สดร.เผย ดาราศาสตร์ไทย ไม่อายใครในโลก นักวิจัยค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบ ดวงใหม่ ไม่น้อยกว่า 12 ดวง ชี้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเชื่อ จักรวาลนี้ไม่ได้มีแต่เรา
กรณี ที่นักวิทยาศาสตร์ของเม็กซิโก อ้างกับรัฐสภา ว่า ค้นพบมัมมี่ของมนุษย์ต่างดาว และเปิดเผยต่อรัฐสภา กลายเป็นข่าวฮือฮาทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ต่อมา คณะนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐ นำโดยบิล เนลสัน ผู้อำนวยการนาซา ร่วมแถลงข้อมูลผลการศึกษาเรื่องเกี่ยวกับ UAP (unidentified anomalous phenomenon) หรือ ปรากฏการณ์ผิดปกติที่ไม่สามารถระบุได้ โดย คณะวิจัยบอกว่า ยังไม่พบหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าวัตถุเหล่านี้มีต้นกำเนิดจากนอกโลกนั้น
วันที่ 15 กันยายน ดร.มติพล ตั้งมติธรรม นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) ให้สัมภาษณ์ มติชนออนไลน์ ว่า ตนเชื่อว่า นักวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะนักดาราศาสตร์ส่วนใหญ่ทั่วโลกนั้น มีความเชื่อว่า ในจักรวาลแห่งนี้ ไม่ได้มีเพียงแค่เรา หรือ มนุษย์ในโลกเท่านั้น เพียงแต่เรายังหาไม่เจอ สำหรับเรื่องราว หรือข้ออ้าง ไม่ว่า จะเป็นภาพถ่าย หรือ คลิป หรือชิ้นส่วนต่างๆที่อ้างว่าเป็นมนุษย์ต่างดาวนั้นก็ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะมายืนยันและยอมรับได้
ดร.มติพล กล่าวว่า เกี่ยวกับองค์ความรู้เรื่องดาราศาสตร์ นั้น แม้ว่า ประเทศไทย เพิ่งจะก่อตั้ง สถาบันวิจัยดาราศาสตร์มาเพียงแค่ 14 ปี ซึ่งถือว่าเด็กมาก หากเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ แต่ในแง่ การศึกษา การทำงาน รวมไปถึงการค้นพบต่างๆแล้ว เมื่อไปคุยกับนานาประเทศ ประเทศไทยเราก็ไม่เคยอับอายประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักดาราศาสตร์ไทยเองเป็นผู้ค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงใหม่ ด้วยตัวเอง ไม่น้อยกว่า 12 ดวงด้วยกัน ไม่นับรวมที่ค้นพบร่วมกับนักดาราศาสตร์ชาติอื่นๆ จากทั้งหมดปัจจุบันที่มีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะมากกว่า 5,000 ดวง
เมื่อถามว่า ตัวเลข ที่ นักวิจัย สดร.พบว่า โลก มีโอกาสถูกตรวจพบจากมนุษย์ต่างดาว 14 ครั้งต่อปี นั้นถือว่า มากหรือน้อยแค่ไหนเพียงใด ดร.มติพล กล่าวว่า เหมือนงานวิจัยที่ ดร.ศุภชัย อาวิพันธุ์ นักวิจัย กลุ่มวิจัยดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ และชีวดาราศาสตร์ สดร. ระบุเอาไว้ ว่า ก่อนที่จะเจอสิ่งมีชีวิต ที่เป็น สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลก นั้น จะต้องค้นพบ ดาวเคราะห์ที่เอื้อโอกาสให้สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ สามารถอยู่ได้ก่อน การค้นพบดาวเคราะห์เหล่านี้ ส่วนใหญ่จะถูกค้นพบด้วยเทคนิค “การผ่านหน้า” (Transit) แต่สำหรับการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่มีขนาดเล็กคล้ายโลก การค้นหาด้วยเทคนิค “ไมโครเลนส์” (Microlensing) สามารถทำได้ดีกว่าเทคนิคการผ่านหน้า เทคนิคไมโครเลนส์อาศัยแสงจากดาวฤกษ์พื้นหลังที่เกิดการบิดโค้งคล้ายเลนส์นูนเนื่องจากสนามโน้มถ่วงของดาวฤกษ์ และดาวเคราะห์ที่อยู่ระหว่างกลางในแนวเล็งเดียวกัน ทำให้แสงของดาวพื้นหลังมีความสว่างมากขึ้นในขณะหนึ่ง
“แต่ในทางกลับกันถ้าเราสมมุติให้สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลก มีเทคโนโลยีในรูปแบบเดียวกันกับที่มนุษย์มีในปัจจุบัน เทคนิคไมโครเลนส์ก็จะถือว่าเป็นเทคนิคที่ดีที่สุดที่ สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญา จะใช้ในการค้นพบโลกของเราได้ เมื่อสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลก ได้ค้นพบโลกของเราแล้ว สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลก เหล่านั้นก็จะพยายามส่งสัญญาณวิทยุมายังโลกของเราเพื่อติดต่อกับมนุษย์บนโลกเช่นกัน ดาวฤกษ์บริเวณระนาบกาแล็กซีทางช้างเผือกมีโอกาสที่จะถูกตรวจพบโลกมากกว่าบริเวณอื่นบนท้องฟ้า เมื่อรวมอัตราการถูกตรวจพบทั่วทั้งท้องฟ้าแล้วพบว่า โลกมีโอกาสถูกตรวจพบจากมนุษย์ต่างดาวเพียงแค่ 14 ครั้งต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนดาวฤกษ์ในกาแล็กซีทางช้างเผือกที่มีมากกว่า 4 แสนล้านดวง”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘นาซา’ เผยยังไม่พบหลักฐานยืนยันว่า UFO-มนุษย์ต่างดาว มาจากนอกโลก แต่ก็ไม่พร้อมปฏิเสธ
นักวิจัยสดร. เผยผลวิจัย โลกมีโอกาส ถูกตรวจพบจากมนุษย์ต่างดาว 14 ครั้งต่อปี
ภาพ จากเฟซบุ๊ก มติพล ตั้งมติธรรม