เปิด 10 ข้อเรียกร้อง ผู้ใช้แรงงาน นัดรวมพล 1 พ.ค.ยกทัพยื่นรัฐบาล ‘วันเมย์เดย์’

เปิด 10 ข้อเรียกร้อง ผู้ใช้แรงงาน ขอสิทธิรวมตัว เจรจาต่อรอง ปรับฐานบำนาญ ลดหย่อนภาษีเงินก้อนสุดท้าย

เมื่อวันที่ 30 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการจัดกิจกรรมเนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2567 ซึ่งมีกำหนดจัดในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ล่าสุดกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้เตรียมยื่น 10 ข้อเรียกร้อง วันแรงงานแห่งชาติ พ.ศ.2567 ต่อรัฐบาล ประกอบด้วย

1.รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง

2.ให้รัฐบาลตราพระราชบัญญัติ หรือประกาศเป็นกฎกระทรวงให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง “เพื่อเป็นหลักประกัน” ในการทำงานของลูกจ้าง

Advertisement

3.ให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม ดังนี้ 3.1 ปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาท 3.2 ในกรณีที่ผู้ประกันตนเกษียณอายุและรับเงินบำนาญแล้ว เมื่อสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ต่อ ให้มีสิทธิรับเงินบำนาญต่อไป 3.3 เมื่อผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพแล้ว ขอให้คงสิทธิรักษาพยาบาลได้ตลอดชีวิต 3.4 กรณีผู้ประกันตนเข้ารับการรักษาพยาบาลเกี่ยวกับโรคร้ายแรงและเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็งทุกชนิด ฯลฯ ให้ครอบคลุมถึงการใช้ยารักษาพยาบาลตามที่แพทย์แนะนำ 3.5 ในกรณีผู้ประกันตนพ้นสภาพจากมาตรา 33 และประกันตนต่อ มาตรา 39 การคำนวณเงินค่าจ้างเดิม 60 เดือน เป็นค่าตอบแทนต่างๆ ขอให้ใช้ฐานค่าจ้างจากมาตรา 33 3.6 ขยายอายุผู้ประกันตนจาก 15-60 ปี ขยายอายุเป็น 15-70 ปี เพื่อให้เข้ากับสังคมผู้สูงอายุ 3.7 ในกรณีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพื่อสร้างแรงจูงใจและลดความเหลื่อมล้ำ ให้รวมทางเลือกที่ 1 และทางเลือกที่ 2 เป็นทางเลือกเดียวกัน

4.ขอให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) จัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อผู้ใช้แรงงาน

5.ให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) ใช้มาตรการอย่างเคร่งครัด ให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1

Advertisement

6.ขอให้รัฐบาลเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปในแนวทางการจัดระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณอายุให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้มีระบบสวัสดิการ จากรัฐเทียบเคียงกับข้าราชการบำนาญ และลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33 รวมถึงให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้ จากค่าตอบแทนความชอบด้วยหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการลดหย่อนเงินได้ก้อนสุดท้าย หรือลดหย่อนเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างเอกชนได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง 6.1 ขอให้ปรับเพิ่มเงินเดือนของพนักงานและลูกจ้างในรัฐวิสาหกิจ ให้มากกว่าเงินเดือนข้าราชการตามหลักการเดิมเนื่องจากรัฐวิสาหกิจไม่มีระบบบำนาญและการรักษาพยาบาลหลังการเกษียณอายุเช่นเดียวกับข้าราชการ 6.2 ขอให้รัฐบาลลดหย่อนภาษีเงินได้ก้อนสุดท้าย จำนวน 1 ล้านบาท ที่ลูกจ้างออกจากงานทุกกรณี

7.ให้รัฐบาลเพิ่มหลักประกันความมั่นคงให้กับลูกจ้าง โดยเร่งดำเนินการให้ พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติมีผลใช้บังคับโดยเร็ว

8.ขอให้รัฐบาลยกระดับกองความปลอดภัยแรงงานขึ้นเป็น “กรมความปลอดภัยแรงงาน”

9.เมื่อลูกจ้างบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือประสบอันตราย เนื่องจากการทำงานให้กับนายจ้าง ลูกจ้างที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล หากมีค่ารักษาพยาบาลเกินวงเงินที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ให้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินให้กับลูกจ้างจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาล

10.ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติปี พ.ศ.2567 และจัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามผลทุก 2 เดือน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image