สมเด็จธงชัย เบิกเนตรอนุสาวรีย์ ‘บรูซ แกสตัน’ ตระหง่านโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง

สมเด็จธงชัย เบิกเนตรอนุสาวรีย์ ‘บรูซ แกสตัน’ ตระหง่านโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ที่โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง สาขาพระราม 3 เขตยานนาวา กรุงเทพฯ มีการจัดพิธีเบิกเนตรอนุสาวรีย์ ‘บรูซ แกสตัน‘ ศิลปินชื่อดัง หนึ่งในผู้ก่อตั้งวงฟองน้ำ โดยมีสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เป็นประธาน

นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน), นางสาวปานบัว บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารในเครือมติชน เดินทางเข้าร่วม อาทิ นายวรศักดิ์ ประยูรศุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท งานดี จำกัด, นายนฤตย์ เสกธีระ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน, นายสุริวงค์ เอื้อปฏิภาน รองกรรมการผู้จัดการระบบสื่อออนไลน์ บมจ.มติชน และบรรณาธิการ นสพ.ข่าวสด, นายสุลักษณ์ บุนปาน บรรณาธิการบริหารนิตยสารศิลปวัฒนธรรม โดยมีนายเสถียร เสถียรธรรมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับ

Advertisement

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศเมื่อเวลาราว 14.00 น. วงฟองน้ำบรรเลงปี่พาทย์โหมโรง บุคคลต่างๆ ทยอยเดินทางเข้าร่วม อาทิ นายพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, ผศ.สารภี แกสตัน ภรรยาอาจารย์บรูซ แกสตัน, นายธีโอดอร์ แกสตัน ศิลปินวงฟลัวร์ บุตรชาย, และนายสมศิลป์ แพทย์คุณ อาจารย์วิทยาลัยช่างศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป ผู้ปั้นอนุสาวรีย์อาจารย์บรูซ

ต่อมา เมื่อเวลา 14.35 น. สมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี ประกอบพิธีเบิกเนตร โดยเจิมดินสอพองบริเวณหน้าผาก, หน้าอก, แขนของอนุสาวรีย์ รวมถึงฆ้องวงและไม้ตีฆ้องทั้ง 2 ข้าง

จากนั้น มีการแสดง ‘ระบำเทพทอง’ หน้าอนุสาวรีย์ โดยทีมงานโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง

Advertisement

ผศ.สารภี แกสตัน ภรรยาอาจารย์บรูซ แกสตัน กล่าวว่า อนุสาวรีย์นี้คือรูปลักษณ์ที่ทำให้รู้สึกถึงอาจารย์บรูซได้ เป็นสิ่งที่แทนตัวตนจริงๆ การคิดถึงจิตวิญญาณคือเรื่องนามธรรม เมื่อมีอนุสาวรีย์นี้ รู้สึกว่าอาจารย์บรูซยังอยู่ใกล้ๆ เมื่อคิดถึงก็มาหาได้

“อนุสาวรีย์นี้เหมือนเป็นตัวแทนเสียงเพลงที่อาจารย์บรูซเคยเล่นที่นี่เป็นเวลาถึง 22 ปี ท่าทางที่ประติมากรเลือกคืออาจารย์บรูซกำลังยกไม้ตีฆ้อง กำลังจะรัว เหมือนได้ยินเสียงตามมา” ผศ.สารภีกล่าว

ผศ.สารภีกล่าวว่า สิ่งที่อาจารย์บรูซได้ถ่ายทอดความรู้ทางด้านดนตรียังคงอยู่ในตัวลูกศิษย์ โดยมีการพัฒนาต่อยอดต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูบาอาจารย์ทุกคนอยากจะเห็น

นายธีโอดอร์ แกสตัน บุตรชาย กล่าวว่า วินาทีแรกที่เห็นอนุสาวรีย์นี้ ทำให้ตนคิดถึงพ่อ นึกถึงครั้งแรกที่เดินเข้ามายังโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงกับพ่อเมื่อกว่า 20 ปีมาแล้ว ขณะนั้นตนอายุราว 17-18 ปี จำได้ว่าวันนั้นคนเต็มร้านจนต้องแทรกตัวเข้าไป

“ผมได้เห็นพ่อเล่นดนตรีอย่างมีความสุขมาก พอมาเห็นรูปปั้นคุณพ่อในสถานที่นี้ รู้สึกว่าได้ยินเสียงเขาในหูเราขึ้นมา รู้สึกว่าพ่ออยู่ข้างๆ ด้วยทรงผม เสื้อผ้า หน้าตาขณะกำลังเล่นฆ้อง นึกถึงพ่อที่ชอบพูดว่า เซตฆ้องให้หน่อย จะซ้อมเพลงสาธุการ” นายธีโอดอร์กล่าว

(จากซ้าย) ธีโอดอร์ แกสตัน และ ผศ.สารภี แกสตัน

นายธีโอดอร์กล่าวว่า การเลือกอิริยาบถขณะเล่นฆ้องวงมาเป็นอนุสาวรีย์สะท้อนว่ารู้จักพ่อของตนอย่างดี เพราะตำแหน่งของพ่อในวงฟองน้ำคือฆ้องวง ตนขอขอบคุณนายขรรค์ชัย และนายเสถียร ที่ระลึกถึงพ่อ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างมาก

“พ่อเป็นครูที่ยิ่งใหญ่ ไม่เคยหวงวิชา มีลูกศิษย์มากมาย ดีใจที่ยังมีคนเห็นคุณค่า อนุสาวรีย์นี้เหมือนเป็นตัวแทน” นายธีโอดอร์กล่าว

ทั้งนี้ อนุสาวรีย์ดังกล่าวเกิดจากแนวคิดของนายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเพื่อนกับอาจารย์บรูซ แกสตัน และนายเสถียร เสถียรธรรมะ มาอย่างยาวนาน เมื่ออาจารย์บรูซ เสียชีวิตเมื่อ พ.ศ.2564 จึงมอบหมายให้นายสุลักษณ์ บุนปาน บรรณาธิการบริหารนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ดำเนินการจัดหาประติมากรดำเนินการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อระลึกถึงอาจารย์บรูซและมอบให้นายเสถียร โดยมีการติดตั้งบริเวณทางเข้าโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง สาขาพระราม 3 ซึ่งเป็นสาขาแรกที่อาจารย์บรูซและวงฟองน้ำเล่นดนตรีต่อเนื่องถึงกว่า 20 ปี จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของโรงเบียร์

สำหรับอนุสาวรีย์ดังกล่าว หล่อด้วยสัมฤทธิ์ ขนาดเท่าตัวจริง ในท่วงท่าขณะเล่นฆ้องวง ดำเนินการแล้วเสร็จและติดตั้งเมื่อต้นปี 2566

อ่านสกู๊ปประชาชื่น : ด้วยรักและระลึกถึง บรูซ แกสตัน ‘ศิลปินคนหนึ่งที่ควรมีอนุสาวรีย์’

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image