนที่ 14

สำหรับ “ตัวเต็ง” แม่ทัพสีกากี ผ่านโค้งสุดท้ายมาแล้ว แคนดิเดตอาวุโสอันดับ 4 ยังแรง ถ้าไล่ดูจากการแต่งตั้งสีเขียว ว่ากันว่ามีสัญญาณกระชับอำนาจ เพราะฉะนั้นน่าจะส่งถึงสีกากีด้วย

อีกทั้งผู้มีอำนาจใหม่ต้องคำนึงถึงอนาคตตัวประกันที่ป่วยอยู่ด้วย  แน่นอนถ้านายกรัฐมนตรีเสนอชื่อนี้มาต้องอธิบายคุณสมบัติต่อที่ประชุม ก.ตร.ให้ได้เป็นไปตามสเปกกฎหมายตำรวจใหม่อย่างไร

งานนี้ที่ประชุม ก.ตร.น่าจะดีเบต โดยยกกรณี พล.ต.ต.วันไชย เอกพรพิชญ์ รอง ผบช.ภ.8 ยศขณะนั้นไม่ได้รับพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง จนต้องร้องศาลปกครอง ในที่สุดต้องแต่งตั้งเป็นจเรตำรวจ (สบ8) เป็นอุทาหรณ์

ดังนั้น ด้วยเงื่อนไขทั้งปวง ถ้าไม่สามารถเลือกอาวุโสอันดับ 1 ต้องมีข้อแลกเปลี่ยนเยียวยาให้เก้าอี้ใกล้เคียงสมน้ำสมเนื้อกัน ตัดปัญหาการฟ้องในอนาคต

ที่สำคัญ ถ้าไม่อาวุโสสูงสุดต้องฝ่าด่านอรหันต์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิจากเลือกตั้ง ที่มุ่งหวังจะให้เกิดธรรมาภิบาลสู่การปฏิรูป ตามสัญญาให้ไว้กับผู้ที่ลงคะแนนเสียง

จึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ของนายกฯคนที่ 30 และพรรคเพื่อไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image